ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ ศบค. เรื่องแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 กำหนด 6 แนวทาง ปลดล็อก รพ.เอกชน – อปท. จัดหาวัคซีนได้จากหน่วยงานที่กำหนด มีผล 8 มิ.ย.2564
เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยใจความสำคัญสืบเนื่องจากได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค.2563 และได้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไปเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง และมีประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์ที่นายกรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2564 นั้น
เพื่อเร่งรัดให้การขับเคลื่อนการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด - 19 ตามวาระแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติ อย่างเป็นรูปธรรมมีประสิทธิภาพ และประชาชนได้รับประโยชน์โดยเร็ว เป็นไปตามมาตรการเร่งรัด การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด
โดยได้มีการกำหนดแนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิดทั้งหมด 6 ข้อ เนื้อหาสำคัญ คือ การปลดล็อกอำนาจในการจัดหาวัคซีนให้แก่ รพ.เอกชน ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. สามารถจัดหาวัคซีนจากหน่วยงานของรัฐ ทั้งองค์การเภสัชกรรม ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และให้หน่วยงานรัฐและเอกชนทุกภาคส่วนเชื่อมโยงและบูรณาการข้อมูลกับระบบแพลตฟอร์มหมอพร้อมของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของประชาชนที่ได้รับวัคซีนโควิด และเพื่อให้การบริหารจัดการข้อมูลเป็นไปอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 8 มิ.ย. 2564 เป็นต้นไป
ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19
ติดตามรายละเอียด ดังนี้
อ่านประกาศราชกิจจานุเบกษา เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19
ข่าวเกี่ยวข้อง : ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกาศข้อกำหนดผู้ขอรับจัดสรรวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” ราคาเข็มละ 888 บาท
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 181 views