กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยข้อมูลสายพันธุ์โควิด19 ภาพรวมเดลตา(อินเดีย) เพิ่มสูงขึ้น! สัปดาห์เดียวเดลตา16.59% มากสุด คือ กรุงเทพมหานครพบ 1 ใน 3 ขณะที่ภูมิภาคเดลตาไม่มาก คาดการณ์ไม่เกิน 2-3 เดือนเดลตาแทนอัลฟา ส่วนเบตา(แอฟริกาใต้) พบกทม. 1 รายเชื่อมโยงลูกเดินทางจากนราธิวาสมาเยี่ยมพ่อที่กรุงเทพฯ
เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 28 มิ.ย. 2564 ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าว "การเฝ้าระวังการกลายพันธุ์เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด 19 ในประเทศไทย” ว่า จำนวนผู้ติดเชื้อที่พบจำแนกตามสายพันธุ์สำคัญนั้น พบว่าภาพรวมสัปดาห์นี้ ตั้งแต่ 21-27 มิ.ย.64 สายพันธุ์อัลฟา B.1.1.7 (อังกฤษ) จำนวน 2,218 ราย ขณะที่เม.ย.-20 มิ.ย. 2564 พบ 5,641 ราย รวมจำนวน 7,859 ราย คิดเป็น 86.31% ส่วนสายพันธุ์เดลตา B.1.617 (อินเดีย) ตั้งแต่ 21-27 มิ.ย.64 พบ 459 ราย ขณะที่เม.ย.-20 มิ.ย. พบ 661 ราย รวม 1,120 ราย คิดเป็น 12.30% ส่วนสายพันธุ์เบตา B.1.351 (แอฟริกาใต้) ข้อมูล 21.27 มิ.ย. พบ 89 ราย จากตั้งแต่เม.ย.-20 มิ.ย.พบ 38 ราย ภาพรวม 127 ราย คิดเป็น 1.39%
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาสัดส่วนสายพันธุ์ที่เฝ้าระวังสะสมภาพรวมของประเทศ แบ่งเป็น 3 ช่วง ตั้งแต่เม.ย.-13 มิ.ย. พบอัลฟา 89.63% สายพันธุ์เดลตา 9.76% และเบตาพบ 0.61% ขณะที่ข้อมูลตั้งแต่เม.ย.-20 มิ.ย. พบอัลฟา 88.97% สายพันธุ์เดลตา 10.43% และเบตาพบ 0.60% และตั้งแต่ เม.ย.-27 มิ.ย.พบอัลฟา 86.31% สายพันธุ์เดลตา 12.30% และเบตาพบ 1.39% สัปดาห์นี้เบตาเพิ่มเยอ แต่อยู่ในพื้นที่จ.นราธิวาส
ทั้งนี้ เมื่อแยกพื้นที่กรุงเทพมหานคร กับภูมิภาค จะเห็นตัวเลขภาพรวมว่า สายพันธุ์เดลตาเพิ่มขึ้น ตั้งแต่เม.ย.-13 มิ.ย.พบ 23.67% ส่วนข้อมูลเม.ย.-20 มิ.ย.พบ 22.51% และเม.ย.-27 มิ.ย.พบ 25.66% ขณะที่ภูมิภาคพบเดลตา ตั้งแต่เม.ย.-13 มิ.ย.พบ 2.58% ส่วนข้อมูลเม.ย.-20 มิ.ย.พบ 4.09 % และเม.ย.-27 มิ.ย.พบ 5.05% ตัวเลขดังกล่าวทำให้เห็นว่า ในต่างจังหวัด 90กว่า% ยังเป็นอัลฟา แต่กรุงเทพฯ เดลตาจะเพิ่มขึ้นมากกว่า
“หากพิจารณาเพียงสัปดาห์เดียวที่ผ่านมา คือ ระหว่างวันที่ 21-27 มิ.ย. 64 จากตัวอย่าง 2,766 ตัวอย่างภาพรวมทั้งประเทศ พบสายพันธุ์เดลตา 16.59% ซึ่งเพิ่มเยอะที่สุดคือ กรุงเทพมหานคร ประมาณ 1 ใน 3 เป็นสายพันธุ์เดลตาถึง 32.39% ขณะที่ภูมิภาคเดลตาอยู่ที่ 7.34% ดังนั้น หากเลตเป็นแบบนี้คาดว่า 2-3 เดือนสายพันธุ์เดลตาในเขตกรุงเทพมหานครจะมากกว่าสายพันธุ์อัลฟา ซึ่งเราจะติดตามข้อมูลไปเรื่อยๆ สรุปคือ เราคาดว่าไม่เกิน 2 เดือน เดลตาจะมาแทนอัลฟา” นพ.