ศวส.-สสส. เผย นักดื่มกลัวติดโควิด-19 งด-ลดดื่มสุรา กว่าร้อยละ 70 หวั่น สุขภาพเสีย ชี้ มาตรการห้ามขาย-ปิดผับ บาร์ มีผลต่อพฤติกรมการดื่ม สสส. ชวน คนไทยฉีดวัคซีน ลดวิกฤต โควิด เปลี่ยนเงินซื้อเหล้า เป็นเงินออม ลดปัญหาความรุนแรงในครอบครัว
ศ.ดร.พญ.สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ศวส. ร่วมกับ สสส. สำรวจพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,555 คน ใน 15 จังหวัดทั่วประเทศ ผ่านการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ ระหว่างวันที่ 24-28 เมษายน 2564 พบว่า มีกลุ่มตัวอย่างที่เคยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 12 เดือนก่อนการสำรวจ ร้อยละ 41.9 ในกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ดื่มประจำคือดื่มอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง อยู่ที่ร้อยละ 32.4 และกลุ่มที่ดื่มหนักคือดื่มปริมาณมากในครั้งเดียว อยู่ที่ร้อยละ 21.3 อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงพฤติกรรมการดื่มในช่วง 30 วันก่อนการสำรวจ มีกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาเลยถึง ร้อยละ 28.4 และกลุ่มดื่มน้อยลง ร้อยละ 41.9 ขณะที่มีกลุ่มที่ดื่มเท่าเดิม ร้อยละ 28.1 และกลุ่มที่ดื่มเพิ่มขึ้นมีเพียงร้อยละ 1.6 เท่านั้น
ด.ดร.พญ.สาวิตรี กล่าวต่อว่า กลุ่มที่หยุดดื่มและดื่มน้อยลงให้เหตุผลสำคัญคือ ต้องการรักษาสุขภาพเพราะกลัวติดโควิด-19 ไม่ได้ออกไปสังสรรค์ และต้องการประหยัดเงิน ส่วนในกลุ่มที่ดื่มเท่าเดิม/ดื่มเพิ่มขึ้น ให้เหตุผลคือ ดื่มเป็นประจำ/ดื่มจนติด (อดไม่ได้) ถูกชักชวนให้ดื่ม โดยในกลุ่มที่ดื่มในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาพบว่า เกือบ 3 ใน 4 คน หรือร้อยละ 66.4 เป็นการดื่มที่บ้านตนเอง รองลงมา ดื่มที่ผับ บาร์ คาราโอเกะ ร้านอาหาร ร้อยละ 12.6 ดื่มที่บ้านคนอื่น ร้อยละ 8.3 ดื่มที่งานเลี้ยง ร้อยละ 7.8 และดื่มที่อื่นๆ เช่น ร้านขายของชำ ร้านสะดวกซื้อ ที่นั่งริมทาง งานบุญ ที่ทำงาน ร้อยละ 4.7 ส่วนด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ในช่วง 30 วันก่อนการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างเคยประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างน้อยหนึ่งเรื่อง ร้อยละ 59 มีอาการวิตกกังวล ร้อยละ 6 และมีอาการของโรคซึมเศร้า ร้อยละ 8 อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 48 มีการออกกำลังกายอย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์
“เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 อย่างเข้มงวด (เมษายน 2563) พบว่า ในช่วงเดือนเมษายน ปี 2564 กลุ่มตัวอย่างมีการดื่ม ร้อยละ 71.6 ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์ และช่วงเริ่มต้นการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ล่าสุด โดยมีสัดส่วนสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีการดื่มอยู่ที่ร้อยละ 51.5 ผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่า มาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของภาครัฐ การห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การปิดสถานบันเทิง การห้ามนั่งดื่มในร้านอาหาร รวมถึงการที่ประชาชนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น มีผลต่อพฤติกรรมการดื่มของประชาชนอย่างมาก” ศ.ดร.พญ.สาวิตรี กล่าว
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ อดีตกรรมการกองทุน สสส. และที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าวว่า การไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นับเป็นการปฏิบัติที่ดีต่อตนเองและครอบครัว เพราะการดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้ภูมิต้านทานลดลง และมีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับการทะเลาะวิวาทในครอบครัว การลด ละ เลิกดื่มในช่วงการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ จึงมีส่วนสำคัญช่วยลดทั้งความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโดยอ้อม ลดโอกาสในการทะเลาะวิวาทในครอบครัวโดยตรง และประโยชน์ที่ได้จากการลดหรือเลิกดื่มยังช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เสียไปเพื่อแอลกอฮอล์เปลี่ยนมาเป็นเงินเก็บให้ครอบครัวที่รักของทุกคน สำหรับการประคับประคองให้พ้นวิกฤตนี้ นอกจากการเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดพฤติกรรมเสี่ยงทุกชนิด ขอให้สังคมไทยร่วมกันฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศไทย
- 130 views