ผู้ที่มีโรคประจำตัวส่วนหนึ่งยังคงกังวลใจกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ว่าจะมีผลต่ออาการของโรคที่เป็นอยู่หรือไม่ สำนักข่าว Hfocus ร่วมกับ The Active และ PostToday จัดรายการถาม-ตอบเคลียร์ทุกข้อสงสัย “รู้ชัดก่อนฉีด เคลียร์ปมคาใจ วัคซีนโควิด-19” เพื่อคลายข้อสงสัยเหล่านี้ โดยมีวิทยากรร่วมเสวนาออนไลน์ ได้แก่ พล.อ.ท นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต ,รศ.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ อดีตนายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร รพ.จุฬาลงกรณ์ และ ศ.นพ. สมศักดิ์ เทียมเก่า สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถ่ายทอดสดผ่าน facebook live ทั้ง 3 สำนัก เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่่ผานมา
พล.อ.ท.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไต กล่าวถึงประเด็นการเลือกวัคซีนในแต่ละยี่ห้อว่า การศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีน ในแง่ของผลข้างเคียง ประสิทธิภาพก็ใกล้เคียงกันมาก แอสตร้าเซเนก้าเข็มเดียวน้อยกว่าไฟเซอร์ 2 เข็มอยู่ไม่มาก แต่วัคซีนแทบทุกตัวป้องกันไม่ให้คนที่ติดคนโควิดเกิดอาการหนักและรุนแรง และลดอัตราการเสียชีวิตอย่างชัดเจน นี่เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด
ผู้ที่มีโรคประจำตัวไม่ได้หมายความว่าจะมีโอกาสติดเชื้อโควิดมากกว่าคนทั่วไป แต่ปัญหาคือเมื่อติดแล้วจะเกิดอาการรุนแรง มีโอกาสที่ปอดจะอักเสบและเสียชีวิต จึงควรได้รับการฉีดวัคซีน ในขณะที่คนแพ้ยา แพ้อาหาร แพ้นม หรือเป็นภูมิแพ้ต่างๆก็สามารถฉีดวัคซีนได้ เพราะวัคซีนไม่ได้มีสารเหล่านี้ผสมอยู่ และไม่ได้มีการห้ามไม่ให้คนที่มีอาการแพ้ฉีดวัคซีน ในต่างประเทศที่มีการฉีดกันมากไม่พบว่าทำให้โรคประจำตัวกำเริบมากขึ้น ผลดีมีมากกว่าเยอะ เพราะวัคซีนจะช่วยป้องกันในเรื่องการเสียชีวิต
สำหรับผู้ป่วยโรคไต พล.อ.ท นพ.อนุตตร แนะนำว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับวัคซีน ยกเว้นว่าผู้ป่วยเพิ่งได้รับการปลูกถ่ายไตในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ยังอยู่ในช่วงที่ได้ยากดภูมิจำนวนมาก ควรปรึกษาหมอเลื่อนวันฉีดวัคซีนออกไปก่อนเพื่อให้วัคซีนมีประสิทธิภาพมากที่สุด
พล.อ.ท.นพ.อนุตตรกล่าวว่า ประสบการณ์จากสหรัฐอเมริกาที่ให้วัคซีนในผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไต ไม่พบว่ามีการสลัดไตเพิ่มมากขึ้นกว่าผู้ป่วยที่ไม่ได้รับวัคซีน ข้อแนะนำของทางสมาคมโรคไตและผู้เชียวชาญด้านโรคไต คนไข้ที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต ปลูกถ่ายและฟอกไตทางช่องท้องควรจะได้รับวัคซีนโควิด ถ้าผ่านพ้นช่วยที่ปลูกถ่ายไตไปแล้วระยะหนึ่งควรปรึกษากับแพทย์ที่ดูแลอยู่ สามารถให้วัคซีนได้
สำหรับผู้ป่วยความดัน มีรายงานว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนมีความดันขึ้นนิดหน่อยแต่ไม่มาก ส่วนใหญ่พักแล้วก็จะหาย บางคนเครียดและกลัวโดนเข็มเข้าไปก็อาจความดันขึ้นนิดหน่อย ถ้าความดันเกิน 160 ก็จะไม่ฉีด แม้จะยังไม่มีข้อมูลว่าฉีดในคนไข้ที่ความดันเกิน 160 แล้วจะมีปัญหาหรือไม่ สมาคมแพทย์โรคหัวใจกำลังปรับเกณฑ์นี้อยู่
