รองนายกฯ -รมว.สธ.เผย สธ. พร้อมช่วยเหลือพื้นที่ กทม.วิกฤตเตียงผู้ป่วย เตรียมยกระดับเพิ่มศักยภาพ รพ.สนาม ให้เป็นแบบบุษราคัม ทำเป็น 4 มุมเมือง
เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี สธ.จะเข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่ กทม.มากขึ้นหรือไม่ เพราะอยู่ในระดับที่วิกฤต ว่า สธ.เข้าไปช่วยเหลือทุกพื้นที่อยู่แล้ว แม้ว่าจะไม่มีอำนาจในการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขในกรุงเทพมหานคร แต่ก็ต่างช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และในส่วนของรพ.บุษราคัมก็มีการรับผู้ป่วยต่างชาติระดับสีเหลืองแล้ว และสิ่งที่สธ.กำลังเร่งดำเนินการคือจะต้องเปิดเตียงและห้องไอซียูรพ.หลักให้มากที่สุด โดยจะต้องไปยกระดับ เพิ่มศักยภาพรพ.สนามให้เป็นแบบรพ.บุษราคัมให้มากขึ้น
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า รพ.สนาม 4 มุมเมืองจะต้องเกิดขึ้นแล้ว และใช้ประสบการณ์และสิ่งที่ทำมาที่รพ.บุษราคัมในการจัดตั้งรพ.ที่ขาดแต่ห้องไอซียู แต่มียา ออกซิเจนและเครื่องไฮโฟลว์พร้อม สามารถจัดได้ภายใน 7 วัน เป็นการอัปเกรดจากรพ.สนามที่มีอยู่แล้วในจังหวัดต่างๆ 4 มุมเมืองรอบ กทม.โดยพิจารณารพ.ที่รองรับได้ราว 200 เตียง หากหาได้ 5 แห่ง ก็รองรับได้ 1,000 เตียง พอๆ กับศักยภาพ รพ.บุษราคัมที่รองรับได้ราว 1,200 เตียง เพราะในเดือน ส.ค. รพ.บุษราคัมจะต้องคืนให้กับอิมแพคอารีนาแล้ว นอกจากนี้ อาจจะยกระดับจากศูนย์นิมิตร์บุตร หรืออินดอสเตเดียม เพื่อรองรับผู้ป่วยสีเหลืองด้วย จะต้องทำทุกอย่างให้ทันกับสถานการณ์ ส่วนบุคลากรก็อาจจะต้องใช้รูปแบบของรพ.บุษราคัมที่มีการสับเปลี่ยนจากต่างจังหวัดทุก 2 สัปดาห์
“ถ้าเหลืองน้อยมารพ.สนามที่จะมีการยกระดับได้เพิ่มมากขึ้น ในรพ.หลักก็สามารถดูแลผู้ป่วยหนักได้มากขึ้น การยกระดับจากป่วยกลางไปป่วยหนักก็ช้าลง หรือไม่ต้องไปถึงขั้นนั้นโดยผู้ป่วยดีขึ้น และหายป่วย ซึ่งสธ.ก็ต้องปรับระบบการรักษาพยาบาลให้สอดคล้องกับสถานการณ์” นายอนุทิน กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงมาตรการควบคุมโรคในโรงงานที่พบผู้ติดเชื้อมากขึ้นในหลายแห่งหลายจังหวัด นายอนุทิน กล่าวว่า มีการกำชับอย่างหนัก โดยปลัดสธ.ได้ลงพื้นที่จ.สมุทรปราการได้กำชับให้มีการร่วมมือกัน ซี่งกรมควบคุมโรคจะเข้าไปบับเบิลแอนด์ซีล(Bubble and Seal) แต่ต้องขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ฝ่ายปกครอง ตำรวจช่วยดูแลอย่าให้มีการเดินทาง หรือลักลอบหลบหนี เพราะไม่ใช่ป้องกันไม่ให้คนนอกเข้าไปเท่านั้น แต่คนในต้องไม่ออกด้วย เพื่อนำไปรักษาที่ในรพ.ที่เหมาะสมต่อไป
