กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนวัคซีนโควิด 19 กรุงเทพมหานคร ฉีดให้ได้ 70 % หรือประมาณ 5 ล้านคน ภายใน 2 เดือน เริ่มมิถุนายนนี้ เพื่อควบคุมการระบาด สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ พร้อมเน้นค้นหาเชิงรุกในชุมชน

เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการควบคุมโรคในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ทำงานร่วมกับสำนักอนามัยกรุงเทพมหานครมาโดยตลอด ทั้งการวิเคราะห์ข้อมูล ประเมินสถานการณ์ ค้นหาผู้ป่วยในพื้นที่ และการค้นหาเชิงรุก ขณะนี้ใน กทม. พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน 30 จุด กระทรวงสาธารณสุขจึงร่วมดำเนินมาตรการทางสาธารณสุข 3 ด้าน เพื่อจำกัดวงการแพร่ระบาด

โดยมาตรการ 3 ด้าน ประกอบด้วย 1.การค้นหาในจุดที่มีการระบาดใหญ่ๆ ติดตามผู้สัมผัสให้อยู่ในความควบคุม รวมถึงตรวจเชื้อในกลุ่มที่มีความเสี่ยงเป็นระยะ 2.มาตรการส่วนบุคคล ซึ่ง กทม. ออกมาตรการบังคับให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ปิดสถานที่ และ 3.มาตรการองค์กร ซึ่งระยะหลังพบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในโรงงาน ล่าสุด คือ แคมป์คนงาน จากการรับประทานอาหาร ในที่ทำงาน และการรวมตัวสังสรรค์หลังเลิกงาน ดังนั้นความร่วมมือเจ้าของแคมป์คนงาน ต้องเข้มงวด บังคับกวดขัน มาตรการ DMHTT จะทำให้ควบคุมสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้วางแผนร่วมกับ กทม.ในการฉีดวัคซีนโควิด 19 ปูพรมในพื้นที่ที่มีการระบาด ให้ได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด และพร้อมที่จะสนับสนุนวัคซีนที่จะเข้ามาล็อตใหญ่ในเดือนมิถุนายน เพื่อฉีดใน กทม. ให้ได้ตามเป้าหมาย 70 % หรือประมาณ 5 ล้านคน ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน โดยจะฉีดประมาณเดือนละ 2.5 ล้านคน ซึ่งได้ผ่านที่ประชุมคณะกรรมการบูรณาการแก้ปัญหาโควิด 19 กทม. และต้องอาศัยความร่วมมืออย่างมากจากทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อควบคุมการระบาด และสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ โดยจะเริ่มฉีดในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป พร้อมกับการฉีดต่างจังหวัดควบคู่กันไป ให้เกิดความครอบคลุมมากที่สุด