กรณีผู้ป่วยเบาหวานก็สามารถฉีดวัคซีนป้องกันโควิดได้ ยกเว้นกรณีเดียวคือวันที่มาฉีดแล้วเกิดอาการของโรคกำเริบเฉียบพลัน เช่นวันที่มาฉีดแล้วความดันเพิ่มขึ้นไป 180 ที่เรียกว่าสภาวะความดันวิกฤต หรือเกิดภาวะฉุกเฉินของเบาหวานน้ำตาลขึ้น 500-600 ก็คงไม่เหมาะที่จะฉีดวัคซีน
รศ.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ อดีตนายกมะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร รพ.จุฬาลงกรณ์ ให้ความเห็นกรณีผู้ป่วยโรคมะเร็งกับฉีดวัคซีนโดยยืนยัน ว่า สามารถฉีดได้ แต่ในคนไข้ที่ได้รับยาเคมีบำบัดหรือปลูกถ่ายไขกระดูกไปแล้วต้องทิ้งระยะห่างในการรับวัคซีนนานขึ้นนิดหน่อย โดยเฉพาะมะเร็งโรคเลือดบางอย่าง เช่น ลูคีเมีย การจะรับวัคซีนควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลอยู่ว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมจะฉีดหรือไม่
การฉีดวัคซีนแล้วทำให้โรคมะเร็งแย่หรือไม่ รศ.นพ.วิโรจน์ยืนยันว่า คำตอบคือมีผลน้อยมาก เพราะภูมิคุ้มกันที่จะไปต่อต้านตัวไวรัสไม่มีปฏิกิริยาอะไรกับโรคมะเร็ง มั่นใจได้เลยว่าฉีดวัคซีนไม่ทำให้โรคมะเร็งแย่ลงแน่นอน
"ส่วนใหญ่คนไข้กลัวโรคมะเร็งมากกว่าโควิด กลัวว่ารับวัคซีนไปแล้วจะทำให้อาการโรคมะเร็งแย่ลง มะเร็งที่พบในบ้านเราส่วนใหญ่เป็นมะเร็งปอด ซึ่งเป็นอวัยวะเป้าหมายของโควิดเหมือนกัน มีผู้รวบรวมทางยุโรปและอเมริกาพบว่าเป็นผู้ที่เป็นมะเร็งปอดแล้วติดโควิดโอกาสตายสูงถึง 30 % ซึ่งเห็นชัดว่าถ้าเป็นมะเร็งด้วยและเป็นโควิดด้วยจะอันตราย แต่คนไข้มะเร็งอื่นๆ ไม่ได้เสียชีวิตจากโควิดมากนัก ถ้าไม่ได้มีการแพร่กระจายของโรคเข้าปอด”
ข้อสงสัยว่าผู้ป่วยมะเร็งฉีดวัคซีนแล้วจะมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน รศ.นพ.วิโรจน์ยืกล่าวว่า ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่มีผลต่อภูมิคุ้มกันโดยรวมของร่างกาย เช่น รับยาเคมีบำบัด ฉายรังสี หรือปลูกถ่ายไขกระดูก สิ่งเหล่านี้จะทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายลดลง ในทางเดียวกันถ้าเรารับการฉีดวัคซีนเราต้องมีภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ดีพอเพื่อจะสร้างภูมิคุ้มกันออกมาต่อต้านโควิด ฉะนั้นควรฉีดวัคซีนโควิดก่อนที่จะเริ่มการรักษาเหล่านี้
อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ป่วยมะเร็งโรคเลือด ปลูกถ่ายไขกระดูก หรือผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการรับยา ต้องประเมินความเสี่ยงของโรคมะเร็งกับความเสี่ยงของโควิด การฉีดวัคซีนให้คนไข้ที่รับยาเคมีบำบัดเชื่อว่ามีประโยชน์แน่ ผลข้างเคียงของวัคซีนก็น้อยและไม่มีผลต่อโรค แต่ในคนไข้ที่ปลูกถ่ายไขกระดูกหรือเป็นมะเร็งโรคเลือดบางอย่าง ซึ่งได้รับยาบางตัวซึ่งไปกวาดล้างเซลล์ที่สร้างภูมิต้านทาน ต้องระวัง ควรปรึกษาแพทย์ที่
