สธ.พบคนรู้ตัวติดเชื้อ หรือแม้คนที่อยู่ระหว่างรอผลการตรวจแล็บ แต่ยังเดินทางตจว. กระทบการควบคุมการระบาด พร้อมเผยข้อมูลบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขติดเชื้อแล้วกว่า 50 คน เผยเหตุจากการใช้ชีวิตส่วนตัว สัมผัสบุคลากรติดเชื้อ และจากการดูแลผู้ป่วย
เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า การระบาดในประเทศไทยตอนนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วง มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นสายพันธุ์จากอังกฤษ และพบว่าจำนวนมากมีอาการปอดอักเสบทั้งที่ยังไม่มีอาการ จึงเป็นที่จะต้องติดตามข้อมูลและอาการป่วยอย่างใกล้ชิดในรอบนี้ โดยขณะนี้พบ นี้มีผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 21 ราย เพิ่มขึ้นมากกว่าตอนระบาดที่สมุทรสาครมีผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจไม่เยอะขนาดนี้ นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยปอดอักเสบอยู่ร้อยกว่าราย
นพ.จักรรัฐ กล่าวต่อว่า เราจะพบว่าขณะนี้มีคนที่รู้ตัวว่าติดเชื้อ หรือแม้คนที่อยู่ระหว่างรอผลการตรวจแล็บออก แต่ยังเดินทางไปต่างจังหวัด ทำให้ควบคุมการระบาดมีปัญหา เป็นหลักการที่ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นการรับผิดชอบต่อตัวเอง และสังคม ที่เห็นชัดคือเคสคู่รักที่เดินทางไปจังหวัดนครศรีธรรมราช และเคสที่กระบี่ เป็นต้น ซึ่งขณะคือการระบาดขณะนี้แพร่ไปทุกจังหวัด บางคนอาจจะติดเชื้อแล้วโดยไม่รู้ตัว เพราะในขณะที่คนกำลังเดินทางกลับมาจากสงกรานต์ โดยเฉพาะการเดินทางโดยรถโดยสายสาธารณะ จึงค่อนข้างน่ากังวลว่าจะมีการเอาเชื้อกลับมาแพร่ต่อคนร่วมบ้านหรือห้องพัก คนในชุมชน และเพื่อนที่ทำงาน
“ถ้าการแพร่ในสถานประกอบการ โรงงานต่างๆ จะทำให้เกิดสถานการณ์คล้ายกับการระบาดที่สมุทรสาครก่อนหน้านี้ จะเป็นเรื่องใหญ่มากมากกว่าการระบาดจากสถานบันเทิงอีก ดังนั้นต้องขอความร่วมมือคนคนเพื่อควบคุมสถานการณ์ก่อน ซึ่งตอนนี้เองก็เริ่มมีรายงานพบการติดเชื้อในโรงเรียนย่านบางพลี ที่กังวลเพราะการติดเชื้อในเด็กไม่ค่อยมีอาการ แล้วเราจะควบคุมเรื่องการอยู่ใกล้ชิด และการป้องกันตัวเองของเด็กได้ยาก ซึ่งตอนเริ่มการระบาดช่วงต้นเดือนเม.ย. เป็นกลุ่มวัยทำงาน นักศึกษา แต่ตอนนี้เริ่มเห็นในเด็กประถมศึกษา มัธยมศึกษาแล้ว ที่ยังไม่เห็นมากนักคือผู้สูงอายุ แต่ถ้าคุมการระบาดในเด็กไม่ดีก็จะเริ่มพบการติดเชื้อในผู้สูงอายุด้วย” นพ.จักรรัฐ กล่าว
