ปลัดสธ.เผยผลประชุมด่วน! หาทางออกปัญหาเตียงผู้ป่วยโควิดพื้นที่ กทม. ชี้เร่งเคลียร์ให้ชัด หลังทำงานหลายภาคส่วนทำเข้าใจคลาดเคลื่อน ขณะนี้เตียงผู้ป่วยหนักจะรองรับได้ 1-2 สัปดาห์ ล่าสุดกรมการแพทย์ลดเวลาผู้ป่วยอาการน้อยหรือไม่มีอาการเหลือ 10 วัน หมุนเวียนเตียงให้คล่องตัว พร้อมเสนอ ศบค.ปรับสีพื้นที่คุมโควิด ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์จะเข้าไทย 2 ล้านเม็ด 26 เม.ย.

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) แถลงข่าวภายหลังการประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข ว่า ในการประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมเร่งด่วน สืบเนื่องจากสถานการณ์ระบาดมีความรุนแรงขึ้น โดยจากการวิเคราะห์เราแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนกรุงเทพมหานคร และส่วนภูมิภาค ซึ่งส่วนภูมิภาค การระบาดจะเป็นลักษณะสะเก็ดไฟ มีคลัสเตอร์บ้าง แต่ควบคุมได้ ปัญหาหลัก คือ กรุงเทพมหานคร มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก และปัญหาเตียง จึงได้มีการพูดคุยถึงปัญหาและแนวทางแก้ปัญหาทุกภาคส่วน ทั้งกทม. ภาคเอกชน กระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ กองทัพ ฯลฯ โดยพยายามปรับวิธีการต่างๆ

“เราพบว่า มาจากกระบวนการการบริหารจัดการ เพราะมีหลายภาคส่วนที่อาจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน มีการพูดคุยเพื่อดำเนินการบริหารจัดการเตียงให้ดี ทั้งนี้ จำนวนเตียงที่รองรับผู้ป่วยหนักอาจมีข้อจำกัด แต่ขณะนี้ยังมีเพียงพอ เพียงแต่หากการติดเชื้อรุนแรงขึ้น เตียงผู้ป่วยหนักจะรองรับได้ 1-2 สัปดาห์จากนี้ไป ส่วนผู้ป่วยปานกลาง โดยกรมการแพทย์มีมาตรการในการลดเวลาอยู่รพ. ลงในรายอาการน้อย หรือไม่มีอาการให้เหลือ 10 วัน น่าจะทำให้การหมุนเตียงคล่องตัวขึ้น ส่วนยาฟาวิพิราเวียร์ในคืนวันนี้จะมาจากญี่ปุ่น โดยถึงไทยประมาณตี 1-2 ประมาณ 2 ล้านเม็ด ซึ่งจะแจกจ่ายออกไปได้” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว

ปลัดสธ. กล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการดูแลรักษาต่างๆ นั้น ตัวเลขยังทรงๆอยู่ ต้องรออีก 2-3 วันว่าจะเป็นอย่างไรในกทม. แต่ตัวเลขฐานก็เพิ่มขึ้นทุกวัน ดังนั้น การเพิ่มมาตรการควบคุมโรคจึงสำคัญ โดย ศปค. สธ. จะเสนอให้เพิ่มมาตรการขึ้นด้วยการปรับระดับสีของจังหวัด จากเดิมแดงและส้ม ตอนนี้จะปรับเป็น 3 สี คือ แดงเข้ม แดง และส้ม โดยแดงเข้มต้องควบคุมสูงสุดเป็นกรณีพิเศษ และจะขอให้คณะกรรมการโรคติดต่อระดับจังหวัดปรับมาตรการการ ที่เรียกว่า ทาร์เก็ตล็อกดาวน์ เกี่ยวกับห้ามกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับการรวมกลุ่มจำนวนมาก ซึ่งทางจังหวัดจะพิจารณาดำเนินการ ส่วนมาตรการระดับประเทศก็จะคงไว้อีก 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ศปก.ศบค. ก่อนเข้าสู่คณะใหญ่ต่อไป

(ข่าวเกี่ยวข้อง : "อนุทิน" เล็ง ตั้งศูนย์รับและกระจายผู้ป่วย โควิด19 พื้นที่กทม.)

เมื่อถามถึงกรณีรองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการสธ. ให้มีการตั้งศูนย์รับและกระจายผู้ป่วย โควิด-19ในเขตกรุงเทพ นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สำหรับศูนย์ดังกล่าว คาดว่าจะมีการกระจายทั่วกรุงเทพฯ อย่าง รพ.สนาม หากผู้ป่วยสีเขียว ก็จะพักในรพ.สนาม แต่ผู้ป่วยสีเหลือง สีแดงก็จะไปรพ. ซึ่งจะมีกระบวนการคัดกรองอยู่ ส่วนจำนวนเตียงต่างๆ อย่างเตียงสีเขียวมีพอเพียง แต่ที่เดือดร้อน คือ สีเหลือง และไอซียู ซึ่งหากมีการจัดการเหมาะสมก็จะจัดการได้ และปัญหาข้อมูลตัวเลขที่ถูกส่งเข้ามาก็มีความซ้ำซ้อน บางแห่งเกือบถึง 50% อย่างบางแล็บที่ส่งเข้ามา กำลังตรวจสอบและพยายามกระจายผู้ป่วยให้ไปอยู่ในสถานพยาบาลต่อไป

เมื่อถามถึงกรณีการปรับระดับสีใหม่ อย่างพื้นที่สีเข้ม จะต้องห้ามการเคลื่อนย้ายหรือไม่ นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า ไม่ได้ห้ามคนเคลื่อนย้าย แต่ให้ระวังตัว และเป็นการจำกัดสถานที่ คล้ายๆมาตรการกทม.ที่ออกมา

“จริงๆทุกจังหวัดได้รับผลกระทบกันหมด และเราก็พยายามปรับคนให้เหมาะสมกับเนื้องาน และหาจิตอาสา บุคลากรอื่นๆ อาจเป็นผู้เกษียณมาช่วยให้เหมาะสมกับงานแต่ละอย่าง โดยระบบภูมิภาคเราวางระบบ มีเพียงกทม.อาจรวนๆ แต่ขณะนี้กำลังปรับปรุงอยู่ ส่วนกรณีไอซียู สนามนั้น เราก็มีการเตรียมพร้อมเช่นกัน แต่การเตรียมไว้ก็มีกระบวนการ ซึ่งขณะนี้ยังรองรับได้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ ซึ่งยังมีเวลาเตรียมไอซียูสนาม แต่ปัญหาเราต้องหาบุคลากรจำเพาะด้วย เรื่องนี้เราก็กำลังดำเนินการ” ปลัดสธ.กล่าว