รองนายกฯ-รมว.สธ. เผยกระจายวัคซีนโควิดแล้วกว่า 1.1 ล้านโดส ทั้งซิโนแวกและแอสตร้าเซเนก้า ขณะที่กรมควบคุมโรคเผยการกระจายวัคซีนเป็นไปตามนโยบายของ ศบค.และนายกฯ โดยเริ่มจากหารเท่ากันทุกจังหวัดก่อน จังหวัดที่มีระบาดเยอะได้เยอะ
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 12.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ว่า เดือน มิ.ย.นี้ จะเป็นเดือนแห่งการกระจายและฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 ให้ประชาชนในวงกว้าง ซึ่งขอให้คำยืนยันและสรุปสั้นๆ ว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่นายกรัฐมนตรีได้เคยมอบให้กระทรวงสาธารณสุขไปปฏิบัติ ส่วนข่าวต่างๆ ที่ออกมาต่างๆ ก่อนหน้านี้ ก็ขอให้ประชาชนเชื่อถือข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขให้มากที่สุดเพราะเป็นหน่วยงานที่ปฏิบัติ ควบคุมการจัดส่งวัคซีน
ทั้งนี้ การกระจายวัคซีนมีมาตลอดเมื่อวาน (1 มิ.ย.) ก็กระจาย 1 ล้าน 1 แสนโดส ทั้งซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้า กระจายไปยังหน่วยงานสาธารณสุขทั่วประเทศ นี่คือสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขเคยพูดไว้ว่าวัคซีนจะต้องเริ่มหมุนเวียนออกไปเพื่อให้ถึงมือพี่น้องประชาชนให้มากที่สุดตามแผนที่กรมควบคุมโรคได้รับจาก ศบค.มาปฏิบัติ
เมื่อถามถึงวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่กระจายไปแล้วเป็นล็อตที่ผลิตจากแหล่งใด นายอนุทิน กล่าวว่า เราทำสัญญากับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เพราะฉะนั้นวัคซีนที่ได้มาจะมาจากที่ไหนก็ตามนั่นก็คือวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งมีทั้งที่ผลิตในประเทศไทยหรืออาจจะมีการนำเข้าจากต่างประเทศ ขึ้นอยู่กับ supply chain ของแอสตร้าฯ ในการที่จะจัดส่งมา ส่วนตัวเลขจำนวนวัคซีนนั้นทางแอสตร้าฯ จะเป็นผู้แถลง
เมื่อถามว่ามีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าวัคซีนแอสตร้าที่มามีจำนวนน้อย นายอนุทิน กล่าวว่า คนไหนพูดว่าน้อยเกินไปก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้ฟังที่กระทรวงสาธารณสุขพูด กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมควบคุมโรคจะต้องทำความตกลงกับบริษัทโดยดูจากทักษะ ความสามารถในการฉีดวัคซีนของไทย ความสามารถในการผลิตของบริษัท คือเอาความสามารถของทั้ง 2 ฝ่ายมาคุยแล้วตำลงกันว่าแต่ละเดือนจะใช้วัคซีนเท่าไหร่ จากนั้นก็ทยอยส่งเป็นรายสัปดาห์ แล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ดีของทั้งสองฝ่าย
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การกระจายวัคซีนเป็นไปตามนโยบายของ ศบค.และนายกฯ โดยเริ่มจากหารเท่ากันทุกจังหวัดก่อน จังหวัดที่มีระบาดเยอะได้เยอะ เช่น กทม. ปริมณฑล จะได้เยอะ และดูตามพื้นที่จำเพาะตามนนโยบาย เช่น พื้นที่ท่องเที่ยวภูเก็ต ซึ่งอัตราฉีดเยอะสุด โดยฉีดได้ 50% ของเป้าหมาย หรือชลบุรี พัทยา เกาะสมุย จะได้เพิ่มเติม มีการปรับเกลี่ยวัคซีน โดยการจัดสรรขึ้นกับวัคซีนที่เรามีและความต้องการในการฉีด ต้องปรับตามสถานการณ์ ดังนั้นทุกจังหวัดจึงมีวัคซีน โดยจังหวัดไหนไกลขนส่งลำบากจะส่งไปก่อน ตอนนี้กระจายแล้ว 1 ล้านกว่าโดส เรากระจายทุกวัน บางพื้นที่อาจถึงแล้ว บางพื้นที่อยู่บนรถกำลังไป จะทยอยไปเรื่อยๆ
