การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักหน่วงต่อจังหวัดภูเก็ต เมืองท่องเที่ยวหลักของประเทศไทย กว่า 1 ปีแล้วที่นักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเป็นกลุ่มหลักแทบไม่ได้เดินทางมายังจังหวัดภูเก็ตเลย การสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวกลับมา จึงต้องเริ่มจากการรับรองว่าคนในท้องถิ่นปลอดภัยจากการระบาด
ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบศ.) มีมติเห็นชอบแผนเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว โดยกำหนดเงื่อนไขว่าประชาชนในพื้นที่ต้องได้รับวัคซีนทั่วถึง นักท่องเที่ยวและนักธุรกิจต่างชาติต้องได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบถ้วนและมีผลตรวจเป็นลบไม่ต้องกักตัว มีผล 1 ก.ค. 2564 นำร่องที่ จ.ภูเก็ต โดยมีเงื่อนไขคือคนภูเก็ตต้องได้รับวัคซีนโควิด-19 ประมาณ 70 % ของประชากรทั้งหมด ก่อนขยายไปกลุ่มจังหวัดอันดามัน รวมถึงเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ พัทยา ชลบุรี ซึ่งคาดจะเริ่ม 1 ต.ค.นี้
สำหรับจังหวัดภูเก็ต โจทย์แรกคือจะทำอย่างไรให้คนภูเก็ตอย่างน้อย 70 % มีความต้องการจะฉีดวัคซีนครบทั้ง 2 เข็มภายในเวลาที่กำหนด โจทย์ต่อมาคือจะทำอย่างไรให้การกระจายวัคซีนครอบคลุมทั่วถึงคนในท้องถิ่นมากที่สุด ทั้ง 2 โจทย์ที่ว่านี้จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างระบบ "ภูเก็ตต้องชนะ" โดยการแจ้งให้กับประชาชนที่ประสงค์รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ลงทะเบียนผ่านทาง www.ภูเก็ตต้องชนะ.com ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา
นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เปิดเผยถึงระบบ "ภูเก็ตต้องชนะ" ว่า จุดเริ่มต้นของแนวคิดการทำระบบภูเก็ตต้องชนะ คือการฉีดวัคซีนให้กับคนจำนวนมาจะต้องหาวิธีจัดการให้ประชาชนมีคิว มีวันนัด เป็นกลุ่ม(สล็อต) เพื่อไม่ให้มาแออัดกันที่โรงพยาบาล ซึ่งขณะนั้นระบบ‘หมอพร้อม’ยังไม่ได้เปิดใช้ให้ลงทะเบียน
( หน้าเว็บไซต์ ภูเก็ตต้องชนะ.com)
"ข้อมูลการฉีดวัคซีน เราปรับเปลี่ยน เราแจ้งยกเลิก เปลี่ยนวันได้ง่าย แล้วเอาข้อมูลมาทำประโยชน์อย่างอื่นได้ด้วย ฉีดไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์ ติดตามการป้องกันได้กี่เปอร์เซ็นต์ เลยแจ้งไปที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่าขอให้ภูเก็ตต้องชนะ ซึ่ง สธ. ก็ตกลง"
การลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ภูเก็ตต้องชนะ ไม่เพียงแต่คนภูเก็ตเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประชากรแฝงซึ่งเข้ามาทำงานในจังหวัดภูเก็ตอีกด้วย โดยการรับรองผ่านบริษัท โรงแรม ร้านค้าที่ทำงานอยู่ ที่สำคัญสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขเพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากที่สุดเช่นหากวัคซีนจัดส่งมาถึงภูเก็ตเร็วก็จะฉีดให้กับประชาชนที่ลงทะเบียนไว้ให้เร็วขึ้น โดยมีระบบแจ้งผ่าน sms ซึ่งประชาชนที่ได้รับข้อความสามารถมาฉีดได้ทันที
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางกระแสที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดและสับสนเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน นอกเหนือจากการให้ช้อมูลที่ถูกต้องแล้ว ยังมีกระบวนการสร้างแรงจูงใจให้มารับวัคซีน อาทิ การทำสติกเกอร์ติดไว้ที่บัตรประชาชนสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว
“ทีมงานได้ไอเดียในการทำขึ้นมาเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนมาฉีด โดยติดต่อกับทางห้างร้านต่างๆ เพื่อให้คนที่มีสติ๊กเกอร์สามารถนำไปใช้เป็นส่วนลดต่างๆได้ด้วย ซึ่งขณะนี้ทางหอการค้าจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ ประโยชน์ของสติ๊กเกอร์ อย่างน้อยก็ identify ได้ว่าเขาฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว โรงแรมไหนที่จะเปิดรับนักท่องเที่ยวต้องฉีดวัคซีน 2 เข็มแล้วเท่านั้น การที่จะพกบัตรหรือพกใบประกาศต่างๆ มันเกะกะ แต่ทุกคนต้องพกบัตรประชาชนอยู่แล้ว สามารถตรวจสอบได้ เมื่อมีสติ๊กเกอร์ 2 ดวงก็แสดงว่าได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้ว ทำให้เปิดรับนักท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัวได้ หรือการผ่านเข้าเมืองมาถ้ามีสติ๊กเกอร์ก็ไม่ต้อง swab หรือติดต่อร้านค้าก็ได้ส่วนลด" นพ.เฉลิมพงษ์ กล่าว
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตเล่าถึงเบื้องหลังของการทำสติกเกอร์ว่า เดิมคิดว่าจะออกบัตรแข็งให้ประชาชนพกเพื่อนำไปแสดงาฉีดวัคซีนครบแล้ว แต่มีต้นทุนบัตรละ 10 บาท และไม่มั่นใจว่าประชาชนจะพกบัตรฉีดวัคซีนจริงหรือไม่ น่าจะหาวิธีที่สะดวกกว่า มีต้นทุนน้อยกว่า และเห็นว่าหากทำสติกเกอร์ติดบัตรประชาชนซึ่งทุกคนพกติกดตัวอยู่แล้วจะสะดวกและเห็นผลมากกว่า รวมทั้งต้นทุนก็ต่ำมากเพียงดวงละ 17 สตางค์
(สติกเกอร์ติกบัตรประชาชนสำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว)
การพัฒนาระบบเพื่อบริหารจัดการการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนจำนวนมาก ปัญหาก็ย่อมมีมากตามไปด้วย แต่การแก้ปัญหาคือบทเรียน คือประสบการณ์ที่ทำให้เกิดระบบที่เหมาะสมที่สุด มีความพร้อมมากที่สุด
