สธ.แจง รพ.บุษราคัม ใช้งบ 13 ล้าน ไม่ใช่ 200 ล้าน เตรียมฝ่ายกฎหมายเอาผิดเฟคนิวส์ ย้ำบริหารจัดการด้วยงบประมาณเหมาะสม เพราะจัดรูปแบบเหมือนโรงพยาบาล รักษาผู้ป่วยสีเหลือง มีเครื่องออกซิเจน รองรับได้ 1,092 เตียง สามารถขยายได้ถึง 5,000 เตียง พร้อมวางแผนอนาคตจัดเป็นจุดฉีดวัคซีนโควิด19
เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงมาตรฐานการบริหารจัดการและดูแลผู้ป่วยโรงพยาบาลบุษราคัม ที่อิมแพคเมืองทองธานี ว่า โรงพยาบาลบุษราคัม เจตนาต้องการสร้างเป็นรพ. ไม่ใช่แค่รพ.สนาม แต่เราต้องการให้สามารถรักษาคนไข้ได้ โดยใช้งบประมาณ 13 ล้านเศษ ไม่ใช่ 200ล้านบาทเหมือนที่เฟคนิวส์แชร์กัน จริงๆ สถานที่ห้องที่เราจัดมีการแยกห้อง ให้เป็นส่วนตัว และคนไข้ที่เรามา เรามีเครื่องมือพร้อม มีเครื่องออกซิเจนสามารถเสียบได้ที่หัวเตียง คล้ายๆกับเตียงคนไข้ในรพ.ทั่วไป โดยเราต่อท่อออกซิเจนจากนอกอาคารเข้ามา ขณะที่หากคนไข้ที่ต้องการเครื่องออกซิเจนความดันสูง ก็สามารถดูแลได้ เรามีห้องความดันลบ
นอกจากนี้ ยังมีรถเอกซเรย์ระบบดิจิทัลพระราชทาน เพื่อดูคนไข้แต่ละคนว่า มีอาการผิดปกติ มีปอดบวมหรือไม่ เพื่อรักษาได้ที่รพ.บุษราคัม แบบเบ็ดเสร็จ เพียงแต่หากอาการหนักหรือรุนแรงขึ้นก็สามารถส่งต่อรพ.อื่นๆได้เช่นกัน ทั้งนี้ หากเป็นรพ.สนามธรรมดา จะเป็นการสังเกตอาการ และหากอาการหนักขึ้นก็จะส่งต่อไป แต่รพ.บุษราคัมสามารถดูแลครบวงจร และมีศักยภาพ 1,092 เตียง และสามารถขยายได้ถึง 5,000 เตียง ขณะนี้ทำเฟสแรกก่อน สำหรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง
“ขอยืนยันว่า รพ.บุษราคัม เป็นโรงพยาบาล และใช้งบประมาณ 13 ล้านเศษ ในการปรับปรุงโครงสร้าง และไม่ได้เป็นไปตามเฟคนิวส์ จนทำให้เกิดความเข้าใจผิด ขณะนี้ได้ให้กองกฎหมายของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาว่าจะดำเนินการกับข่าวปลอมอย่างไรต่อไป” รองปลัดสธ.กล่าว
นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุษราคัม กล่าวว่า โดยนโยบายของท่านรองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการสธ. และท่านปลัดสธ.อยากให้มีรพ.ที่ดูแลเฉพาะผู้ป่วยโควิด19 ที่มีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยอาการปานกลางหรือสีเหลือง ซึ่งทุกกรมในกระทรวงฯก็ช่วยกันดำเนินการตั้งแต่ต้นทาง ปลายทาง คือ ทั้งระบบบำบัดน้ำเสีย ไม่ให้กระทบต่อชุมชน ระบบการดูแลผู้ป่วย สร้างแบบระบบโรงพยาบาลทั้งหมด ส่วนบุคลากรในการดูแลมาจากทั่วประเทศในต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่สถานการณ์ลดลงหรือใกล้เคียงปกติ มีทั้งหมอ พยาบาล โดยมาจาก 14 จังหวัด รวมทั้งรพ.ของโรงเรียนแพทย์ คือ สงขลานครินทร์มาช่วยเช่นกัน โดยมีแพทย์ 20 กว่าท่าน พยาบาล 130 ท่าน และเภสัชกรอีกประมาณ 10 กว่าท่าน เพื่อรองรับการดูแลผู้ป่วยตั้งแต่เล็กน้อยถึงปานกลาง
“รพ.สนามทั่วไปจะดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว แต่รพ.บุษราคัม เราดูตั้งแต่สีเขียว และสีเหลือง ซึ่งผลการดำเนินงาน 4 วันที่ผ่านมามี 267 คน เป็นสีเหลือง 61 คน หรือ 20% และส่วนหนึ่งต้องใส่ออกซิเจน ขณะที่บางส่วนต้องส่งต่อเพราะเริ่มกลายเป็นสีแดง ซึ่งเรามีความพร้อมในการรองรับ ตอนนี้เพิ่งจะ 200 กว่าเตียงยังได้อีก 800 กว่าเตียง” นพ.กิตติศักดิ์ กล่าว และว่า สำหรับรพ.บุษราคัม มีพื้นที่ 2 หมื่นตารางเมตรหรือ 12 ไร่ครึ่ง เราแบ่งออกเป็นโซนหลักๆ 2 โซน คือ โซนแรก ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ออกซิเจน 270 เตียง และอีกโซน สำหรับผู้ป่วยทั่วไป และจะมีพื้นที่สำหรับพักผ่อน ทำเป็นสวนสนามหญ้าเทียม มีเก้าอี้นั่ง มีโทรทัศน์ให้ความบันเทิง มีกิจกรรมโดยกรมสุขภาพจิต เกี่ยวกับการผ่อนคลายความเครียด เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการดูแลคนไข้กลุ่มเด็ก ทั้งเด็กเล็ก เด็กโต จะมีของเล่นให้ด้วย
นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยที่จะเข้ามาที่รพ.บุษราคัมนั้น ขณะนี้อยากให้เป็นการผ่านระบบสายด่วน 1669, 1669 ทั้งนี้ ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการ สามารถเข้าพักในฮอสปิเทล(Hospitel) ได้ แต่หากเกิดปัญหากับผู้ป่วยทางระบบก็จะส่งข้อมูลมาที่เรา เพื่อเข้ารักษาใน รพ.บุษราคัม
นพ.ธงชัย กล่าวถึงการนำบุคลากรมาช่วย ว่า เราขอบุคลากรที่สมัครใจมาช่วย และมาจากพื้นที่ที่สถานการณ์ดีขึ้น ขณะเดียวกันเรามีระบบความปลอดภัย ทั้งผู้ป่วยและบุคลากร ทั้งนี้ เรารับผู้ป่วยจากการส่งต่อจากรพ. เป็นสเตปดาวน์ จากแรกเริ่มอาการรุนแรงหรือสีแดง และเริ่มดีขึ้นมาเป็นสีเหลือง จากรามา ศิริราชก็จะส่งมาที่รพ.บุษราคัม เพื่อให้เตียงสำหรับผู้ป่วยสีแดงในรพ.ว่างลง ทั้งนี้ การตั้ง รพ.บุษราคัมประมาณรองรับระยะเวลา 2 เดือน ซึ่งเชื่อว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับรพ.บุษราคัม ในอนาคตมีการวางแผนจัดบริเวณให้บริการฉีดวัคซีนโควิดด้วย
- 397 views