เครือข่ายโรงเรียนแพทย์ หรือ ยูฮอสเน็ต ร่วมออกแถลงการณ์ขอ สปสช. ทบทวนอัตราค่าตรวจเพทซีที(PET/CT) ในผู้ป่วยมะเร็งที่เป็นธรรมภายใน 6 เดือน เหตุอัตราค่าชดเชยการตรวจต่ำกว่าต้นทุน ส่งผลให้ รพ.ขาดทุนเฉลี่ย 8,000 บาทต่อการตรวจ 1 ครั้ง แต่ทางรพ.จะยังให้บริการเช่นเดิม จนกว่าจะแบกรับภาระทางการเงินไม่ไหว

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2564 รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วย รศ.นพ.วิศิษฏ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาขาดไทย รศ.นพ.ทรงศักดิ์ เกียรติชูสกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีนครินทร์ ผศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ และ นพ.กิตติพงศ์ เรียบร้อย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ร่วมลงนามในแถลงการณ์ เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ UHosNet เรื่อง สิทธิประโยชน์การตรวจทางรังสีวิทยาเพทซีที (PET/CT) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

โดยใจความระบุว่า ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีมติปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์การตรวจทางรังสีวิทยาเพทซีที (PET/CT) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ทางเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) ขอแจ้งมายังคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้ป่วย และประชาชน ดังนี้

1. เครือข่ายฯ สนับสนุนการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการเข้าถึงการตรวจเพทซีที (PET/CT) ซึ่งเป็นการตรวจวินิจฉัยที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงราคาแพง เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการประเมินระยะของโรคมะเร็งได้ทันการ ส่งผลต่อผลการรักษาที่ดีขึ้น

2. อัตราค่าชดเชยการตรวจเพทชีที (PET/CT) ที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดนั้น ต่ำกว่าต้นทุนของโรงพยาบาลอย่างมาก ส่งผลให้โรงพยาบาลจะขาดทุนเฉลี่ย 8,000 บาทต่อการตรวจ 1 ครั้ง อย่างไรก็ดี ด้วยความรับผิดชอบต่อผู้ป่วย และเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยมะเร็งได้รับผลกระทบหรือต้องร่วมจ่าย โรงพยาบาลในเครือข่ายฯ จะยังคงเปิดบริการเพทซีที (PET/CT) ให้แก่ผู้ป่วยในระบบสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปก่อนระยะหนึ่ง จนกว่าโรงพยาบาลจะไม่สามารถแบกรับภาระทางการเงินได้

3. เครือข่ายฯ ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปฏิบัติตามมติที่จะทบทวนอัตราค่าตรวจเพทซีที (PET/CT) ที่เป็นธรรมกว่านี้ภายใน 6 เดือน เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถดำเนินการได้อย่างยั่งยืน ไม่ซ้ำเติมสถานการณ์ที่โรงพยาบาลต้องแบกรับภาระการเงินในการดูแลผู้ป่วยระบบสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปัจจุบัน

รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ

เครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org