ผู้เชี่ยวชาญโรคระบาดฯ เสนอ 2 ทางเลือก “นายกฯ-ศบค.-ผู้ว่าฯทุกจังหวัด” ลดวิกฤตการระบาด ถึงเวลาปรับยุทธศาสตร์ฉีดวัคซีนโควิด ”ผู้สูงอายุ-ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง” กลุ่มแรก ลดป่วยตายก่อนพุ่งสูง! อาจเสียชีวิตถึง 2.8 พันรายในเดือน ก.ย.

จากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่เตียงไอซียูรองรับผู้ป่วยวิกฤตก็ยังไม่เพียงพอ ประกอบการการฉีดวัคซีนโควิด19 แม้จะเดินหน้าฉีด แต่ก็ยังมีปัญหาที่น่าวิตกถึงจะทันการการระบาดของสายพันธุ์เดลตา(อินเดีย) ที่กำลังเข้ามาแทนที่สายพันธุ์อัลฟา(อังกฤษ) ได้หรือไม่นั้น

เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิผู้เชี่ยวชาญในด้านระบาดวิทยาที่ปรึกษาด้านวิชาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการเสวนา "วัคซีนโควิด ไทยจะเดินต่อไปอย่างไร" ว่า บรรยากาศของประเทศไทยตอนนี้ เหมือนกับเรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ โดยช่วง 3 เดือนจากนี้ คือเดือน ก.ค.-ก.ย.นี้ เรากำลังเลือกเอาว่าเราจะสามารถเปิดประเทศได้หรือเรากำลังก้าวเข้าสู่วิกฤตที่กำลังถลำลึกลงไปอีก

ทั้งนี้ ตนอยากเสนอข้อเท็จจริง   และทางเลือก 2 ทางเลือกที่จะฝ่าวิกฤตรอบนี้ จึงอยากจะขอให้ทุกฝ่ายช่วยคิดตาม ขณะนี้เราอยู่ในระลอก 3 จากสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) ที่ติดต่อได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เราตั้งตัวไม่ทัน เรามีคนไข้เสียชีวิตประมาณ 50 คนต่อวันในขณะนี้ คำถามว่าเดือนหน้า เดือนถัดไป อัตราการเสียชีวิตจะเป็นอย่างไรบ้างผู้เชี่ยวชาญทั้งหมดลงความเห็นตรงกันว่าสถานการณ์จะแย่กว่าเดิมเหตุผลเพราะสายพันธุ์ใหม่หรือสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) เข้ามายึดครองการระบาด ซึ่งข้อมูลของกรุงเทพมหานครตอนนี้อยู่ที่ 40% แล้ว ในไม่ช้าเดือนนี้หรือเดือนหน้าจะเป็นเชื้อเดลตาทั้งหมด ซึ่งสายพันธุ์นี้ มีความสามารถในการแพร่เชื้อเร็วกว่าสายพันธุ์เดิม 1.4 เท่า

"เพราะฉะนั้นคิดง่ายๆ ว่าถ้าเผื่อเดือนมิ.ย. ที่ผ่านมาเรามีคนเสียชีวิตทั้งเดือน 992 คน ซึ่งเป็นภาระใหญ่มาก ถ้าสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้เดือนก.ค.เราจะมีคนเสียชีวิตประมาณ 1,400 คน ส.ค. 2,000 และพอถึงเดือนก.ย.จะมีผู้เสียชีวิตเป็น 2,800 คน ตอนนี้เรามีผู้เสียชีวิต 900 กว่าคนยังทำให้ระบบสาธารณสุขเดินหน้าต่อไปไม่ได้และถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไปก็แน่นอนว่าเราจะไม่สามารถไปรอดได้"นพ.คำนวณ กล่าว