ศ.นพ. สมศักดิ์ เทียมเก่า สาขาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ข้อมูลสำหรับผู้ป่วยโรคระบบประสาทว่า ผลของการฉีดวัคซีนที่ทำให้เกิดอาการที่กับประสาทนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นจริง และเกิดขึ้นหลังการฉีดวัคซีนได้ไม่นาน ช่วง 5-15 นาที ส่วนใหญ่เป็นอาการรู้สึกชา เจ็บแปล๊บๆ ในตำแหน่งที่ฉีดแล้วจะเริ่มมาที่นิ้วมือ ที่แขนส่วนปลายของข้างที่ฉีดวัคซีน สักพักจะไปที่เท้าและขาข้างเดียวกับที่ฉีด โดยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการพูดไม่ชัด ปากเบี้ยว หลับตาไม่สนิท จะมีแต่อาการทางด้านความรู้สึก ส่วนอาการอ่อนแรงแทบจะเรียกได้ว่าไม่อ่อนแรงเลย สามารถยกแขนขาทำกิจกรรมต่างๆได้ไม่ถนัด แต่อาการที่มรคนบอกว่าเป็นอาการของหลอดเลือดสมอง โรคอัมพฤกษ์ อัมพาตนั้นไม่จริง
ศ.นพ.สมศักดิ์ยืนยันว่า ในช่วงแรกของการฉีดวัคซีนต้องให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของผู้รับวัคซีน สัปดาห์แรกก็มีผู้ป่วยอาการแบบนี้เป็นระยะ สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย เก็บข้อมูลทั้งหมด ทุกรายได้มีการตรวจ MRI สมอง-หลอดเลือด ไม่พบความผิดปกติ ติดตามอาการคนไข้ไปพบส่วนใหญ่จะหายดีภายในเวลา 72 ชั่วโมง แต่มีบางรายยังคงมีอาการยุบยิบที่ปลายนิ้วมือเล็กน้อย เพราะฉะนั้นโดยสรุปคือเกิดขึ้นได้จริงแต่ไม่ใช่อาการของโรคอัมพาตหรือหลอดเลือดสมอง เราเรียกว่าเป็นอาการความผิดปกติทางระบบประสาทแบบชั่วคราวและหายได้เอง
“คนทั่วไปก็มีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้อยู่แล้ว ในประเทศไทยประมาณ 340 ต่อประชากร 100,000 คน เกิดขึ้นในทุกๆ วันและในทุกๆ จังหวัด อย่างใน จ.ขอนแก่น เกิดเคส Stroke วันละ 16 เคสอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเวลาที่เราฉีดวัคซีนเสร็จเราก็ต้องมาเฝ้าระวังอาการเหล่านี้ติดตามอาการอยู่ประมาณ 30 นาที ส่วนเกิดขึ้นได้อย่างไรในปัจจุบันยังไม่มีใครทราบอย่างแน่ชัด แต่เป็นความผิดปกติดที่พบได้จริง ที่ผมดูแลอยู่ก็พบได้ประมาณ 5 คนต่อประชากร 1 หมื่นคน ส่วนใหญ่หายได้เองทั้งหมด"
ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า วัคซีนไม่ได้มีผลต่อระบบประสาท แต่หากคนไข้มีอาการหัวใจเต้นผิดปกติซึ่งก็ทำให้เกิดโรคอัมพาตได้อยู่แล้วจากลิ่มเลือดหัวใจ โดยในวันฉีดวัคซีนมีความกลัว ระบบประสาทอัตโนมัติหลั่งสารเคมีออกมามากขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น โอกาสที่หัวใจจะเต้นผิดจังหวะก็สูงมากขึ้น ความดันสูงมากขึ้น ก็อาจจะกระตุ้นให้เกิดอัมพาต ดังนั้นคนไปฉีดวัคซีนควรพยายามผ่อนคลาย ใช้ชีวิตตามปกติ ไม่ต้องหยุดยาที่ทานตามปกติ เพื่อลดความกังวล พักผ่อนให้เพียงพอ
ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการด้านประสาทและสมอง ศ.นพ. สมศักดิ์ เปิดเผยว่า การฉีดวัคซีนโควิดยังไม่มีผลทางการแพทย์ใดยืนยันว่าส่งผลข้างเคียงต่อการรักษาโรคทางระบบประสาททุกชนิด ทั้งหลอดเลือดสมองที่พบบ่อย หรือโรคลมชัก