ศุภกิจกล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า สำหรับสายพันธุ์เดลตา ในสัปดาห์นี้มีเพิ่มที่พะเยา 1 ราย เพชรบูรณ์ 1 ราย อุตรดิตถ์ 4 ราย อุทัยธานี 2 ราย นครสวรรค์ 11 ราย พระนครศรีอยุธยา 7 ชลบุรี 1 ราย ขอนแก่น 3 ราย ร้อยเอ็ด 3 มหาสารคาม 1 ราย กาฬสินธุ์ 6 ราย อุดรธานีเพิ่มอีก 23 ราย สกลนครเพิ่ม 22 ราย นครพนม 3 ราย บึงกาฬ 4 ราย เลย 20 ราย หนองคาย 2 ราย หนองบัวลำภู 12 ราย จะเห็นว่าเขตสุขภาพ 8 มีเกือบทุกจังหวัด และส่วนใหญ่ได้ข้อมูลว่า ไปจากกรุงเทพฯ เป็นการเดินทางกลับบ้าน แคมปคนงานก็อาจจะมี ซึ่งขณะนี้รัฐก็เข้าไปดูแล โฟกัสที่แคมป์ก่อสร้าง เพราะข้อมูลมีการแพร่ของเดลตา
“น่าสังเกตว่า เดลตาเดิมไม่มีในภาคใต้ แต่วันนี้พบนราธิวาส 2 ราย จากการสอบข้อมูลเป็นคนข้ามมาจากรัฐเคดาห์ ส่วนกรุงเทพฯ เพิ่มมากสุด 331 ราย ส่วนใหญ่แคมป์คนงานเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ๆ จะเจอสายพันธุ์นี้ด้วย ทำให้ทั้งสัปดาห์เพิ่ม 459 ราย” อธิบดีฯ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ส่วนสายพันธุ์เบตา หรือแอฟริกาใต้ สัปดาห์นี้พบถึง 89 ราย โดยที่สุราฏร์ธานี 1 ราย แต่ยังรอยืนยันอีก 2 ราย นราธิวาส 84 ราย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เคยระบาดเดิมมาก่อน ยะลา 2 ราย พัทลุง 1 ราย กรณีนี้สัมพันธ์กับโรงเรียน ส่วนกรุงเทพมหานครมี 1 ราย ซึ่งพบตั้งแต่วันพุธที่ 23 มิ.ย. แต่รอคอนเฟิร์มประมาณ 2 วัน อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ไม่ได้มีต้นตอพบเชื้อที่กรุงเทพฯเอง ซึ่งสอบสวนโรคพบสายสัมพันธ์ชัดเจน คือ เป็นคนงานในตลาดแห่งหนึ่ง ซึ่งลูกเดินทางมาจากนราธิวาส ตอนนั้นยังไม่มีอาการมาเยี่ยมพ่อแม่ เมื่อกลับไปแล้วไม่สบายก็ตรวจเชื้อ ทางกรมฯ จึงมาตรวจเชื้อพ่อที่กรุงเทพฯ เป็นบวก ขณะนี้อยู่ในความดูแลแล้ว
“ส่วนญาติอีก 2 คนกำลังตรวจสายพันธุ์อยู่ ส่วนเพื่อนร่วมงาน ที่อยู่ที่เดียวกัน 6-7 คนปรากฏว่าไม่มี สันนิษฐานว่า รายนี้น่าจะติดจากลูกชายที่มาเยี่ยม ดังนั้น เมื่อรายเดียวเราอาจจะล็อกอยู่ แต่ต้องเรียนว่า เราไม่ได้ห้ามการเดินทางของผู้คนในประเทศ ทำให้มีโอกาส ด้วยข้อเท็จจริงของสายพันธุ์เบตา อำนาจแพร่กระจายไม่ค่อยมาก ยกเว้นอยู่ใกล้ชิดกันจริงๆ มีคลัสเตอร์เยอะ ที่น่าห่วงคือ อินเดียมีสัดส่วนมากขึ้น” นพ.ศุภกิจ กล่าว
อ่านข่าวเกี่ยวข้อง : กรมวิทย์เผยฉีดวัคซีนซิโนแวค ครบ 2 เข็มมากกว่า 14 วันที่ภูเก็ตป้องกันได้ 90.7% ข้อมูล คร.พบ 70.9%
- 7 views