นพ.คำนวณ กล่าวต่อว่า แต่มันมีทางออกคือร้อยละ 80 ของคนที่เสียชีวิตเป็นคนสูงอายุหรือเป็นคนที่มีโรคประจำตัว ถ้าเราสามารถปกป้องคนกลุ่มนี้ได้ ก็จะลดการเสียชีวิตลงได้อย่างมาก และอยู่ในวิสัยที่เราจะแก้ปัญหาได้ จากตัวเลขคนสูงอายุติดเชื้อ 100 คนจะเสียชีวิต 10 คน แต่ถ้าอายุน้อยแต่ติดเชื้อ 1 พันคนจะเสียชีวิต แตกต่างกันมาก เพราะฉะนั้นเรามีอาวุธที่ดีคือวัคซีน เป้าประสงค์แรกเราต้องการลดการเจ็บหนัก ลดการเสียชีวิตก่อน วัคซีนทุกตัวที่องค์การอนามัยโลกขึ้นทะเบียนส่วนใหญ่ได้ผลในการลดอาการหนัก ลดการเสียชีวิตได้ประมาณ 90% ดังนั้นไม่จำเป็นต้องไปสนใจเรื่องยี่ห้อ

ทั้งนี้ ประเทศไทยกำลังใช้ยุทธศาสตร์ที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่คือการฉีดแบบปูพรมให้คนไทยได้วัคซีน 70% โดยหวังว่าถ้าเราทำได้แบบนั้นจริงจะมีการติดเชื้อน้อยลง คนจะเสียชีวิตน้อยลง แต่ปัญหาถ้าเราจะทำอย่างนั้นได้ คือเรามั่นใจหรือไม่ว่า 70% จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ นักวิชาการบางส่วนบอกว่าไม่ได้ เพราะในอังกฤษเริ่มมีคนติดเชื้อเยอะขึ้น เพราะฉะนั้นการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ อาจจะต้องไปถึง 90% และต้องใช้วัคซีนที่ดีมากๆ

แต่ถ้าเราต้องการลดการเสียชีวิตเราสามารถเปลี่ยนยุทธศาสตร์ได้ด้วยการใช้ยุทธศาสตร์แบบมุ่งเป้า ซึ่งเดิมเราใช้ยุทธศาสตร์ 2 ขั้นตอน ระยะแรกคือมุ่งเป้าฉีดคนสูงอายุและกลุ่มเสี่ยงให้จบภายในเดือนก.ค.-ส.ค.แต่ ตอนหลังเนื่องจากเรามีความต้องการเยอะมาก เราต้องการให้ภาคโรงงานไม่เจ็บป่วย เราต้องการควบคุมการระบาด เวลาเกิดการระบาดในชุมชนเราจะไปฉีดวัคซีน เราต้องการเปิดโรงเรียนเราก็เอาวัคซีนไปให้กับสถาบันต่างๆ เราต้องการเปิดแหล่งท่องเที่ยวเอาวัคซีนไปให้ ซึ่งเป็นความคิดที่ดีแต่การจะทำอย่างนั้นได้มีเงื่อนไขสำคัญ คือ 1. เราต้องมีวัคซีนไม่จำกัด มีมากเพียงพอ 2. เรามีขีดความสามารถในการฉีดได้อย่างรวดเร็ว เพราะสปีดการแพร่ระบาดเร็วมาก ตอนนี้ทุกประเทศยอมรับกันหมดว่าไม่มีประเทศไหนที่จะมีวัคซีนไม่จำกัด แม้กระทั่งอเมริกา อังกฤษหรือยุโรปซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนเอง ก็ยอมรับว่าไม่สามารถใช้วิธีการฉีดปูพรม สร้างภูมิฯ หมู่ได้อย่างรวดเร็ว จึงมาใช้การลดการป่วยการเสียชีวิตก่อน

หากสังเกต 1 เดือนที่ผ่านมาขีดความสามารถในการฉีดวัคซีนของไทยไม่ได้เป็นคำถาม เพราะเราฉีดได้ 10 ล้าน คนแต่ใน 10 ล้านคนเมื่อดูแล้วคนสูงอายุได้แค่ 10% ถ้าเราเดินแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆเพิ่มไปได้แค่เดือนละ 10% เราอาจจะต้องใช้เวลา 7-8 เดือนกว่าจะป้องกันคนสูงอายุได้

