ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

Dozee เป็นบริษัทสตาร์ทอัพในบังกาลอร์ ประเทศอินเดียที่ตั้งมาได้ 6 ปีแล้ว พวกเขาพัฒนาระบบตรวจสอบผู้ป่วยระยะไกลแบบไร้สัมผัส หรือ Contactless Remote Patient Monitoring (RPM) ด้วยระบบนี้ทำให้โรงพยาบาลสามารถตรวจสอบอาการของผู้ป่วยได้จากระยะไกล และยังสามารถแปลงเตียงของผู้ป่วยระยะไกลในบ้านหรือเตียงผู้ป่วยทั่วไปในโรงพยาบาลให้กลายเป็นเตียงแบบผู้ป่วยกึ่งวิกฤต Step Down Units (SDU)

ผู้ป่วยกึ่งวิกฤตให้การดูแลระดับกลางระหว่าง Intensive Care Units (ICU) และผู้ป่วยทั่วไป หน่วยเหล่านี้ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่าหน่วยดูแลผู้ป่วยระดับกลางและหน่วยดูแลระยะเปลี่ยนผ่าน พบได้ในโรงพยาบาลหลายแห่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ในประเทศกำลังพัฒนาอย่างอินเดีย ICU มีจำนวนจำกัด และการแปลงให้เป็นหน่วย SDU อาจจะเป็นทางออกได้โดยใช้นวัตกรรมของสตาร์ทอัพ

ระบบ RPM ของ Dozee ซึ่งใช้เวลาพัฒนานานถึง 4 ปี สามารถติดตามอัตราการเต้นของหัวใจ, อัตราการหายใจ, ความอิ่มตัวของออกซิเจน, ระยะการนอนหลับ, การฟื้นตัวจากความเครียดและอื่นๆ อุปกรณ์สามารถพกพาได้มีลักษณะเป็นกล่องขนาดไม่ใหญ่นัก มันมีเซ็นเซอร์แบบไม่สัมผัสที่วางไว้ใต้ที่นอนจะจับสัญญาณชีวิตของร่างกายแบบเรียลไทม์โดยไม่ต้องใช้สายไฟภายนอกหรือสัมผัสร่างกายของผู้ใช้

เซ็นเซอร์จะจับการสั่นสะเทือนขนาดเล็กที่เกิดจากร่างกายทุกครั้งที่หัวใจสูบฉีดเลือดระหว่างการหายใจเข้าหายใจออก, อาการกล้ามเนื้อกระตุก, การสั่นและการเคลื่อนไหวของร่างกาย จากนั้นระบบเตือนภัยล่วงหน้าที่ขับเคลื่อนด้วย AI จะแปลงสัญญาณเหล่านี้เป็นตัวบ่งชี้ทางชีวภาพและใช้ข้อมูลเพื่อนำเสนอการวิเคราะห์สุขภาพของผู้ป่วยผ่านแอปสมาร์ทโฟนสำหรับผู้ใช้ทั่วไปที่ไม่ใช่โรงพยาบาล

เทคโนโลยีที่ Dozee นำมาใช้เรียกว่า Ballistocardiography (BCG) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ใช้กับร่างกายภายนอกซึ่งติดตามการสั่นสะเทือนจากทุกการเต้นของหัวใจการหายใจและการเคลื่อนไหวของร่างกายที่เล็กที่สุด และ Dozee ยังได้พัฒนาระบบของตัวเอง คือ Advanced Health Intelligence System ที่คัดกรองตัวบ่งชี้ทางชีวภาพและพารามิเตอร์ที่สำคัญออกจากข้อมูลการสั่นสะเทือนระบกวนที่เซ็นเซอร์จับได้

ระบบ AI ช่วยในการระบุการเสื่อมถอยของสุขภาพผ่านความผิดปกติในพารามิเตอร์สัญญาณชีวิตทั้งหมดที่ Dozee สามารถจับความเคลื่อนไหวได้ มุนดิต ดันดวาเต (Mudit Dandwate) ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของบริษัท Dozee บอกว่าในหลายกรณีระบบ AI สามารถทำนายการเสื่อมถอยของสุขภาพในระยะเริ่มต้นได้สำเร็จในสภาวะต่างๆ ตั้งแต่การเป็นไข้ไปจนถึงภาวะหัวใจล้มเหลวก่อนที่ผู้ป่วยจะเห็นอาการของตัวเองด้วยซ้ำ