"ภูเก็ตต้องชนะ.com เป็นเว็บไซต์ที่ต้องอาศัยปัญหาอุปสรรคต่างๆ มาแก้ไข จนสามารถตอบบริบทของ จ.ภูเก็ต สะดวกกับผู้ให้บริการ ผ่านการปรับมาแล้วหลายอย่าง หลายขั้นตอน เช่น ช่วงนี้ผมขอฉีดที่สะพานหินจุดเดียว ผมก็ปล่อยสล็อตผ่าน sms ไปว่าผมจะฉีดที่สะพานหิน อีกวันหนึ่งผมขอไปฉีดที่หาดกะรนให้กลุ่มราไวย์ อีกวันขอเปลี่ยนไปฉีดทั้ง 5 จุด หรือเดือน มิ.ย.จะมีวัคซีนมาอีก 2.4 แสนโดส ผมจะขอฉีดเพิ่มเป็น 9 จุด เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาแบบนี้เราทำได้ มันเข้าถึงและตอบที่เราต้องการ แม้กระทั่งการลดสล็อตที่แน่นเกินไปจากชั่วโมงละ 300 คน ให้เหลือ 250 คน เป็นการปรับรายละเอียดและสล็อตด้วยตัวของเราเอง ที่สำคัญคือเราเอาข้อมูลมาใช้ประโยชน์ได้ด้วยในการวิจัย คนที่ฉีดวัคซีนไปแล้วมีการลดของจำนวนผู้ป่วยโดยมีนัยสำคัญ ไม่ใช่ว่าภูเก็ตต้องชนะเหนือกว่าหมอพร้อม แต่มันตรงกับบริบทของคน จ.ภูเก็ตมากกว่า ทาง สธ.ก็ยินดีให้เราใช้ต่อ" นพ.เฉลิมพงษ์ กล่าว
(นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล )
ภูเก็ตต้องชนะ.com ไม่เพียงแต่จะเป็นช่องทางในการให้ประชาชนมาลงทะเบียนเพื่อขอรับวัคซีนเท่านั้น แต่ยังสามารถส่งข้อความ หรือส่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต้องการให้ไปถึงคนภูเก็ต ทั้งทางโทรศัพท์และเว็บไซต์ หรือจะเข้าไปขอใบรับรองการฉีดวัคซีนก็ได้เช่นกัน
"ตราบใดที่โลกนี้ยังไม่สงบจากโคโรน่าไวรัส ภูเก็ตต้องชนะก็จะเป็นช่องทางในการฉีดวัคซีนก่อน ในอนาคตอาจจะพัฒนาไปอย่างอื่น" ผู้อำนวยการ รพ.ภูเก็ตวชิระ สรุป
ด้านนายประชา อัศวธีระ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ภาคใต้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) กล่าวถึงแนวความคิดเริ่มต้นในการออกแบบระบบภูเก็ตต้องชนะ เนื่องจากทาง จ.ภูเก็ต มีแคมเปญ phuket tourism sandbox เปิดเมืองเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนแล้ว 2 เข็ม สามารถเข้ามาได้โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน
"การกักตัวกับการท่องเที่ยวมันแทบจะไปด้วยกันไม่ได้เลย จ.ภูเก็ต เป็นเมืองที่มีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหลัก รายได้ 90 % มาจากการท่องเที่ยว ถ้ายังเป็นแบบนี้ก็จะทำให้ภาคเศรษฐกิจหนักลงไปทุกวัน รัฐบาลก็ได้ให้ จ.ภูเก็ตทำ Phuket Sandbox โดยจะเปิดเมืองได้ต้องให้คนในพื้นที่ฉีดวัคซีนก่อนอย่างน้อย 70 % สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในพื้นที่ให้ได้ก่อน เราไม่ได้มองว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนเพียงฝ่ายเดียว แต่เรามองว่าคนในพื้นที่เองก็ต้องปลอดภัยด้วย"
ผู้อำนวยการ DEPA พื้นที่ภาคใต้ กล่าวว่า มีการหารือกันระหว่าง DEPA กับผู้ประกอบการด้านดิจิทัลใน จ.ภูเก็ต มีการพัฒนาระบบภูเก็ตต้องชนะร่วมกัน โดยหลักการคือทำระบบ Pre Register รวมถึงการนัดหมายประชาชนที่มาลงทะเบียน การฉีดวัคซีนในคนหมู่มากจะไม่ใช้การกระจายวัคซีนด้วยการให้ประชาชนไปโรงพยาบาล เพราะจะไปปะปนกับผู้ป่วยที่มาใช้บริการอื่นๆ ทำให้เกิดการติดขัดและเป็นการกระจายเชื้อได้อีก จึงวางคอนเซ็ปต์ให้กระจายวัคซีนให้ใกล้กับประชาชนมากที่สุด จึงตั้งจุดฉีดขึ้นมา 5 จุด เพื่อกระขายวัคซีน จึงเปิดเป็นเว็บไซต์ขึ้นมาให้คนไปลงทะเบียน
