โควิดวันนี้ติดเชื้อ 2,048 ราย สะสม 57,508 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 8 คนยัง ส่วนใหญ่พบอายุน้อยลง ประกอบกับระยะเวลาการป่วย จนมีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่ผู้ป่วยอาการหนักสะสม 563 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 150 ราย กทม.สูงสุด
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ รองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)(ศบค.) แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ว่า ขณะนี้ทั่วโลกติดเชื้อสะสม 147,783,379 ราย เสียชีวิตสะสม 3,122,538 คน โดยอินเดียยังพบมากที่สุด สำหรับสถานการณ์ในทวีปเอเชียก็ยังพบว่า อินเดีย เป็นอันดับ เช่นกัน ขณะที่สิงคโปร์ และฮ่องกงจะเปิดการเดินทางแบบบับเบิ้ล ขณะนี้ชะลอการเดินทางระหว่างประเทศแล้ว
ส่วนสถานการณ์ประเทศไทยมีรายงานติดเชื้อจำนวน 2,048 ราย สะสม 57,508 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 8 คน รวมผู้เสียชีวิตในระลอกการระบาดใหม่( 1 -26 เม.ย.64) เป็น 54 คน อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยวันนี้ 2,048 ราย พบว่าเป็นผู้ป่วยจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,991 ราย ค้นหาเชิงรุก 47 ราย ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 10 ราย รวมสะสมระลอกใหม่อยู่ที่ 28,645 ราย โดยจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยสะสมรักษาอยู่ 25,767 ราย แบ่งเป็นรักษาในรพ. 20,461 ราย และรพ.สนาม 5,306 ราย โดยอาการหนัก 563 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 150 ราย ซึ่งผู้ใช้เครื่องช่วยหายใจ 150 ราย ส่วนใหญ่อยู่กทม. 60 ราย ชลบุรี 12 ราย สมุทรปราการ 11 ราย ปทุมธานี 6 ราย นนทบุรี และเชียงใหม่จังหวัดละ 5 ราย นับเป็น 1 ใน 4 ของผู้มีอาการหนัก ดังนั้น เครื่องมือ บุคลากรทางการแพทย์จึงจำเป็นต้องมีสำรองกรณีนี้
“สำหรับผู้เสียชีวิต 8 ท่าน จะพบว่าส่วนใหญ่ติดเชื้อจากผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ และเป็นกลุ่มรายงานสัมผัสผู้เสี่ยงสูง อีกทั้ง ยังพบอายุน้อยลง ประกอบกับระยะเวลาการป่วย จนมีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งหลายท่านก็เป็นห่วงในการที่ทุกท่านรอเตียง จนมีการพูดคุยทางเลือกดูแลตัวเองที่บ้าน แต่ท่านจะเห็นว่า แม้จะมีสุขภาพแข็งแรง แต่อาการอาจทรุดลงรวดเร็วจนทำให้การรักษาใน รพ.อาจล่าช้าไป” พญ.อภิสมัย กล่าว
ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิต 8 คน ประกอบด้วย
- ผู้เสียชีวิตรายที่ 141 เป็นชายไทยอายุ 61 ปี จ.ปทุมธานี มีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด มีประวัติวันที่ 17 เม.ย. มีไข้ ไอ เหนื่อย แน่นหน้าอก วันที่ 23 เม.ย. พบเชื้อ วันที่ 24 เม.ย.เสียชีวิตเวลา 01.55น. พักอาศัยในพื้นที่เสี่ยง มีปัจจัยเสี่ยงเสียชีวิตคือ สูงอายุ และโรคประจำตัว
- ผู้เสียชีวิตรายที่ 142 เป็นชายไทยอายุ 45 ปี อยู่ กทม. ปฏิเสธมีโรคประจำตัว มีประวัติวันที่ 17 เม.ย. มีไข้ ไอ หายใจลำบาก วันที่ 19 เม.ย.พบเชื้อ วันที่ 24 เม.ย. เสียชีวิต เดินทางไปสถานที่เสี่ยง ปัจจัยเสี่ยงเสียชีวิตมีภาวะไตวายเฉียบพลัน
- ผู้เสียชีวิตรายที่ 143 เป็นชายไทยอายุ 24 ปี จ.อุดรธานี ป่วยเนื้องอกหลอดน้ำเหลือง มีประวัติวันที่ 22 เม.ย.มีไข้ ถ่ายเหลว อาเจียน วันที่ 24 เม.ย.พบเชื้อและเสียชีวิตเวลา 21.45 ปัจจัยเสี่ยงร่วมงานเลี้ยง ปัจจัยเสี่ยงเสียชีวิตคือ โรคประจำตัว
- ผู้เสียชีวิตรายที่ 144 เป็นชายไทยอายุ 92 ปี จ.ชัยภูมิ ป่วยหัวใจขาดเลือด ประวัติวันที่ 19 เม.ย. มีไข้ เจ็บหน้าอก วันที่ 20 เม.ย. พบเชื้อ วันที่ 24 เม.ย.เสียชีวิตเวลา 15.37 น. มีญาติมาเยี่ยมจากต่างจังหวัด ปัจจัยเสี่ยงเสียชีวิตคือ สูงอายุ และโรคประจำตัว
- ผู้เสียชีวิตรายที่ 145 เป็นชายไทยอายุ 63 ปี อยู่จ.ยะลา มีโรคไตวายเรื้อรัง ประวัติวันที่ 17 เม.ย.มีเหนื่อย ไอ นอนไม่หลับ วันที่ 20 เม.ย.พบเชื้อ วันที่ 25 เม.ย.เสียชีวิตเวลา 06.45น. มีญาติมาเยี่ยมจากต่างจังหวัด ปัจจัยเสี่ยงเสียชีวิตคือ สูงอายุ และโรคประจำตัว
- ผู้เสียชีวิตรายที่ 146 เป็นหญิงไทยอายุ 52 ปี กทม. ความดันโลหิตสูง ไทรอยด์เป็นพิษ และโรคอ้วน มีประวัติวันที่ 17 เม.ย.มีไข้ ไอ เจ็บคอ เหนื่อย วันที่ 23 เม.ย.พบเชื้อ วันที่ 24 เม.ย. เสียชีวิต เวลา 20.05 น. พักอาศัยในพื้นที่เสี่ยง ปัจจัยเสี่ยงเสียชีวิตมีโรคประจำตัว
- ผู้เสียชีวิตรายที่ 147 เป็นหญิงไทยอายุ 57 ปี กทม. หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท มีประวัติวันที่ 16 เม.ย.มีไป ปวดหลัง 20 เม.ย. พบเชื้อ วันที่ 24 เม.ย.เสียชีวิตเวลา 23.15 น. เดินทางไปสถานที่เสี่ยง ปัจจัยเสี่ยงเสียชีวิตรอสอบสวน
- ผู้เสียชีวิตรายที่ 148 เป็นชายไทยอายุ 60 ปี กทม.ความดันโลหิตสูงมีประวัติวันที่ 17 เม.ย.มีไข้ ไอ เหนื่อย วันที่ 22 เม.ย. พบเชื้อ วันที่ 24 เม.ย.เสียชีวิตเวลา 19.37 น. ปัจจัยเสี่ยงการป่วยยังรอบสอบสวน ส่วนปัจจัยเสี่ยงเสียชีวิตคือ สูงอายุ และโรคประจำตัว
- 9 views