ไม่น่าเชื่อว่าอุปกรณ์ขนาดย่อมนี้จะสามารถทำหน้าที่ได้เท่ากับ SDU ตามโรงพยาบาลทั่วไปเลยทีเดียว มุนดิต ดันดวาเต บอกกับสื่อด้านเทคโนโลยีของอินเดีย NDTV/Gadget 360 ว่าระบบสาธารณสุขที่มีอยู่มีความซับซ้อนมากและพวกเขาเห็นโอกาสที่จะทำให้มันง่ายขึ้น และอินเดียยังมีปัญหาขาดแคลนเตียง มีเพียง 1 แสนเตียงเท่านั้นที่มีระบบตรวจสอบอาการต่อเนื่องส่วนอีก 1.9 ล้านเตียงต้องใช้บุคลากรคอยตรวจสอบอาการผู้ป่วยเอาเอง (1)

แต่กับ Dozee พวกเขาทำให้การดูแลสุขภาพสามารถเข้าถึงได้กับทุกคนและง่ายมากขึ้นโดยการแปลงเตียงใดๆ ก็ตามให้เป็นหน่วยตรวจสุขภาพที่สมบูรณ์ในเวลาน้อยกว่า 2 นาที ระบบนี้จะคอยตรวจสอบสุขภาพในเชิงรุกกับเป้าหมายทั้งที่เป็นผู้ป่วยหรือไม่ก็ตามและแจ้งเตือนโดยใช้ AI เพื่อป้องกันเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ใดๆ ต่อผู้ที่ได้รับการตรวจด้วยระบบทางไกลและไร้สัมผัสนี้

Dozee กล่าวว่ากำลังทำงานร่วมกับโรงพยาบาลกว่า 25 แห่งเพื่อช่วยให้โรงพยาบาลเหล่านี้มีตัวช่วยในภาวะขาดแคลนเตียง ICU ระหว่างที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ที่อินเดียซึ่งรุนแรงที่สุดในโลก และตอนนี้พวกเขาประกาศเปิดตัวโครงการ MillionICU ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเตียง ICU และเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลของรัฐ

โครงการริเริ่มนี้จะระดมทุนเพื่อยกระดับเตียงปกติในโรงพยาบาลของรัฐทั่วอินเดียให้เป็นห้องไอซียูแบบ SDUโดยใช้เซ็นเซอร์แบบไม่สัมผัสของ Dozee ติดตั้งได้ในเวลาไม่ถึง 5 นาทีและเปิดใช้งานการตรวจสอบผู้ป่วยจากส่วนกลางในระยะไกลในระดับวอร์ด ความคิดริเริ่มนี้จะช่วยให้โรงพยาบาลสามารถรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ในระยะสั้นและนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในระยะยาวในโครงสร้างพื้นฐานด้านการดูแลสุขภาพของอินเดีย

มุนดิต ดันดวาเต บอกว่าโรงพยาบาลในอินเดียเต็มไปด้วยผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น บวกกับการขาดแคลนพนักงานและเตียงในช่วงการระบาดคลื่นลูกที่สอง แม้ว่าอินเดียจะมีอุปกรณ์ป้องกันเช่นชุด PPE เป็นต้นพอที่จะรองรับสถานการณ์ได้ แต่การที่ไม่สามารถใช้เตียงเพื่อตรวจสอบผู้ป่วยขั้นวิกฤตก็เป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรง จากปัญหาขาดแคลน ICU ที่ระบาดในรัฐส่วนใหญ่ของประเทศ Dozee จึงช่วยเปลี่ยนเตียงให้กลายเป็นเตียง SDU ช่วยทำให้โรงพยาบาลและแพทย์สามารถทำให้กระบวนการตรวจสอบสัญญาณต่างๆ ของผู้ป่วยทั้งหมดโดระบบอัตโนมัติ

Dozee ตั้งเป้าหมายที่ติดตั้งเตียง SDU จำนวน 50,000 เตียงทั่วอินเดียใน 6 เดือนข้างหน้าและเพิ่มเป็น 1 ล้านเตียงใน 3 ปีข้างหน้า โครงการจะเริ่มใช้กับโรงพยาบาล 25 แห่งใน 15 เขตซึ่งมีผู้ป่วยมากกว่า 10,000 คนที่จะต้องรับการตรวจอาการอย่างใกล้ชิด การใช้ระบบนี้ช่วยประหยัดชั่วโมงการพยาบาลได้มากกว่า 25,000 ชั่วโมงแทนที่จะใช้บุคลากรมาคอยตรวจผุ้ป่วยอาการวิกฤตอยู่ตลอดเวลา