"ศบค.ให้แผนประจำเดือน แต่เราทอนมาเป็นรายสัปดาห์ ส่งไปแล้วติดตามดูสต๊อกเหลือเท่าไร จังหวัดให้เยอะแต่ฉีดน้อย เราก็ไม่ส่งไปต่อ จนกว่าจะฉีดเสร็จ เป็นต้น ต้องมีความยืดหยุ่นและปรับตัวในการจัดส่ง" นพ.โอภาสกล่าวและว่า ส่วนแผนการฉีดของแต่ละพื้นที่เขามีตัวเลขอยู่แล้ว ขอให้ฉีดอย่างเหมาะสม ทั้งการฉีดและการมีวัคซีนต้องเหมาะสมกัน ไม่ใช่ส่งไปแล้วฉีดวันเดียวหมด เดี๋ยววันอื่นประชาชนก็จะร้องเรียน" นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาสกล่าวว่า ส่วนกลุ่มเป้าหมายการฉีดอาจคล้ายกัน เช่น คนจองไว้แล้วไม่ว่ามาจากแอปพลิเคชันไหน อย่างผู้สูงอายุและ 7 โรคเรื้อรัง หรือบางพื้นที่จะเปิดเทอมก็ฉีดกลุ่มครู บุคลากรทางการศึกษา หรือ อสม.ตกหล่นก็ไปฉีด ขอให้ฉีดตามกลุ่มเป้าหมายที่กำหนด รวมถึงกลุ่มพิเศที่ ศบค.กำหนด เช่น แรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็มอบสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ถ้ามีวัคซีนตามเป้าหมาย คือ 1 ล้านโดส ก็มีการเจรจาว่าเขาจะกำหนดจุดฉีด เราก็จะส่งวัคซีนให้ สปส.ก็จะกระจายไปยังจุดฉีดของเขา อีกกลุ่มเฉพาะเช่น ทางที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทสไทย (ทปอ.) ที่มี 11 จุดฉีดช่วยฉีด มีโควตา 5 แสนโดส ทางกระทรวงอุดมฯ ก็จัดสรรโควตามาบอกเรา เราก็กระจายไปตามจุดฉีดที่มี ส่วนใหญ่อยู่ในกทม.และปริมณฑลช่วยเป็นจุดฉีด เช่น จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เป็นต้น ซึ่งเขาจะจัดสรรกันเอง เราส่งไปตามจัดสรร
"สำหรับแอสตร้าฯ เมื่อผลิตเสร็จจะส่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อตรวจล็อตรีลิส เมื่อเสร็จจะแจ้งกรมควบคุมโรคเพื่อตรวจรับและกระจายออกไป ส่วนแต่ละพื้นที่จะเป็นซิโนแวคหรือแอสตร้าฯ จะปรับตามความเหมาะสมพื้นที่ บางพื้นที่ฉีดเข็ม 1 ซิโนแวคไปเยอะ เขาก้จะแจ้งเรามา ถ้าให้แอสตร้าฯ ไปเยอะก็ไม่เหมาะสม แต่ทั้งสองตัวใช้ได้เพราะไม่แตกต่างกันผ่านการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ข้อบ่งชี้ไม่ต่างกัน ใชได้ทั้งสองตัวแต่ขึ้นกับเหตุผลของแต่ละคน เช่น ฉีดซิโนแวคแล้วแพ้เข็มสองเปลี่ยนเป็นแอสตร้าฯ แต่การฉีดจะขึ้นกับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ให้แพทย์เป็นผู้พิจารณาตัดสินใจ" นพ.โอภาสกล่าว
ถามถึง กทม.ได้รับการจัดสรรเท่าไร นพ.โอภาสกล่าวว่า กทม.ตามที่ ศบค.กำหนดเดือน มิ.ย.ประมาณ 1 ล้านโดส หารือ ผอ.สำนักอนามัย กทม.แล้ว จะทยอยส่งเป็นรายสัปดาห์ ถ้าหมดก็ส่งเพิ่ม เราอยู่ใกล้กันคงไม่มีปัญหาเรื่องการขนส่ง เขารับโควตาไปก็จะจัดสรรเองว่าจะฉีดจุดไหนอย่างไร เบื้องต้นเห้นว่าจัดสรรไว้ 20 กว่าจุด ตอนนี้สิ่งที่เราทำคือ จัดสรรตามที่กำหนดและส่งไปจุดฉีด และติดตามว่าฉีดได้ตามเป้าหมายไหม หากขาดก็เติม
"เรือนจำเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งทางกระทรวงยุติธรรมแจ้งยอดมาแล้ว ก็ได้หารือปรึกษากับอธิบดีกรมราชทัณฑ์ว่ากลุ่มไหนควรฉีดก่อนฉีดหลัง อย่างเรือนจำที่ติดเชื้อมากก็ไม่จำเป็นต้องรีบฉีด ส่วนใหญ่ติดเชื้อแล้ว ต้องรอ 3 เดือนค่อฉีด ก็จะเน้นเรือนจำที่ยังไม่ติดเชื้อเพื่อป้องกันล่วงหน้า เป็นต้น จะแจ้งมาว่ามีเรือนจำไหนอย่างไร ก็จะประสานส่งมอบวัคซีนเพื่อไปฉีดต่อ ทั้งหมดตามแผนจะเริ่ม 7 มิ.ย.พร้อมกันทั่วประเทศ" นพ.โอภาสกล่าว
- 2 views