สปสช. เปิดหลักเกณฑ์วิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นหลังรับวัคซีนโควิด19 หากพบอาการไม่พึงประสงค์โดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิดจนจบกระบวนการว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่
ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ออกประกาศหลักเกณฑ์วิธีการการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่กลุ่มที่ได้รับวัคซีนโควิด19 แล้วเกิดอาการไม่พึงประสงค์ โดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.2564 เป็นต้นไป ประเทศไทยจะเริ่มระดมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายให้ครอบคลุมประชากร 50 ล้านคน หรือ 70% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งก็เป็นไปได้ที่จะมีผู้มีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน ดังนั้นรัฐบาลจึงมีนโยบายจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่กลุ่มดังกล่าวเพื่อสร้างความมั่นใจว่าประชาชนจะได้รับการดูแล และ สปสช.ก็ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์วิธีการการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว
นพ.จเด็จ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือ เบื้องต้นจะไม่ต้องรอถึงขนาดพิสูจน์ถูกผิดจนจบกระบวนการว่าเกิดจากวัคซีนหรือไม่ แต่เมื่อใดที่ไปฉีดวัคซีนแล้วเกิดอาการข้างเคียงหรือแม้กระทั่งเสียชีวิตแต่แพทย์จะระบุสาเหตุการเสียชีวิตจากเรื่องอื่น แต่ถ้าสงสัยว่าจะเกี่ยวกับวัคซีน ก็สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเข้ามาได้เลย ไม่ต้องรอผลการชันสูตรอะไรทั้งสิ้น สปสช.จะมีคณะอนุกรรมการทั้ง 13 เขตทั่วประเทศดำเนินการพิจารณาเรื่องเงินเยียวยาให้และจ่ายเงินภายใน 5 วันหลังมีมติ และแม้ว่าต่อมาจะพิสูจน์ได้ว่าการเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยไม่ได้มาจากวัคซีน ก็จะไม่มีการเรียกเงินคืนแต่อย่างใด
สำหรับหลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นนั้น ได้แบ่งประเภทของความเสียหายที่เกิดจากการรับวัคซีนโควิด และอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น แบ่งเป็น
1.เสียชีวิต หรือทุพพลภาพอย่างถาวร หรือเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต และมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำรงชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ในอัตราไม่เกิน 400,000 บาท
2.สูญเสียอวัยวะหรือพิการที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ในอัตราไม่เกิน 240,000 บาท
3.บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยต่อเนื่องจากการได้รับวัคซีน โดยมีความเห็นของแพทย์ผู้ตรวจรักษาประกอบด้วย จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นได้ในอัตราไม่เกิน 100,000 บาท
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 16 views