ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอปิยะสกล” ประธานคณะที่ปรึกษา ศบค. ห่วงใยกลุ่มแรงงานต่างด้าว เสนอ 2 ทางสำคัญควบคุมการระบาดโควิด ทั้งตั้งศูนย์คัดแยกผู้ป่วยต่างด้าว และเสนอขยายนิรโทษ เพื่อเปิดให้แรงงานมาขึ้นทะเบียนให้ถูกกฎหมายมากขึ้น

เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด19 (ศบค.) กล่าวว่า คณะที่ปรึกษา ศบค.ที่มี ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธานได้ห่วงใยและเสนอแนะเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว ซึ่งมีการประมาณการแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมาย ในกทม.และปริมณฑล ราว 1.3 ล้านคน อยู่ในกทม.ราว 5.8 แสนคน สมุทรสาคร 2.3 แสนคน สมุทรปราการ 1.6 แสนคน ปทุมธานี 1.3 แสนคน นนทบุรี 9.9 หมื่นคนและนครปฐม 9.3 หมื่นคน และแรงงานต่างด้าวที่ไม่ถูกกฎหมายทั่วประเทศประมาณการที่ 1 ล้านคน เพราะฉะนั้น หากไม่มีการดำเนินการอะไรจะเกิดปัญหาขึ้นจาก 3 ข้อ คือ 1.ผู้ที่ไม่ถูกกฎหมายเป็นผู้ไม่อยู่นิ่ง หลบหนีเคลื่อนย้ายตัวเองบ่อยๆ 2.แรงงานไม่ถูกกฎหมายจะอยู่กับแรงงานที่ถูกกฎหมายและเกาะกลุ่ม และ3.แรงงานมีที่พักแออัด พื้นที่จำกัด ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำสู่การควบคุมโรคได้ยาก

"คณะที่ปรึกษาฯจึงเสนอใน 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่ 1.ตั้งศูนย์คัดแยกผู้ป่วยของแรงงานต่างด้าว โดยตั้งในจุดใกล้ที่อยู่เดิมของแรงงาน เพื่อแยกผู้ป่วยออกมาซึ่งส่วนใหญ่จะแข็งแรงดี อาจเรียก แคมป์ควอรันทีน หรือแคมป์ไอโซเรชั่น ตัวอยางเช่น รพ.สนามแห่งหนึ่งในจ.ปทุมธานี ซึ่งมีการปรับปรุงจากตลาดเก่าในพื้นที่ ให้อากาศถ่ายเทดี และมีเตียง และให้ต่างด้าวที่ติดเชื้อแยกมาอยู่รวมกัน แล้วให้ชุมชนร่วมดูแล มีขอบรั้ว และส่งข้างส่งน้ำ เพราะแรงงานส่วนใหญ่ก็ทำงานในชุมชนรู้จักกันดี และ2.ในเชิงกฎหมาย ต้องขยายนิรโทษ เพื่อให้มาขึ้นทะเบียนการเป็นแรงงานถูกกฎหมายและเข้าสู่ระบบจ้างงานถูกกฎหมาย" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว