กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยขณะนี้โควิดในไทยยังพบมากสุด คือ สายพันธุ์อัลฟ่า(อังกฤษ) รองลงมาสายพันธุ์เดลต้า(อินเดีย) เริ่มพบมากขึ้น ส่วนสายพันธุ์เบต้า(แอฟริกาใต้) ดื้อต่อวัคซีนพอสมควร แต่การแพร่โรคไม่เท่าอังกฤษ อธิบดีฯย้ำกังวลสุด คือ อินเดียมีการติดเชื้อหลายจังหวัด ได้แจ้งพื้นที่ควบคุมแล้ว หากคุมได้จะหยุดเร็ซใน 14 วัน ส่วนกรณีโรงเรียนประจำ ในจ.ยะลา ขณะนี้เร่งติดตามต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า รัฐบาลญี่ปุ่นให้งบประมาณประมาณ 30 กว่าล้านบาท ผ่านองค์การอนามัยโลกพัฒนาห้องชีวนิรภัยระดับ 3 ที่สามารถจัดการกับเชื้อโรคอันตรายโดยไม่หลุดออกไปยังสิ่งแวดล้อม และปลอดภัยกับผู้ปฏิบัติงานได้ ซึ่งในประเทศมีไม่กี่แห่ง ซึ่งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาทางองค์การอนามัยโลกมาตรวจสอบคุณภาพ และให้การรับรองแล้ว
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทยตอนนี้ส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์อัลฟ่า (อังกฤษ) ส่วนสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) เป็นอันดับรองลงมา แต่พบในแคมป์คนงานเพิ่มขึ้นทั้งแถวนนทบุรี ส่วนภาคใต้เป็นสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ซึ่งจำนวนหนึ่งเจอนอกจังหวัดนราธิวาส โดยเป็นจังหวัดในภาคใต้ที่อยู่ใกล้เคียงกัน ส่วนตัวเลขต่างๆ อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ไม่ได้ปกปิด ขณะที่สายพันธุ์เบต้า (แอฟริกาใต้) นั้น ดื้อต่อวัคซีนพอสมควร แต่ความสามารถในการแพร่โรคไม่เร็วเท่าอังกฤษและอินเดีย
“ดังนั้น ที่กังวลตอนนี้ คือ สายพันธุ์อินเดียที่พบว่ามีการติดเชื้อในหลายจังหวัดแล้ว ซึ่งตามหลักการได้แจ้งพื้นที่ให้ควบคุมแล้ว หากคุมได้ก็จะหยุดเร็วใน 14 วัน ไม่แพร่เชื้อในวง 2 วง 3 แต่อย่างที่ทราบว่าปัจจัยที่จะควบคุมได้หรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นกับเราคนเดียว ต้องเคร่งครัดมาตรการต่างๆ จึงรายงานต่อฝ่ายความมั่นคงให้เข้มงวดแล้ว กิจกรรมใด้หากให้งดทำแต่ยังทำอยู่ก็เป็นเรื่องยาก ที่จะลดการแพร่โรค รวมทั้งการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมาย อย่างเชื้อแอฟริกาใต้นั้นมีความชัดเจนว่ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน” นพ.ศุภกิจ กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีโรงงานหลายแห่งไปดีลกับแล็บตรวจโควิดเอกชน ซึ่งอาจจะไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ต้องมีการตรวจหาเชื้อใหม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า มีโรงงานหลายแห่งอยากตรวจเชิงรุกก็ขอให้ติดต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนั้นๆ ไม่อยากให้ทำโดยพละการ เพราะมีตัวอย่างหลายโรงงานไม่เข้าใจว่าวิธีตรวจนั้น ตรวจด้วยการแปลผลอะไร เช่น นำแรปปิดแอนติเจนไปตรวจแล้วสรุปว่ามีคนติดจำนวนเท่านั้น เท่านี้ ซึ่งเป็นการตรวจเบื้องต้นเพื่อสุ่มเท่านั้น แต่จริงๆ ต้องมีการตรวจด้วยวิธีการที่เป็นมาตรฐานคือการแยงจมูกตรวจด้วย RT-PCR หรือการตรวจน้ำลาย เพราะฉะนั้นเราเป็นห่วงเรื่องการตรวจหาเชื้อนั้นขอให้มีการปรึกษากัน เพราะสุดท้าย พอตรวจเจอก็ไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร แบบนี้ยิ่งทำให้เรื่องยุ่งไปอีก เพราะไม่ได้จบแค่การตรวจเท่านั้น
“ปัญหาหนึ่งเวลาเจอคลัสเตอร์โรงงาน หรือแคมป์ เมื่อเกิดขึ้นมีการจัดการไม่เป็นระบบ ทำให้แรงงานจำนวนหนึ่งหนีออกนอกพื้นที่ ซีลไม่จริง เดินทางกลับบ้านภูมิลำเนา ทำให้เกิดการกระจายโรคไปยังพื้นที่ต่างๆ ได้เยอะ นี่คือข้อสังเกตที่พบของการแพร่ระบาดในปัจจุบัน” นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวถึงกรณีโรงเรียนประจำ ใน จ.ยะลา ที่พบเชื้อโควิด ว่า จากการติดตามโรงเรียนนี้ พบเบื้องต้นมีทั้งสายพันธุ์แอฟริกาใต้และสายพันธุ์อังกฤษ ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างติดตามหาต้นตอว่าติดมาจากที่ไหน และกำลังเร่งติดตามว่าเชื้อกระจายไปยังจังหวัดไหนบ้าง
(ข่าวเกี่ยวข้อง : เข้มมาตรการคุมโควิดคลัสเตอร์โรงเรียนมัรกัส พบติดเชื้อ 402 รายกระจาย 12 จังหวัด )
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 17 views