"รูปแบบการลงทะเบียนของภูเก็ตต้องชนะ ใช้ 2 รูปแบบใหญ่ๆ อย่างแรกคือลงทะเบียนผ่านทางองค์กรธุรกิจ องค์กรเอกชน ภาครัฐ ให้กลุ่มประชากรแฝงที่มาเป็นแรงงานในภาคธุรกิจหรือภาครัฐสามารถมาลงทะเบียนในระบบได้โดยให้หน่วยงานนั้นๆรับรอง อีกรูปแบบหนึ่งคือการลงทะเบียนแบบบุคคลธรรมดาเฉพาะคนภูเก็ตที่มีบัตรประชาชนเท่านั้น"
(ไฟดับระหว่างการฉีดวัคซีน)
สำหรับระบบการบริหารจัดการการฉีดวัคซีนนายประชากล่าวว่า ขึ้นอยู่กับทีมแพทย์ว่าต้องการฉีดวันละเท่าไหร่ ที่ผ่านมาเคยฉีดสูงสุดวันละ 15,000 โดส ตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ก็นำมาแบ่งสล็อต สล็อตละ 1 ชั่วโมงจะมีกำลังในการฉีดเท่าไร แล้วจึงกระจายสล็อตนั้นลงไป จากนั้นก็เขียนโปรแกรมขึ้นมาเพื่อจัดสรรคิวสำหรับคนที่ลงทะเบียนเข้ามาโดยส่ง sms ไปบอกว่าได้รับการจัดสรรให้ไปรับวัคซีนวันไหน เวลาไหน ทำให้การบริหารจัดการหน้างานได้ราบรื่นขึ้น รู้ว่าจะมีผู้เข้ารับวัคซีนเวลาไหน จำนวนกี่คน เป็นใครบ้าง แล้วส่ง Whitelist ให้ สธ.
อย่างไรก็ตาม แม้จะดูว่าระบบบการลงทะเบียนภูเก็ตต้องชนะสามารถจัดการสล็อตได้แล้ว แต่ก็เคยผ่านปัญหาที่ไม่ได้คาดคิดเอาไว้แต่แรก
"ปัญหาคือถ้าเป็นผู้ประกอบการที่มาจากภาคเอกชนหรือโรงแรม การจะให้พนักงานหยุดงานไปฉีดวัคซีนก็จะไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ จึงเขียนโปรแกรมเพิ่ม เช่น มีพนักงาน100 คน จะกระจายไปยังจุดต่างๆ ไม่ให้กระจุกตัว ไม่เช่นนั้นโรงแรมก็จะต้องปิดเลยเพราะไม่มีพนักงาน หรือจัดสล็อตแล้ว แต่คนๆ นั้นไม่สะดวกในเวลาดังกล่าว ทำให้ช่วงแรกมีคนที่ไม่มารับการฉีดวัคซีนอยู่ประมาณ 30 %ของจำนวนทั้งหมดที่นัดไป การแก้ปัญหาคือนัดแบบ Over Booking เพื่อให้คนเข้าไปเต็มกำลัง 100 % แต่ล็อต 2 ที่จะฉีดวันที่ 18 พ.ค.นี้เราปรับระบบใหม่ คือให้ประชาชนมาเลือกจุดฉีด เลือกรอบและวันได้ด้วยตัวเอง เพื่อลดจำนวนคนที่ไม่มารับวัคซีนตามนัด" ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ภาคใต้ DEPA กล่าว
สำหรับจุดเด่นของภูเก็ตต้องชนะ นายประชา ให้ความเห็นว่า อยู่ที่การดีไซน์ตามรูปแบบการทำงานของ จ.ภูเก็ต ซึ่งแตกต่างจากหมอพร้อมที่มีลักษณะคล้ายกับการตัดเสื้อตัวเดียวแล้วให้คนใส่ทั้งประเทศ