"ผมเน้นย้ำเรื่องโรคลมชัก คือมีประเด็นว่าโรคที่ยังควบคุมไม่ได้ ก็จะมีข้อสงสัยว่าคนที่เป็นโรคลมชักอยู่บ้าง เดือนละ 1-2 ครั้ง หรือสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง สามารถฉีดวัคซีนได้หรือไม่ ยืนยันว่าฉีดได้ เมื่อเรารู้ผลกระทบบางส่วนที่จะเกิดขึ้นกับคนไข้ได้บ่อยก็คือมีไข้หลังจากฉีดวัคซีน เพราะฉะนั้นในกรณีของคนไข้โรคลมชักอาจจะต้องแนะนำว่าขอดูประวัติเก่าๆ เวลาฉีดวัคซีนชนิดอื่นๆ ที่ฉีดกันอยู่แล้วว่าคนไข้เคยมีอาการผิดปกติหรือไม่เพื่อนำมาใช้เป็นแนวทางส่วนหนึ่ง ถ้ายังชักอยู่บ่อยๆ อยากให้เขาทานยาลดไข้ก่อนและหลังฉีด ถ้ามีประวัติชักเกือบทุกวันอาจจะให้ยาระงับชักชั่วคราวกินคืนก่อนที่จะฉีด"
โรคปวดศีรษะ ไมเกรน มีคนถามมาเยอะมากว่าหลังจากที่ได้รับวัคซีนไปแล้วมีอาการทางสายตาที่ผิดปกติ คาดว่าจะเป็นอาการทางหลอดเลือดขดเกร็งหรือรัดตัวหรือไม่ ก็จะเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคปวดศีรษะไมเกรนแต่สามารถที่จะฉีดได้ ยังไม่ม่ีข้อมูลใดๆ ว่าเราต้องหยุดยาแก้ปวดศีรษะก่อนฉีดวัคซีนทั้งสิ้น
โรคอื่นๆ เช่นเส้นประสาทอักเสบ ต้องบอกว่าจากการฉีดวัคซีนทุกชนิดที่ใช้กันมาแล้วก็มีโอกาสเกิดเบลล์พัลซี่(ใบหน้าเบี้ยวครึ่งซีก) หรือเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 อักเสบ พบได้อยู่แล้วไม่ได้พบบ่อยกว่าประชากรปกติทั่วไป คนที่เป็นเบลเพาซีก็ฉีดได้ แต่ถ้าเพิ่งเป็นใหม่ๆ สัก 1-2 สัปดาห์ ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการรักษาโดยให้สเตียรอยด์ขนาดสูง ผมแนะนำว่าควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อน
“โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง MG ซึ่งผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะได้รับสเตียรอยด์ขนาดต่ำๆ หรือยากดภูมิคุ้มกัน ก็สามารถฉีดวัคซีนได้ ยังไม่มีข้อมูลว่าภูมิคุ้มกันต่างๆ จะบกพร่องผิดไป หรือคนที่เป็นโรคสมองอักเสบจากภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเราเองหรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง ก็ไม่มีข้อมูลว่าฉีดวัคซีนแล้วจะส่งผลเสีย เพราะฉะนั้นยืนยันว่าสามารถฉีดวัคซีนได้" ผู้เชียวชาญด้านสาขาประสาทวิทยา กล่าว
ส่วนผู้ป่วยโรคหัวใจที่ทานยาอยู่ ศ.นพ. สมศักดิ์ แนะนำว่า รับวัคซีนได้ตามปกติโดยไม่จำเป็นต้องหยุดยา เพียงแต่ต้องแจ้งให้พยาบาลหรือแพทย์ทราบว่าทานยาละลายลิ่มเลือดอยู่หรือไม่ เนื่องจากหลังการฉีดจะต้องใช้สำลีแห้งกดไว้นานกว่าปกติเล็กน้อย ประมาณ 1-2 นาที และไม่มีการนวดคลึง
"ส่วนที่ออกมาบอกว่าจะเกิดลิ่มเลือดอุดตันก่อนฉีดวัคซีนต้องทานาละลายลิ่มเลือด หรือยาขยายหลอดเลือดก่อนไปฉีดหรือไม่ ต้องบอกว่าไม่มีความจำเป็นใดๆทั้งสิ้น ใช้ยาอะไรอยู่ก็ทานอย่างนั้น
ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า คนไข้ที่เป็นหลอดเลือดสมองจากลิ่มเลือดของหัวใจ ต้องทานยาละลายลิ่มเลือดเช่น วอร์ฟารีน หรือกลุ่มยาต้านลิ่มเลือดใหม่ๆ แพทย์จะแนะนำว่าห้ามฉีดยาเข้ากล้าม เพราะอาจจะเกิดก้อนเลือด แต่ฉีดวัคซีนได้ แม้จะเป็นการฉีดเข้ากล้ามเหมือนกัน แต่การฉีดวัคซีนใช้เข็มเล่มเล็กมากซึ่งจะไม่เกิดเลือดออกจึงสามารถฉีดได้ ไม่มีข้อห้ามหรือต้องหยุดยาใดๆ ถ้าผลการตรวจเลือดครั้งสุดท้ายไม่ได้สูงเกิน 3 เท่า ถ้าเกิน 3 เท่าหมอก้จะปรับยาะลายลิ่มเลือดลง ถ้าหมอไม่ได้แนะนำเพิ่มเติมก็สามารถฉีดได้
- 1545 views