ตัวแทนพยาบาลวิชาชีพพ้อ! ปฏิบัติงานสู้โควิดในพื้นที่ จนบางคนติดเชื้อเสียชีวิต ร้องผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข-สภาการพยาบาล ช่วยสิทธิสวัสดิการสร้างขวัญกำลังใจเฉกเช่น “ทหาร-ตำรวจ” เหตุพยาบาลปฏิบัติงานในกระทรวงฯร่วม 2 แสน ทำงานดูแลผู้ป่วยโควิดตลอด ไม่แตกต่างวิชาชีพอื่น ขอเพียงหลักประกันที่เพียงพอไปถึงคนข้างหลัง และครอบครัว
ตามที่มีการนำเสนอข่าวบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานด่านหน้า ดูแลผู้ป่วยโควิด หรือบุคลกรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด พบว่า มีการติดเชื้อจำนวนหนึ่ง และจำนวนหนึ่งเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่นั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2564 นายมานพ ผสม ตัวแทนพยาบาลวิชาชีพผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว “Hfocus” กรณีดังกล่าว ว่า ปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกวิชาชีพ ทุกสายงานต่างต้องมาทำงานเพื่อช่วยเหลือในสถานการณ์โรคโควิดระบาดหนักกันทุกคน อย่างในส่วนของพยาบาลก็ไม่แตกต่างกัน ซึ่งในกระทรวงสาธารณสุข มีพยาบาลปฏิบัติงานกว่า 190,000 คน เรียกได้ว่า พยาบาลมีสัดส่วนมากที่สุดในสายงานต่างๆ โดยทุกคนต่างต้องละจากงานหลักมาเสริมทัพช่วยกู้วิกฤตครั้งนี้ บางวอร์ดต้องยุบเพื่อมาทำงานโควิดแทน เรียกว่าช่วยกันหมดทุกพื้นที่ ตั้งแต่ระดับตำบล หมู่บ้าน ไปจนถึงภาพใหญ่ทั้งจังหวัด
“ปัญหา คือ การทำงานต่างๆเหล่านี้ พยาบาลก็พร้อมทำ พร้อมรับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขมาตลอด แต่เราขอแค่การดูแลพวกเราด้วยสิทธิสวัสดิการที่มากกว่าที่เป็นอยู่ได้หรือไม่ อย่างทหาร ตำรวจ เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ยังได้รับการดูแลจนถึงครอบครัว แต่พวกเรา ณ ตอนนี้มีเพียงระเบียบที่ไม่ได้ตอบสนองต่อสถานการณ์โควิด เราขอร้องขอให้ทางผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งสภาการพยาบาล ที่มีหน้าที่ดูแลสิทธิสวัสดิการพวกเรา ขอให้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพราะเมื่อเราไปทำงาน หากเราพลาดเราเสียชีวิต เราก็สบายใจที่คนข้างหลังได้รับการดูแล และขอย้ำว่า การมาเรียกร้องไม่มีใครอยากเสียชีวิต แต่แค่อยากมีหลักประกันที่เพียงพอให้กับตัวเอง และคนข้างหลัง” ตัวแทนพยาบาลฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าสิทธิสวัสดิการในการดูแล ณ ขณะนี้เป็นอย่างไร นายมานพ กล่าวว่า สวัสดิการที่เป็นอยู่ ณ ตอนนี้ หากเราไปดูแลแล้วติดเชื้อ และเสียชีวิต ซึ่งมีหลายรายแล้วก็จะได้รับการช่วยเหลือตามระเบียบของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นระเบียบที่ออกมาเมื่อตอนที่เคยเกิดปัญหา การส่งผู้ป่วยฉุกเฉินในรถรีเฟอร์ ที่ขณะนั้นเมื่อประสบอุบัติเหตุแต่กฎหมายรองรับแค่ผู้ป่วย เพราะมีสิทธิของระบบหลักประกันสุขภาพ แต่ขอบบุคลากร ณ ตอนนั้น ไม่มี จึงมีการผลักดันและออกระเบียบที่เรียกว่า ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วย การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการสาธารณสุข พ.ศ.2561 ซึ่งขณะนั้นผลักดันโดย นพ.โสภณ เมฆธน เป็นปลัดกรทรวงสาธารณสุข แต่ด้วยขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปจึงอยากขอให้ทางผู้บริหารกระทรวงฯ พิจารณาปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์
นายมานพ กล่าวอีกว่า ระเบียบการช่วยเหลือเบื้องต้นของพวกเราจะได้เพียงว่า หากเสียชีวิตได้สูงสุดไม่เกิน 4 แสนบาท แต่พวกเราในฐานะเป็นข้าราชการส่วนหนึ่ง เป็นไปได้หรือไม่ที่จะได้รับการดูแลไปจนถึงคนข้างหลัง ครอบครัวพวกเรา
เมื่อถามกรณีรัฐบาลจัดประกันชีวิตของทางเอกชนให้บุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานโควิด นายมานพ กล่าวว่า ประกันเอกชนก็จะมีเงื่อนไข อย่าง 3 เดือน 6 เดือนก็ว่ากันไปแล้วแต่ประกัน แล้วแต่เงื่อนไข สิ้นสุดแล้วก็จบ แต่ตำรวจ ทหาร มีกฎหมายคุ้มครองเลยว่า หากเสียชีวิตในหน้าที่ต้องได้อะไรอย่างไร เป็นไปได้หรือไม่ที่จะมีการรองรับตรงนี้ เพราะปัจจุบันพยาบาลทั่วประเทศทำงานนี้หมด 190,000 พยาบาลสัดส่วนเยอะสุดในกระทรวง เป็นกลุ่มที่อยู่กับคนไข้มากที่สุด เราดูแลคนไข้แทบจะตลอดเวลา
“จริงๆ ข้อเรียกร้องเหล่านี้เราเคยทำหนังสือไปยังสภาการพยาบาล แต่ก็ยังไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ เราอยากให้ทั้งผู้บริหารสภาการพยาบาล และผู้บริหารกระทรวงฯ คิดถึงคนทำงานในพื้นที่ คิดถึงพวกเราบ้าง” ตัวแทนพยาบาลฯ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการช่วยเหลือปัจจุบัน มีระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการสาธารณสุข ที่ได้รับความเสียหายจากการให้บริการสาธารณสุข พ.ศ.2561 ระบุกรณีความเสียหาย หมายความว่า เป็นความเสียหายจากการติดเชื้อ อุบัติเหตุ ถูกทำร้าย หรือจากการส่งต่อผู้ป่วย หรือความเสียหายอื่นๆ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง
โดยอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กำหนด ดังนี้
1.กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพอย่างถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต และมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ตั้งแต่ 240,000 บาท แต่ไม่เกิน 400,000 บาท
2.กรณีสูญเสียอวัยวะ หรือพิการที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ตั้งแต่ 100,000 บาทแต่ไม่เกิน 240,000 บาท
3.กรณีติดเชื้อ หรือกรณีบาดเจ็บจนได้รับอันตรายสาหัส จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ไม่เกิน 100,000 บาท
4.กรณีติดเชื้อ หรือกรณีบาดเจ็บ และได้รับการรักษาไม่เกินยี่สิบวัน จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท
- 247 views