ถามถึงกรณีโรงงานยังมีการลักลอบจ้างแรงงานผิดกฎหมาย และแล็ปเอกชนที่ไม่ได้มาตรฐานเข้าไปตรวจโควิด-19ในโรงงาน เมื่อพบติดเชื้อกลับไม่มีใบยืนยันผล ทำให้เข้าระบบรักษาไม่ได้ นายอนุทิน กล่าวว่า จริงๆ ไม่ได้ดูว่าเข้ามาทำงานในประเทศไทยช่องทางไหน แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยจะต้องแยกก่อน ส่วนค่าใช้จ่ายในการรักษาถือเป็นการป้องกันโรคและมนุษยธรรมด้วย ส่วนใครลักลอบฝช้แรงงานผิดกฎหมาย ผู้ประกอบการก็ต้องจ่ายและรับผิดด้วยในเรี่องการลักลอบนำแรงงานผิดกฎหมายเข้ามาทำงาน เพราะฉะนั้นอย่าไปทำเลยดีที่สุด เพราะถ้าไม่มีคนจ้างก็ไม่มีคนลักลอบเข้ามา คนที่ลักลอบเข้ามามากๆ เพราะผู้ประกอบการไทยต้องการจ้างถูกหรือมีต้นทุนถูก ถึงมีคนเข้ามา แต่เมื่อมีโรคระบาดเช่นนี้ ก็อันตราย และเสี่ยง ถ้ามีการติดเชื้อก็เห็นว่าใครทำผิด บ้านเมืองก็ต้องดำเนินคดี โทษอาจจะหนักด้วย
“แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ต้องไปดำเนินเรื่องต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้ว ถ้ามีการลักลอบจ้างแรงงาน มีทั้งตำรวจ กระทรวแรงงาน ประกันสังคมก็ต้องไปดำเนินคดี แจ้งความกับผู้ทำผิดกฎหมาย แต่เรื่องรักษาก็ต้องรักษา ซึ่งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีมีการกำชับเรื่องนี้ตลอด และเชื่อว่าทุกฝ่ายพยายามทำเต็มที่ นอกจากนี้ มาตรการค้นหาเชิงรุกมีอยู่แล้ว และมาตรการนี้ตะทำให้การป้องกันควบคุมโรคมีประสิทธิภาพ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่าไม่ได้ทำอะไรแบบลวกๆ พยายามเข้าไปหา และหาเจอเท่าไหร่ก็ประกาศตามจริง ไม่มีการปรุงแต่งตัวเลข เมื่อมีการรุกมากก็เจอมาก” นายอนุทิน กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงการปรับกลบยุทธ์การให้วัคซีนที่อาจจะต้องมีการฉีดกระตุ้นในเข็ม 3 หรือฉีดสลับชนิดวัคซีน นายอนุทิน กล่าวว่า เรื่องทางการแพทย์ต้องให้อาจารย์แพทย์และคณะกรรมการวิชาการด้านวัคซีนได้พิจารณา หากมีข้อเสนออย่างไร ก็พร้อมปฏิบัติตาม ตอนนี้เท่าที่ทราบกำลังมีการศึกษา ถ้าผลออกมาและมีการตัดสินใจออกมาอย่างไรก็เชื่ออยู่แล้ว
“ยืนยันว่าวัคซีนทุกชนิดที่ประเทศไทยจัดมามีประสิทธิภาพ อย่างซิโนแวคมีการวิจัยในประเทศไทยเอง ในสถานที่จริงที่ภูเก็ตก็ผลออกมาถึงกว่า 80 % และไว้ใจได้ อีกทั้ง วัคซีนโควิด-19 หรือแม้แต่วัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่ได้บอกว้าป้องกนการติดเชื้อได้ เพียงแต่ลดความเสี่ยง และลดความป่วยรุนแรงและลดการเสียชีวิต เมื่อได้วัคซีนแล้วไม่ป่วยหนัก”นายอนุทินกล่าว
เมื่อถามถึงการสั่งซื้อไฟเซอร์เพิ่มจาก 20 ล้านโดส นายอนุทิน กล่าวว่า จำนวน 20 ล้านโดสเป็นยอดที่บริษัทแจ้งว่าจะสามารถจัดสรรให้ประเทศไทยได้ภายในปี 2564 ตอนแรกแจ้งว่าจะจัดส่งไปในไตรมาส 3 แต่บริษัทก็มีการเลื่อนไปไตรมาส 4 เพราะวัคซีนเป็นที่ต้องการของคนทั่วโลก ซึ่งโรงงานวัคซีนแต่ละแห่งก็มีข้อผูกมัดและสัญญากับประเทศต่างๆทั่วโลก
“ขณะนี้ประเทศไทยไม่ได้ขาดวัคซีน มีส่งทุกสัปดาห์และจัดสรรออกไป ศักยภาพการฉีดก็อยู่ที่ 3-4 แสนโดสต่อวัน และยิ่งคนฉีดวัคซีนได้มากเท่าไหร่ ต่อให้คนที่ไม่ได้ฉีดก็ลดความเสี่ยงระดับหนึ่ง เพราะคนที่ติดเชื้อแต่อาการไม่หนัก การแพร่เชื้อก็เบาบางลงไป และขณะนี้ฉีดไปได้แล้วกว่า 8 ล้านโดส เชื่อว่าสิ้นเดือนมิ.ย.จะฉีดได้ 10 ล้านโดสตามเป้าที่กำหนด” นายอนุทินกล่าว
- 7 views