กรมทรัพย์สินทางปัญญา มีคำสั่งปฏิเสธคำขอรับสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์รูปแบบเม็ด เหตุไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ส่งผลให้ อภ. สามารถผลิตยารักษาผู้ป่วยโควิด19 แต่ยังต้องรอ ผู้ยื่นขอฯ อุทธรณ์ภายใน 60 วัน หากไม่มีจะถือว่าสิ้นสุด
เมื่อวันที่ 6 พ.ค. นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) ให้สัมภาษณ์ว่า องค์การฯ ขอขอบคุณ ท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน และทุกภาคส่วนที่ช่วยกันหาทางออกให้กับประเทศไทย เมื่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้มีคำสั่งปฏิเสธคำขอรับสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์รูปแบบเม็ด ด้วยเห็นว่าคำยื่นขอสิทธิบัตรของบริษัทที่ยื่นขอนั้นไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ทำให้องค์การฯ สามารถ ผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งเป็นยาที่จำเป็นอย่างมากในการรักษาผู้ป่วยโควิด 19 แม้ว่ากระบวนการตามกฎหมายยังเปิดโอกาสให้ผู้ยื่นขอฯ สามารถอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรได้ภายใน 60 วัน หากไม่มีการอุทธรณ์ภายในระยะเวลาดังกล่าว จะถือว่าคำสั่งปฏิเสธของกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นที่สุด เสร็จสิ้นกระบวนการทางกฎหมาย
นพ.วิฑูรย์กล่าวต่อว่า องค์การฯ ได้เริ่มทำการศึกษาชีวสมมูลในอาสาสมัครสุขภาพดี ตั้งแต่เมื่อปลายเดือนเมษายน 2564 เพื่อศึกษาความเท่าเทียมกันในการรักษาเปรียบเทียบกับยาต้นแบบ โดยนำยาที่องค์การฯ ผลิตในระดับอุตสาหกรรมไว้จำนวนกว่า 3 แสนเม็ดไปใช้ในการศึกษาชีวสมมูลครั้งนี้ มีกำหนดแล้วเสร็จและสามารถยื่นข้อมูลขึ้นทะเบียนให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ประมาณเดือนกรกฎาคม 2564 ส่วนการผลิตเพื่อจำหน่ายนั้น องค์การฯ จะสามารถผลิตยาเม็ด Favipiravir ได้ทันทีตามข้อมูลที่ระบุไว้ในทะเบียนยา ภายหลังได้ทะเบียนตำรับยาจาก อย. สามารถผลิตได้ไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ล้านเม็ด และสามารถขยายกำลังการผลิตได้ตามความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งโรงงานที่ถนนพระราม 6 และโรงงานผลิตยาขององค์การฯ ที่คลอง10 อำเภอธัญบุรี โดยขณะนี้ได้มีการประสานสั่งซื้อวัตถุดิบสำหรับผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ไว้แล้ว 5 แหล่ง จากประเทศจีน 1 แหล่งอินเดีย 4 แหล่ง ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบที่มีมาตรฐานและผู้ผลิตยาทั่วโลกใช้วัตถุดิบจากแหล่งต่าง ๆเหล่านี้
ผู้อำนวยการอภ. กล่าวต่อว่า ในระยะยาวองค์การฯ ยังได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการวิจัยและพัฒนากระบวนการสังเคราะห์วัตถุดิบยา Favipiravir ในระดับห้องปฏิบัติการ และขยายขนาดการผลิตสู่กึ่งระดับอุตสาหกรรม ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างโรงงานสังเคราะห์วัตถุดิบยา Favipiravir และวัตถุดิบยาจำเป็นอื่น ๆ สำหรับการผลิตวัตถุดิบในระดับอุตสาหกรรม ทำให้คนไทยได้เข้าถึงยาฟาวิพิราเวียร์ที่ผลิตได้เอง สร้างความมั่นคง ยั่งยืน และการพึ่งพาตนเองด้านยาให้กับประเทศ
- 63 views