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องขอร้องสถานประกอบการ หน่วยงานต่างๆ คือเตรียมมาตรการรองรับพนักงานที่จะกลับเข้าทำงาน มีการวัดไข้ และเตรียมข้อมูลหน่วยงานที่จะต้องประสานหากเกิดเจอผู้ติดเชื้อในองค์กร แม้กระทั่งรายละเอียดในการทิ้งขยะทั่วไป ขยะติดเชื้อก็ขอให้ดำเนินการแยกให้ชัดเจน นอกจากนี้ยังต้องหามาตรการลดคนจำนวนทำงาน ลดการรวมตัวในที่ทำงาน งดกินอาหารร่วมกัน การประชุมต่างๆ ให้เน้นระบบออนไลน์ หากผู้ประกอบการเจอผู้ติดเชื้อในองค์กรไม่ต้องตกใจ ให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามหมายเลขที่ท่านได้ลิสต์เอาไว้แล้ว แจ้งกรมควบคุมโรคภายใน 3 ชั่วโมง ปิดแผนกเป็นเวลา 1-3 วัน เพื่อทำความสะอาด ฆ่าเชื้อ โดยสามารถปรึกษาเจ้าหน้าที่ได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กระทรวงต้องการมากที่สุด คือ ในการให้พนักงานทำงานที่บ้าน (work from home) ให้มากที่สุด หรืออย่างน้อย 10-50 % โดยพิจารณาตามความสำคัญ คัดกรองพนักงานเบื้องต้น โดยเฉพาะที่เดินทางกลับมาจากต่างจังหวัดว่ามีการคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อหรือไม่ ไปพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ ไปในที่ที่มีคนเยอะๆ หรือไม่ หากมีความเสี่ยงเหล่านี้ขอให้มีคำสั่งให้ทำงานที่บ้านไปก่อนอย่างน้อยคือ 14 วัน ส่วนองค์การที่มีพนักงานน้อยกว่า 50 คน นั้น โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับการบริการ ร้านอาหาร ต่างๆ ควรให้พนักงานที่เดินทางกลับมาจากต่างจังหวัดกักตัวเองในที่พัก 14 วัน เพราะตอนนี้มีการติดเชื้อทั่วประเทศ บางคนอาจจะติดเชื้อแล้วไม่รู้ตัวก็ได้ หากเอามาเราไม่รู้ แล้วให้มาทำงานบริการอาจจะมีปัญหาแพร่ระบาดในวงกว้างได้อีก โดยเฉพาะจากจังหวัดเชียงใหม่ ภูเก็ต โคราช ขอนแก่น สระแก้ว และประจวบคีรีขันธ์ ที่มีการแพร่ระบาดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ๆ
“ขอย้ำว่าหากกักตัว หรือการทำงานที่บ้านนั้น เป้าหมายคือต้องการให้แยกตัวจากคนอื่น เพราะฉะนั้นก็ต้องอยู่ในที่บ้านหรือห้องพักของตัวเอง ไม่ใช่ว่าออกไปร้านสะดวกซื้อ หรือออกไปนั่งทำงานที่ร้านกาแฟ ถ้าเป็นเช่นนั้นไม่ใช่วัตถุประสงค์ที่เราต้องการให้ทำงานที่บ้าน เพราะยังมีการออกไปเจอคนอีกจำนวนมาก” นพ.จักรรัฐ กล่าว
ผอ.กองระบาดฯ กล่าวต่อว่า ตอนนี้เรามีรายงานพบบุคลากรการแพทย์ติดเชื้อโควิดราวๆ 50 กว่าคน ทั้ง 1. จากการใช้ชีวิตส่วนตัว 2.การสัมผัสจากบุคลากรที่ติดเชื้อ และ 3. ติดเชื้อจากการดูแลผู้ป่วย ซึ่งตรงนี้คนป่วยที่มาตรวจตอนนี้ส่วนใหญ่จะแจ้งชัดเจนว่ามีความเสี่ยง ก็จะทำให้บุคลากรสามารถระวังตัวได้ แต่ก็ยังมีผู้ป่วยมาด้วยโรคอื่น เพราะฉะนั้นการปกปิด หรือโกหกไทมไลน์ อาจจะไม่มีผลตรงนี้ แต่จะมีผลต่อการสอบสวนโรคในชุมชนต่อ ดังนั้นจึงไม่ควรปกปิด หรือโกหกข้อมูล ทั้งนี้บุคลากรทีมสอบสวนโรคนั้นขณะนี้ยังมีเพียงพอ
- 18 views