Dozee ยังจะติดตั้งระบบ Central Monitoring Cell แบบทำงานตลอดเวลา 24 ชั่วโมง 7 วัน ซึ่งจะช่วยให้บุคคลากรสาธารณสุขสามารถตรวจสอบผู้ป่วยหลายรายจากระยะไกล ซึ่งก่อนหน้านี้บุคคลากรแพทย์จะต้องตรวสอบผู้ป่วยด้วยตนเองทุกๆ 2 - 3 ชั่วโมง แต่ Central Monitoring Cell จะช่วยในการประหยัดชั่วโมงการพยาบาลที่สำคัญและโดยเฉลี่ยแล้วจะประหยัดเวลาในการพยาบาลได้ประมาณ 30 นาทีต่อผู้ป่วยต่อวัน (2)

ด้วยกระแสข้อมูลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องช่วยให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์สามารถตรวจหาการอาการถดถอยของผู้ป่วยได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และแจ้งให้ทีมดูแลทราบถึงความผิดปกติใดๆ ก่อนที่จะถึงขั้นวิกฤต นอกจากนี้ ยังสามารถตั้งค่าการแจ้งเตือนแบบกำหนดเองสำหรับผู้ป่วยทุกราย ช่วยให้แพทย์ปรับแผนการรักษาให้เหมาะสมมุ่งเน้นไปที่ผู้ป่วยที่มีอาการทรุดลงและให้การดูแลเชิงรุกที่ดีขึ้น

ถ้าสงสัยว่าระบบต่างๆ ที่ Dozee พัฒนาขึ้นมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน ต้องลงดูที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับซีอีโอของบริษัทเอง เมื่อเดือนเมษายนพ่อแม่ของมุนดิต ดันดวาเต ซึ่งอาศัยอยู่ในเมืองนาคปุระที่ไกลจากลูกชายกว่า 1,000 กิโลเมตรได้ติดเชื้อโควิด-19 เขาจึงติดตั้งระบบตรวจสอบระยะไกลเพื่อคอยติดตามอาการของพ่อแม่ของเขาเอง และสามารถตรวจสุขภาพพ่อแม่ของเขาได้ในขณะที่เขาบินกลับภูมิลำเนาเพื่อไปเยี่ยมบุพการีทั้งสอง (3)

ในเดือนเมษายนเช่นกันหลังจากที่วิกฤตโควิด-19 เริ่มรุนแรงขึ้นในอินเดีย ดันดวาเตยังเปิดเบริการตรวจอาการผู้ป่วยที่บ้านสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการเล็กน้อย Dozee ยังเริ่มให้บริการเช่าอุปกรณ์ 30 วันเพื่อให้ลูกค้าไม่จำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์หากต้องการใช้ในเวลาจำกัดอีกด้วย

ดันดวาเตบอกว่าโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก ระบบของ Dozee สามารถตรวจพบการเพิ่มขึ้นของการหายใจและหัวใจเต้นเร็วในผู้ป่วยโควิด-19 ได้เป็นจำนวนมาก อุปกรณ์นี้ยังติดตามความแปรปรวนของอัตราการเต้นของหัวใจที่ลดลงอย่างใกล้ชิด รวมถึงภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับและอาการหายใจไม่ออก

AI ของ Dozee ช่วยให้สามารถการระบุสัญญาณเตือนล่วงหน้าใน 30-40% ของผู้ป่วยโควิด-19 ที่โรงพยาบาลที่ใช้ระบบนี้ ซึ่งการระบุสัญญาณในผู้ป่วยเหล่านี้ได้ทันเวลาสามารถช่วยชีวิตพวกเขาได้ โดยไม่จำเป็นต้องย้ายไปที่ ICU และประมาณ 10-15% ของผู้ป่วยโควิด-19 ที่เข้าสู่ระยะวิกฤตแล้วและจำเป็นต้องย้ายพวกเขาไปที่ห้อง ICU แต่เราะได้รับการตรวจพบค่อนข้างเร็วทำให้มีโอกาสย้ายออกจาก ICU ได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ (1)

 

อ้างอิง

1. Tasneem Akolawala. (28 April 2021). "How Dozee’s Contactless Patient Monitoring System Is Helping Build ICU Beds During This COVID-19 Crisis". NDTV/Gadget 360.

2. Our Bureau . (20 May 2021). "Dozee launches MillionICU initiative for critical care infrastructure". The Hindu

3. Moulishree Srivastava. (20 May 2021). "Health tech startups lend a helping hand to India’s strained healthcare system". KRASIA.