ผลกระทบโควิด-19 พบ “แรงงานนอกระบบ” เสี่ยง ไม่มีงานทำ สูญเสียรายได้ เข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการ มีแนวโน้มยากจนเพิ่ม สสส. หนุน พัฒนาทักษะ เพิ่มรายได้ สร้างภูมิคุ้มกันสุขภาวะ ฝ่าวิกฤตโควิด-19
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การสำรวจแรงงานไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2563 พบว่า ประเทศไทยมีแรงงาน 37.93 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบ 20.36 ล้านคน หรือร้อยละ 53.68 สถานการณ์โควิด-19 สะท้อนให้เห็นว่า “แรงงานนอกระบบ” 3 กลุ่ม คือ แรงงานภาคเกษตรกรรม แรงงานภาคการค้าบริการ และแรงงานภาคการผลิต ต้องเผชิญปัญหาหนักจากการไม่สามารถประกอบอาชีพ ส่งผลให้ขาดรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงปัญหาแรงงานนอกระบบในภาพรวมที่ต้องเผชิญ 6 ด้าน คือ 1.ค่าตอบแทนน้อยลง 2.ไม่ได้รับการจ้างงานต่อเนื่อง 3.ทำงานหนักและเสี่ยง 4.ไม่ได้รับสวัสดิการเทียบเท่าแรงงานในระบบ 5.ชั่วโมงทำงานมากเกินไป และ 6.ไม่มีวันหยุดหรือลาพักผ่อนไม่ได้ และอาจพบแรงงานในระบบออกสู่นอกระบบมากขึ้นในอนาคตเนื่องจากการปิดสถานประกอบการ
นางภรณี กล่าวต่อว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม สสส. ร่วมกับภาคีเครือข่ายแรงงานนอกระบบ สมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา (สชพ.) วางแนวทาง “เพิ่มรายได้ พัฒนาทักษะ สร้างภูมิคุ้มกันสุขภาวะ” เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบรู้จักวิธีรับมือปัญหาและเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือ โดยนำร่องที่จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีคนตกงาน หรือถูกเลิกจ้างชั่วคราวเป็นจำนวนมาก ได้สนับสนุนการพัฒนาทักษะแรงงานให้รู้เท่าทันเทคโนโลยี การให้คำปรึกษาการสร้างอาชีพที่ 2 เพื่อเพิ่มรายได้ สนับสนุนการพัฒนาชุดความรู้ให้แรงงานนอกระบบรู้จักวิธีป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อ และการสื่อสารผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ ครอบคลุมกว่า 3,000 คนในพื้นที่
นางภรณี กล่าวอีกว่า สสส. ยังร่วมกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ในการส่งเสริมอาชีพ และการพึ่งตนเองในอีก 76 ชุมชน และสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ชุมชนเป็นสถานที่กักตัวเมื่อพบกลุ่มเสี่ยง จำนวน 13 ศูนย์ กระจายอยู่ในกรุงเทพฯ เชียงใหม่ สมุทรปราการ และปทุมธานี พร้อมทั้งมีมาตรการอบรมให้ความรู้อาสาสมัครดูแลกลุ่มเสี่ยงกับอาสาสมัครและตัวแทนชุมชน เพื่อทำหน้าที่ในการสนับสนุนการกักตัวของกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งการพัฒนามาตรการแบ่งเบาภาระทางเศรษฐกิจของคนในชุมชน ได้แก่ ร้านอาหารและของชำราคาถูก, ผักสวนครัวหน้าบ้านและ เลี้ยงไก่ไข่ ในชุมชน เป็นต้น มีเป้าหมายเพื่อสร้างการพึ่งตนเอง ลดรายจ่ายให้กับครัวเรือนและชุมชน จากการขาดรายได้หรือว่างงาน ซึ่งในระยะยาวจะเป็นแหล่งอาหารให้กับกลุ่มคนเปราะบางชุมชน นอกจากนี้ยังได้ยกระดับองค์กรด้านอาชีพ เพื่อพัฒนาระบบ กระบวนการเสริมศักยภาพ และทักษะด้านอาชีพที่เหมาะสมและตรงต่อความต้องการของตลาด เพื่อการพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน
ดร.บวร ทรัพย์สิงห์ นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการสำรวจสถานการณ์แรงงานนอกระบบ กล่าวว่า แรงงานนอกระบบเป็น “การจ้างงานที่ไม่มีมาตรฐาน” เพราะลักษณะการจ้างงานส่วนใหญ่ไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน ไม่มีสัญญาจ้างงาน ไม่มีสิทธิสวัสดิการจากบริษัท ไม่ต้องเสียภาษี เช่น อาชีพรับจ้าง หาบเร่แผงลอย คนเก็บขยะ คนขับแท็กซี่ คนรับงานไปทำที่บ้าน และพนักงานโรงงานที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน สถานการณ์โควิด-19 สะท้อนชัดเจนว่า แรงงานกลุ่มนี้อาจมีสถานะยากจนเพิ่มขึ้นกว่า 10 ล้านคน เพราะมีรายได้น้อยลงจากมาตรการหยุดวงจรระบาดโควิด-19 แรงงานบางส่วนเปลี่ยนงานมาทำงานบนแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตได้
ดร.บวร กล่าวต่อว่า ปัจจัยทางสังคมมีส่วนกำหนดสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานนอกระบบด้วยการเร่งให้ “วัคซีน” แรงงานกลุ่มภาคบริการ แรงงานรับจ้าง จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนให้พวกเขามีทางออกในการใช้ชีวิตมากขึ้น เพราะจะสร้างความเชื่อมั่นให้กลุ่มแรงงานมีความปลอดภัย ลดเสี่ยงการติดโควิด-19 ขณะที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้วยกลไกพักชำระหนี้ และเยียวยาจิตใจให้คำปรึกษาในช่วงที่เผชิญวิกฤต เพราะกลุ่มคนทำงานส่วนใหญ่ได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน การหยุดงานหมายถึงการสูญเสียรายได้ทั้งหมดในการเลี้ยงครอบครัว
- 534 views