ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขแจงกรณี "ยาไอเวอร์เม็กติน" หลังโซเชียลแชร์รักษาโควิด 19 ชี้เป็นยาฆ่าพยาธิ มีการศึกษาช่วยยับยั้งโควิด 19 และเสริมฤทธิ์กับยาฟาวิพิราเวียร์ในหลอดทดลอง ข้อมูลวิจัยทางคลินิกยังไม่เพียงพอ กรมการแพทย์และ รพ.ศิริราชกำลังศึกษาในผู้ป่วยเพิ่มเติม

วันที่ 30 มิ.ย. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวกรณีการแชร์ข้อมูลวิจัย "ยาไอเวอร์เม็กติน" กับผู้ป่วยโควิด 19 ลดการเสียชีวิต ว่า ยาไอเวอร์เม็กตินได้รับการยอมรับในการใช้ฆ่าพยาธิ ทั้งจากองค์การอนามัยโลก และ อย.สหรัฐ แต่มีการนำมาทดลองพบว่า หยุดยั้งการเจริญเติบโตของไวรัสทั้ง RNA และ DNA รวมไวรัสโควิด 19 ในระดับหลอดทดลอง แต่ไม่ได้หมายความว่าการใช้ในคนจะสำเร็จ ส่วนกรณีข้อมูลงานวิจัยที่แชร์กันว่าลดการเสียชีวิตผู้ป่วยโควิด 19 นั้น พบว่า เป็นการรวบรวมงานวิจัยการใช้ยาไอเวอร์เม็กตินกับผู้ป่วยโควิด 19 ทั่วโลก 20-30 รายงานมาวิเคราะห์ผล แต่งานวิจัยที่รวบรวมมานั้นมีการออกแบบการศึกษาแตกต่างกัน เช่น ใช้โดสยาต่างกัน หรือมีการใช้ร่วมกับยาตัวอื่น ทำให้ส่งผลต่อการวิเคราะห์ผลว่าเป็นเพราะยาไอเวอร์เม็กตินจริงๆ หรือไม่ ผู้ทบทวนจึงสรุปว่าอาจลดอัตราการเสียชีวิตลง

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า ระบบการรักษาโควิด 19 ของประเทศไทย มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากโรงเรียนแพทย์ เช่น ศิริราช รามาธิบดี จุฬาลงกรณ์ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย และ รพ.ของกรมการแพทย์ มาหารืออัปเดตองค์ความรู้การรักษาและดูหลักฐานเชิงประจักษ์ต่างๆ เพื่อทำแนวทางการรักษาเหมือนกับโรคอื่นๆ มีการอัปเดตทุกเดือน ล่าสุดคือฉบับที่ 15 จัดทำออกมาเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการระบุในหมายเหตุถึงยาไอเวอร์เม็กตินว่า มีข้อมูลการศึกษาในหลอดทดลองเบื้องต้นว่า ยาไอเวอร์เม็กตินเสริมฤทธิ์กับยาฟาวิพิราเวียร์ แต่ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาวิจัยทางคลินิก หลักฐานเชิงประจักษ์ยังไม่เพียงพอ ยังไม่ใช่การรักษามาตรฐาน แต่ไม่ได้ห้ามใช้ การใช้ยาขอให้เป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์

"ข้อมูลทางวิชาการยังไม่ชัดและขัดแย้งกันอยู่ มีทั้งรายงานที่ใช้แล้วได้มีประโยชน์ บางรายงานพบว่ามีโทษ หรืออาจทำให้แย่ลง จึงยังสรุปไม่ได้ชัดเจน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ที่ปรึกษา ศบค. จึงมีมติให้กรมการแพทย์ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและเร่งศึกษาในประเทศไทย กรมการแพทย์จึงหารือกับ รพ.ศิริราช จะทำการศึกษายาไอเวอร์เม็กตินในผู้ป่วยโควิด 19 ให้เสร็จใน 3-4 เดือน" นพ.สมศักดิ์กล่าว

นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า การศึกษาเป็นแบบ Real World Study ต้องศึกษาในคนจำนวนมากอาจต้องเป็นหลักพันคนขึ้นไปก็จะมีความน่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ ก็จะศึกษาผู้ป่วยในพื้นที่ กทม. โดยแบ่งกลุ่มที่รับยาตามแนวทางรักษามาตรฐานร่วมกับยาไอเวอร์เม็กติน และกลุ่มที่รับยาตามมาตรฐานอย่างเดียว อย่างไรก็ตาม ปกติการใช้ยาไอเวอร์เม็กตินรักษาพยาธิจะให้ยา 2 เม็ด เป็นเวลา 2 วัน แต่การนำมาใช้กับโควิดต้องใช้นานกว่านั้น ซึ่งผลระยะยาวแม้มีคนบอกว่ายานี้ค่อนข้างปลอดภัย แต่มีรายงานว่าอาจมีปัญหาเรื่องตับได้ ส่วนที่มีคนอ้างว่าอินเดียเคยใช้ จริงๆ แล้วเคยใช้อยู่พักหนึ่ง และรัฐบาลอินเดียประกาศเลิกใช้แล้ว เนื่องจากข้อมูลยังไม่ชัดเจน จึงขอให้หยุดใช้จนกว่าจะมีหลักฐานชัดเจน