สปสช.จัดเสวนาแจงแนวทางการหาเตียงและการให้สิทธิรักษาโควิด-19 ยืนยัน กลุ่มเสี่ยงทุกคน-ผู้ป่วยทุกสิทธิ รักษาฟรีได้ทั้งโรงพยาบาลรัฐ-เอกชน พร้อมชักชวนประชาชนลงทะเบียนหาเตียงผ่าน @sabaideebot ในแอปพลิเคชัน LINE เพื่อบันทึกประวัติ เชื่อมต่อระบบกับฐานข้อมูลจัดหาเตียง

พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ที่ปรึกษาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยในเวทีเสวนาหัวข้อ ติดเชื้อโควิด-19 จะหาเตียงอย่างไร เสียค่าใช้จ่ายหรือไม่ ? “สายด่วน และ LINE สบายดีบอต” มีคำตอบ เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2564 ซึ่งจัดโดย สปสช. ตอนหนึ่งว่า หากแพทย์เห็นว่ากลุ่มเสี่ยงที่เข้ามาคัดกรองโควิด-19 มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาหรือต้องเข้ารับการผ่านตัดใดๆ ทาง สปสช.จะดำเนินการจ่ายชดเชยให้ โดยครอบคลุมประชาชนคนไทยทุกคน ทุกสิทธิการรักษา ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน

พญ.กฤติยา กล่าวว่า ถ้ากลุ่มเสี่ยงเข้ารับการคัดกรองแล้วพบว่าติดเชื้อโควิด-19 และมีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน สปสช.ได้ทำข้อตกลงกับภาคเอกชนแล้วว่าจะไม่มีการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยบางรายมีประกันสุขภาพเอกชนก็อาจจะต้องใช้ส่วนนั้นไปก่อน ส่วนการจ่ายชดเชยให้โรงพยาบาลเอกชนนั้น จะเป็นไปตามระบบ UCEP หรือรักษาฉุกเฉินเร่งด่วน

ทั้งนี้ ยืนยันว่า สปสช.จะจ่ายชดเชยให้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยครอบคลุมทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน โดยกรณีผู้ป่วยนอก (OP) จะจ่ายค่าห้องปฏิบัติการ (Lab) ค่าเก็บตัวอย่าง ค่าใช้จ่ายในกรณีที่มียารักษาเฉพาะผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 หรือค่ารถส่งต่อระหว่างหน่วยบริการ บ้าน ค่าด่านตรวจคัดกรอง State Quarantine

พญ.กฤติยา ศรีประเสริฐ ที่ปรึกษาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

สำหรับกรณีผู้ป่วยใน (IP) จะมีการจ่ายชดเชย ค่า Lab ค่ายารักษา และที่สำคัญก็คือค่าชุด PPE หรืออุปกรณ์ที่ป้องกันการแพร่กระจ่ายเชื้อ ก็จะมีการจ่ายชดเชยตามจริงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้เข้าไปสัมผัสผู้ติดเชื้อ ขณะที่ค่าห้องนั้น ถ้าจำเป็นต้องรักษาในห้องความดันลบ (Negative Pressure) ทาง สปสช. ก็จะจ่ายชดเชยให้ 2,500 บาทต่อวัน ส่วนค่าหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ เช่น โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel หากโรงพยาบาลเห็นว่ามีความจำเป็นต้องย้ายผู้ป่วยไปรักษาตัวยังสถานที่นั้นๆ ก็จะมีการจ่ายชดเชยให้ไม่เกิน1,500 บาท ต่อคนต่อวัน รวมไปถึงค่ารถที่ต้องส่งต่อผู้ป่วยไปยังจุดต่างๆ ด้วย

“เนื่องจากโควิด-19 เป็นโรคเจ็บป่วยฉุกเฉิน และเป็นภาระต่อประชาชนในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ก็อยากจะให้ความมั่นใจว่า ถ้าท่านทำตามคำแนะนำของแพทย์ หรือหน่วยบริการนั้นๆ แล้ว ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินเพิ่มเติม ในกรณีที่มีปัญหาผู้ที่ใช้สิทธิบัตรทอง รวมไปถึงผู้ที่เข้าเกณฑ์ทุกอย่างแล้วยังถูกเรียกเก็บค่าบริการ ให้สอบถาม-แจ้งเพิ่มเติมได้ที่ 1330” พญ.กฤติยา กล่าว

พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ตามขั้นตอนแล้วการหาเตียงจะเริ่มจากโรงพยาบาลที่เข้าตรวจ ถ้าเตียงเต็มก็จะเป็นเตียงของโรงพยาบาลเครือข่ายของโรงพยาบาลนั้นๆ ในกรณีที่เตียงโรงพยาบาลเครือข่ายเต็มอีก ก็จะมีการหาเตียงข้ามเครือข่าย ซึ่งมีศูนย์เอราวัณทำหน้าที่เป็นศูนย์บริหารจัดการเตียง ส่วนจะได้นอนที่โรงพยาบาล หรือโรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย

“จะมีการตรวจคัดกรองและเอกซเรย์ปอดก่อนเสมอ ถ้าผลการเอกซเรย์ออกมาว่ามีข้อสงสัยภาวะปอดอักเสบ ผู้ป่วยก็จะได้เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล ส่วนในกรณีที่ไม่มีข้อสงสัย อาการน้อย สุขภาพดี อายุน้อยกว่า 50 ปี และไม่มีโรคประจำตัว ผู้ป่วยถึงจะสามารถเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel ซึ่งจะมีแพทย์และพยาบาลดูแลตลอด 24 ชั่วโมง” พญ.ปฐมพร กล่าว

พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

พญ.ปฐมพร กล่าวอีกว่า สำหรับคลินิกเอกชนที่ตรวจคัดกรองจะต้องมีโรงพยาบาลที่จับคู่กัน เพื่อให้แน่ใจได้ว่าจะหาเตียงได้ การเข้าตรวจต้องเข้าตรวจอย่างถูกวิธี และที่นั้นจะต้องช่วยดูแลให้สามารถหาเตียงได้

ทั้งนี้ อยากเชิญชวนให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนหาเตียงผ่านแอปพลิเคชันไลน์ (LINE) โดยเพิ่มเพื่อน @sabaideebot (สบายดีบอต) ซึ่งจะเป็นโปรแกรมอัตโนมัติในการจัดระบบข้อมูล บันทึกประวัติสุขภาพ ให้คำแนะนำการ ตลอดจนมีฐานข้อมูลเฝ้าระวังโรค ซึ่งประชาชนสามารถจะบันทึกความเสี่ยงได้ และข้อมูลดังกล่าวจะถูกส่งต่อไปยังฐานข้อมูลที่สัมพันธ์กับการจัดหาเตียงด้วย