กรมควบคุมโรค ห่วงมีการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามจังหวัด หลังประกาศปิดแคมป์คนงาน และประกาศให้พื้นที่ 10 จังหวัด ทั้งกทม. ปริมณฑล และ 4 จ.ภาคใต้  ขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเฝ้าระวัง ค้นหา ติดตามการเดินทางเข้าออกในทุกหมู่บ้าน พร้อมย้ำ 8 มาตรการเข้ม!!

 

วันที่ 27 มิ.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังสถานการณ์การแพร่ระบาดของกรมควบคุมโรค พบว่า ในกรุงเทพฯ มีแรงงานติดเชื้อโควิด 19 เป็นจำนวนมาก และพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในหลายพื้นที่ของปริมณฑล อีกทั้งใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงมีการประกาศการใช้มาตรการควบคุมและชะลอการระบาดของโรคโควิด 19 อย่างน้อยเป็นเวลา 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 64 

 

ทั้งนี้ การปิดแคมป์คนงาน อาจทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของแรงงานหรือการเดินทางของประชาชนเพื่อกลับภูมิลำเนา นั้น กรมควบคุมโรค ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ จึงได้ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ให้ตั้งทีมค้นหา เฝ้าระวัง และป้องกันโรคในทุกอำเภอ หมู่บ้าน เพื่อสำรวจจัดทำฐานข้อมูลผู้เดินทางกลับภูมิลำเนา พร้อมให้ความรู้ในการแยกตัวสังเกตอาการ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้อื่นและอยู่ในที่พักจนครบ 14 วัน

 

ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) มีผลตั้งแต่ วันที่ 28 มิถุนายน 2564 โดยสรุปมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ดังนี้  1.สกัดกั้นการระบาดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล คือ จังหวัดนครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และ 4 จังหวัดภาคใต้ คือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา  2.ควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานก่อสร้าง และปฏิบัติการตามมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and Seal) ในสถานประกอบการและโรงงาน     ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล  

 

3. เพิ่มมาตรการให้เข้มงวดขึ้น คือ  1) งดการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ร้าน  2) ห้างสรรพสินค้าเปิดได้ถึงเวลา 21.00 น. เท่านั้น  3) โรงแรม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุมเปิดได้ แต่ให้งดกิจกรรมการประชุม การสัมมนาและการจัดเลี้ยง  4) ห้ามรวมกลุ่มมากกว่า 20 คน  4.เมื่อพบการระบาดกลุ่มก้อนให้พิจารณาปิดชุมชนหรือจำกัดการเคลื่อนย้าย  5.ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผู้ด้อยโอกาส ผู้สูงอายุ และบุคคลอื่นตามความเหมาะสม  

 

6.ให้เจ้าหน้าที่ตั้งจุดตรวจ หรือจุดสกัดเพื่อคัดกรองการเดินทาง ควบคุมการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามจังหวัดอย่างเข้มงวด  7.ให้เจ้าพนักงานเข้มงวด มิให้มีการลักลอบหรือรวมกลุ่มมั่วสุม เล่นการพนัน เสพยาเสพติด รวมกลุ่มแข่งรถ หรือการฝ่าฝืนเปิดสถานบริการในพื้นที่ที่มีข้อกำหนด และให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อเตรียมพร้อมในการรับแจ้งเบาะแส เหตุฉุกเฉินจากประชาชน  

 

8.ใช้มาตรการ Work Form Home เพื่อลดการเดินทางและการสัมผัสระหว่างบุคคล โดยให้ดำเนินการทั้งหมดในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดอย่างน้อย 30 วัน 

นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอความร่วมมือทุกจังหวัดปฏิบัติตามแนวทางที่ ศบค. กำหนด ตั้งแต่ตรวจ คัดกรอง เตรียมมาตรการเฝ้าระวัง ติดตาม การเข้าออกจากจังหวัด หากพบผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ให้ดำเนินการคุมไว้สังเกตอาการ แยกกัก หรือกักกันในพื้นที่พำนักหรือสถานที่ที่ราชการกำหนด 

 

ทั้งนี้ ขอให้ผู้ประกอบการงดการเคลื่อนย้ายแรงงานออกจากพื้นที่ และหากแรงงานมีความจำเป็นต้องกลับภูมิลำเนา ขอให้สังเกตอาการตนเองก่อนการเดินทาง หากมีไข้ มีอาการทางเดินหายใจ ขอให้งดเดินทาง ควรอยู่ในที่พักและสังเกตอาการ หากอาการ  ไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อโควิด 19 ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ระหว่างการเดินทางไม่ควรแวะพักหากไม่จำเป็น  เมื่อถึงจังหวัดปลายทางขอให้รายงานตัวต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ 

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พร้อมสนับสนุนการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 โดยการปฏิบัติงานคัดกรองเชิงรุก เร่งค้นหาผู้ติดเชื้อเพื่อจำแนก จำกัดขอบเขตการแพร่ระบาดของโรค 

 

และเร่งกระจายวัคซีนไปยังพื้นที่ต่างๆ ตามแผนกระจายวัคซีนของ ศบค. ซึ่งขณะนี้มีผู้ได้รับวัคซีนแล้วจำนวน 9,055,141 โดส (ข้อมูลวันที่ 28 ก.พ. - 26 มิ.ย. 2564) และขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเอง สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง วัดไข้และสแกนไทยชนะเมื่อเข้าใช้สถานที่ หากพบเห็นการฝ่าฝืนมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ขอให้แจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อจังหวัด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422