เพราะฉะนั้นเรามีทางเลือก 2 ทาง คือ

ทางเลือกที่ 1  คือ ทำแบบเดิมจะเห็นผลก็ต่อเมื่ออีก 5-6 เดือนซึ่งจะไม่ทันกับปัญหาวิกฤตของเตียง

ทางเลือกที่ 2  คือ เปลี่ยนเอาวัคซีนที่มีอยู่ในมือ ถ้าเรายอมรับว่าวัคซีนมีอยู่จำกัด และพยายามหามาเดือนละ 10 ล้านโดสนั้น แต่ถ้าเผื่อไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์ เอาวัคซีนที่มีทั้งหมดในมือมาทำความตกลงกันไว้ตั้งแต่นายกรัฐมนตรี ศบค.ผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องวางเป้าหมายแรกลดเจ็บหนักและเสียชีวิตในกลุ่ม ผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงก่อน ซึ่งเรามีกลุ่มนี้ 17.5 ล้านคน ตอนนี้เราฉีดได้ 2.5 ล้านคน อีก 15 ล้านคนเราต้องการฉีดให้จบภายใน 2 เดือน คือ ก.ค.- ส.ค.

หากเราเลือกทางที่ 2 เราจะลดการเสียชีวิตได้ โดยแทนที่จะเป็นหลักพันคนในเดือนก.ค. แต่พอเดือนส.ค. จะเหลือประมาณ 800 คนเดือน ก.ย. จะเหลือประมาณ 600-700 คน หรือวันละประมาณ 20 คนอยู่ในวิสัยที่ระบบสาธารณสุขยังเดินหน้าต่อไปได้ แต่ถ้าเราเดินยุทธศาสตร์เดิมและเราจะมีปัญหามาก วันนี้เราปิดกิจการต่างๆ ปิดแคมป์ แตาจำนวนคนเจ็บจะมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ยิ่งต้องปิดมากขึ้นไปเรื่อยๆ ยิ่งไม่เป็นผลดีเพราะเศรษฐกิจเดินไม่ได้ แต่ถ้าเอาแบบหลังอาจจะไม่จำเป็นต้องปิดมากขึ้นแต่สามารถผ่อนคลายได้ แต่ถ้าต้องการลดคย้สียชีวิตอีกก็ต้องทำเรื่องของเตียงเพิ่ม และค้นหากลุ่มเสี่ยงให้เร็ว

"เพราะฉะนั้นอยากจะสรุปว่าตอนนี้ผู้บริหาร ท่านนายกฯ ท่ายรัฐมนตรี ผู้ว่าราชการจังหวัด เมื่อท่านได้โควต้าวัคซีนไป คำถามคือว่าท่านจะฉีดให้ใครก่อน 2 ทางเลือกหากท่านเลือกทางเลือกแรก หลายจุดมุ่งหมายการคาดการณ์ คือ จำนวนผู้ป่วยจะเกินแล้วเรารับไม่ไหว แต่ถ้าทุกคนเห็นตรงกันว่าเอาวัคซีนให้กับคนสูงอายุ คนมีอายุมีโรคประจำตัวก่อน เรื่องนี้ทางวิชาการมีแล้ว ในอังกฤษ อเมริกาก็ทำ ซึ่งแม้ยังมีจำนวนคนติดเชื้อ แต่คนตายไม่เยอะก็จะไม่มีปัญหาเท่าไร ที่สำคัญ ศบค. สามารถออกคำสั่งให้ผู้ว่าฯดำเนินการ หากไม่มีไกด์ไลน์ชัดเจน ทางผู้ว่าฯก็จะไม่สามารถจัดการได้ แต่หากมีชัดเจน ก็จะทำได้ทันที ” นพ.คำนวณ กล่าวทิ้งท้าย

อ่านข่าวเกี่ยวข้อง

“หมอทวี” เผยข้อแตกต่างวัคซีนซิโนแวค -แอสตร้าเซนเนก้า -วัคซีน mRNA กับสายพันธุ์เดลตา

“หมอนคร” เผยแอสตร้าฯ เข้าไทยไม่ถึงเดือนละ 10 ล้านโดส จำเป็นต้องนำเข้าวัคซีนชนิดอื่น