ปลัดสธ.ย้ำยังไม่มีนโยบายฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 บุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดครบ 2 เข็ม ขณะนี้ทีมวิชาการอยู่ระหว่างการศึกษาพิจารณา เผยประสิทธิภาพวัคซีนเมื่อฉีดครบ 2 เข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกันดี พร้อมเดินหน้าฉีดปูพรมให้ครอบคลุมทั่วประเทศตามแผนกระจายวัคซีน
ตามที่นักวิชาการ อาจารย์แพทย์หลายท่านออกมาให้ข้อมูลทางวิชาการถึงความจำเป็นในการปูพรมฉีดวัคซีนโควิดให้ครบ 2 เข็มครอบคลุมโดยเร็ว โดยศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก จุฬาฯ ศึกษาวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 จำเป็นหรือไม่ต้องใช้วัคซีนสลับยี่ห้อ หรือยี่ห้อเดียว ศึกษาการกระตุ้นภุมิคุ้มกัน พร้อมพิจารณาระยะเวลากระตุ้นเข็ม 3 ขอเวลา 1-2 เดือนได้ข้อมูลพร้อมปรับกลยุทธ์การให้วัคซีนสอดคล้องสายพันธุ์เดลตา(อินเดีย) แทนที่อัลฟา (อังกฤษ) นั้น ขณะเดียวกันมีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขบางส่วนที่ฉีดวัคซีนไปก่อนหน้านี้ 2 เข็มแล้วจำเป็นต้องฉีดภายในเดือนก.ค. โดยเฉพาะพื้นที่ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์หรือไม่
เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.64 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า ขณะนี้กำลังเก็บข้อมูลว่า ได้รับ 2 เข็มแล้วภูมิคุ้มกันเป็นอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการศึกษาที่ภูเก็ต พบว่าภูมิฯขึ้นดี อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เป็นของเวลาทางทีมวิชาการอยู่ระหว่างพิจารณา อาจต้องใช้เวลา แต่ขอให้มั่นใจ เพราะผลงานวิจัยของทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.) ก็ถือว่ามีภูมิฯ หลักการแพทย์มีข้อมูลอยู่ อย่างไรก็ตาม ส่วนกรณีการกระตุ้นด้วยเข็ม 3 สำหรับบุคลากรทางการแพทย์นั้น ยังไม่มีนโยบายออกมา ขอให้รอการพิจารณาของทีมวิชาการก่อน แต่อย่างกรณีภูเก็ต ที่เปิดการท่องเที่ยวได้ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ ก็เพราะมีมาตรการทั้งหมด และมีการปูพรมฉีดวัคซีนแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีกระแสวิพาษณ์วิจารณ์ว่าบางจังหวัดยังให้วัคซีนโควิดไม่ครบ 2 เข็ม หากสายพันธุ์เดลตา(อินเดีย) เข้ามาจะไม่ทันในการกระตุ้นเข็มที่ 3 นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้มีทีมติดตามเรื่องสายพันธุ์เดลตา แต่ตอนนี้สายพันธุ์ที่พบมากยังเป็นอัลฟา(อังกฤษ) อยู่ ซึ่งประสิทธิภาพของวัคซีนยังใช้ได้ ส่วนเข็มที่ 3 อยู่ระหว่างการศึกษา อย่างไรก็ตาม ตามแผนการฉีดวัคซีนให้ครบยังมีเวลา
นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ฉีดวัคซีนไปแล้ว 2 เข็มนั้นมีการศึกษาภูมิคุ้มกันอยู่ และกำลังศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆที่ใช้วัคซีนซิโนแวค อย่างอินโดนีเซีย ชิลี ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทางวิชาการที่ผ่านมาก็พบว่า วัคซีนช่วยลดป่วยหนัก ลดการเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะช่วงนี้มีปัญหาเรื่องเตียงกลับมาอีกครั้ง ยิ่งในผู้ป่วยอาการหนักกลุ่มสีแดง สิ่งสำคัญจึงต้องมีวัคซีนป้องกัน ซึ่งจะช่วยลดอาการรุนแรง นอนโรงพยาบาล นอนไอซียูได้
- 11 views