"ที่ผมพูดนี้ไม่ได้หมายความว่าหมอพร้อมไม่ดีนะครับ แต่หมอพร้อมเป็นการดีไซน์ในรูปแบบหนึ่ง ภูเก็ตต้องชนะมองในมิติที่เราเกิดขึ้นมาก่อน ภูเก็ตน่าจะเป็นที่แรกในการกระจายวัคซีนแบบ mass ก่อนหน้านี้อาจจะมีการกระจายในหลักพันคนตามจังหวัด ใช้ระบบ manual โทรตามได้ แต่เมื่อต้องมาฉีดวันละ 1 หมื่นรายขึ้นไป ก็เลยต้องการระบบเข้ามา ในวันที่เราเริ่มต้น‘หมอพร้อม’ยังเป็นเพียงระบบที่ใช้ติดตามอาการ ระบบภูเก็ตต้องชนะจึงดีไซน์ทุกอย่างตามรูปแบบและโมเดลตามที่พื้นที่ต้องการ สะดวกต่อบุคลากรผู้ที่ปฏิบัติหน้า เสียงตอบรับจากประชาชนที่ไปรับวัคซีนคือความรวดเร็วและเป็นระบบ" นายประชา กล่าว
ด้านกลยุทธ์สร้างแรงจูงใจให้กับประชาชนมีความต้องการจะรับการฉีดวัคซีน ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ภาคใต้ DEPA เล่าว่า มีกระแสชาวบ้านกลัวที่จะได้รับอันตรายจากการฉีดวัคซีน ภาคธุรกิจก็ได้เข้ามาร่วมทำแคมเปญ "ฉันฉีดแล้ว" เขียนเป็นภาษาใต้ว่า "ฉ้านฉี้ดแหล่ว"
"ตรงนี้ทำเหมือนกับเป็นแฟชั่น เอากลุ่มที่เป็น influencer แกนนำองค์เอกชน มาถลกแขนเสื้อให้เห็นว่าทุกคนต้องร่วมใจกันฉีดเพราะเป็นการทำเพื่อตัวเอง เพื่อครอบครัว และเพื่อจังหวัด เรามีบิลบอร์ดแคมเปญนี้ขนาดใหญ่ คนที่ฉีดแล้วหลายคนก็ได้ไปสนุกกับการถลกแขนเสื้อขึ้นถ่ายรูปกับบิลบอร์ด แชร์ภาพในเฟซบุ๊ก ผ่านโซเชียลมีเดีย เป็นการกระจายเพื่อสร้างกระแส ในขณะที่ทีมคุณหมอก็คิดเรื่องการทำสติ๊กเกอร์ขึ้นมา เมื่อฉีดเข็มที่ 1 และเข็มที่ 2 โดยสติ๊กเกอร์นี้หลายร้านค้าก็จะให้ส่วนลดกับคนที่รับวัคซีนแล้ว เหมือนเป็นการช่วยกันสร้างกระแสให้ทุกคนออกมาฉีดวัคซีน" นายประชากล่าว
นอกจากนี้ นายประชายังเปิดเผยด้วยว่า ในอนาคตระบบภูเก็ตต้องชนะนอกจากจะช่วยในการกระจายวัคซีนแล้ว ขณะนี้ทางสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวกำลังติดต่อกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่มีโครงการ Amazing Thailand Safety and Health Administration(SHA) ซึ่งให้กับทางโรงแรมต่างๆที่ถูกสุขลักษณะอนามัย
"สมาคมการท่องเที่ยว จ.ภูเก็ต กำลังคุยกับ ททท.อยู่ว่าอาจจะต่อยอดจาก SHA เป็น SHA Plus เพื่อเช็คว่าสถานประกอบการนั้นๆ พนักงานได้รับวัคซีนเกิน 70 % หรือไม่ ระบบภูเก็ตต้องชนะก็จะทำงานร่วมกับระบบของ ททท. เพื่อทำ Certified เพิ่มเติมให้กับกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว นั่นหมายความว่าจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวที่มาใช้บริการ นอกจากนี้ทางจังหวัดอาจจะใช้เข้าไปจัดการข้อมูลประชากรแฝง ช่วยรณรงค์ในการให้คนกลุ่มนี้ย้ายทะเบียนบ้านมาเป็นคนภูเก็ต เนื่องจากคนภูเก็ตที่ปรากฏตามทะเบียนบ้านเองน้อย แค่ 4 แสนกว่าคน ถ้าเราเพิ่มประชากรในพื้นที่ได้ก็อาจจะส่งผลต่อตัวงบประมาณ การบริหารจัดการที่ดีขึ้น”นายประชากล่าว
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก facebook โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต
- 878 views