รองอธิบดีกรมควบคุมโรคย้ำ คนป่วยโควิดต้องรักษาในรพ. พร้อมร่วมมือทุกฝ่ายบริหารจัดเตียงรับผู้ป่วย คาด 1-2 วันสถานการณ์จะดีขึ้น ล่าสุดมีรพ.ธรรมศาสตร์ เปิดรพ.สนาม 470 เตียงรับคนรักษาแล้วอาการดีขึ้น เพื่อเปิดเตียงให้รพ.รับผุ้ป่วยรายใหม่ ขณะที่ สปสช.ใช้สายด่วน 1330 ช่วยบริหารเตียง ทำงานเสริมสายด่วน 1668
ตามที่มีการติดเชื้อก่อโรคโควิด19 จำนวนมากจากคลัสเตอร์สถานบันเทิง กระจายไปหลายจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ล่าสุดผู้ป่วยหลายรายประสบปัญหาไม่มีเตียง เนื่องจากเมื่อมีการประสานกลับพบว่า เตียงเต็ม หรืออาจต้องใช้เวลาในการรอ 1 วันหรือข้ามวัน จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์นั้น
ความคืบหน้าเรื่องนี้เมื่อวันที่ 11 เม.ย. นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีการบริหารเตียงรองรับการรักษาผู้ป่วยโควิด19 ว่า สำหรับการดูแลผู้ติดเชื้อ ไทยมีนโยบายนำผู้ติดเชื้อมารักษาในรพ. แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประชาชนไปตรวจโควิด และกลับไปรอที่บ้าน บางคนอาจใช้เวลารอ 1 วันหรือข้ามวัน ซึ่งขณะนี้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ได้ประสานงานให้มีการบริหารเตียงอย่างเป็นระบบ โดยประชาชนสามารถประสานมาได้หากยังไม่ได้เตียง ตามสายด่วน 1668 ทุกวันเวลา 08.00-22.00 น. สำหรับผู้ที่มีผลตรวจยืนยันติดเชื้อที่ยังไม่สามารถเข้ารับการดูแลรักษาในรพ.ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ส่วนรพ.จะมีการติดต่อผู้ที่ติดเชื้อแล้ว
“สำหรับผู้ที่ได้รับการรักษาอาการดีแล้วจะส่งต่อไปยัง รพ.สนาม เพื่อให้รพ.รัฐและเอกชนรับผู้ติดเชื้อได้เพิ่มขึ้น เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้นใน 1-2 วันนี้ เช่น วันนี้ คณะแพทยศาสตร์ รพ.ธรรมศาสตร์ ได้เปิดรพ.สนาม 470 เตียง โดยจะย้ายผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่ได้รับการรักษาจนอาการดี ไม่มีไข้ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจะส่งไปยังรพ.สนาม ขณะที่ทางกองทัพก็จะมีรพ.สนาม ส่วนสธ. ได้ประสานรพ.เอกชน และโรงแรมหลายแห่งที่เป็นสถานที่กักกันทางเลือก เพื่อจัดเป็นฮอสพิเทล ทำให้รพ.ปกติทำการรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้ โดยภาพรวม กรมการแพทย์จะเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับสำนักการแพทย์ กทม. และเครือข่ายต่างๆ โรงเรียนแพทย์ในการบริหารจัดการเตียง กทม.และปริมณฑล” นพ.โสภณ กล่าว
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณประชาชนที่ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะตั้งแต่เริ่มมีการระบาดระลอกใหม่เป็นต้นมาก็มีผู้เดินทางไปรับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก ทาง สปสช.ขอย้ำอีกครั้งว่าผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง มีอาการป่วย มีประวัติสัมผัสผู้ติดเชื้อ เดินทางไปสถานที่ที่มีการระบาด หรือแม้แต่ไม่มีอาการป่วยและไม่แน่ใจว่าติดเชื้อหรือไม่ สามารถเดินทางไปรับการตรวจคัดกรองหรือปรึกษาแพทย์ได้ทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน โดยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น สปสช.จะจ่ายแทนประชาชนให้เอง รวมทั้งหากพบว่าติดเชื้อ สปสช.ก็จ่ายค่ารักษาให้เช่นกัน
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช
อย่างไรก็ดี เนื่องจากมีจำนวนผู้ไปรับการตรวจมากขึ้น ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาโรงพยาบาลหลายแห่งอาจเกิดความกังวล เพราะเมื่อตรวจพบผู้ติดเชื้อแล้ว โรงพยาบาลจะต้องรับคนๆ นั้นเข้าเป็นผู้ป่วยในการดูแลของตัวเอง ทำให้โรงพยาบาลบางแห่งเกิดความกังวล อาจไม่กล้าตรวจ เพราะเกรงว่าถ้าตรวจเจอเชื้อแล้วจะไม่มีเตียงรองรับเพียงพอ โดยทางกระทรวงสาธารณสุข จับมือโรงเรียนแพทย์ กรุงเทพมหานคร ตำรวจ กลาโหม และโรงพยาบาลเอกชน เตรียมเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด 19 ประสานส่งต่อผู้ป่วยในเครือข่ายหรือข้ามเครือข่ายได้ เปิดสายด่วนกรมการแพทย์ 1668 ประสานช่วยผู้ติดเชื้อที่ยังหาเตียงรักษาไม่ได้
อย่างไรก็ตามสายด่วน 1668 อาจจะไม่พอรองรับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบให้ กรมการแพทย์ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน และ สปสช. จัดระบบรองรับโดยจะให้สายด่วน 1330 ของ สปสช. ร่วมเป็นหน่วยประสานจัดหาเตียงให้แก่ผู้ป่วยที่ไม่มีเตียงในโรงพยาบาลรองรับ โดยเป็นการดำเนินการร่วมกับสายด่วนกรมการแพทย์ 1668 ที่ทำหน้าจัดหาเตียงให้กับผู้ติดเชื้อ
สปสช.ได้หารือกับ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ในการช่วยดำเนินการดังกล่าวแล้ว โดยทางกรมการแพทย์จะส่งจำนวนเตียงว่างทั้งในโรงพยาบาลและโรงพยาบาลสนามมาให้ สปสช. เพื่อช่วยประสานจัดหาเตียงรองรับผู้ป่วยต่อไป ยกตัวอย่างเช่น นาย A ไปรับการตรวจที่โรงพยาบาล B แล้วตรวจพบว่ามีเชื้อโควิด-19 แต่ปรากฎว่าโรงพยาบาล B ในขณะนั้นมีผู้ป่วยโควิดจำนวนมากจนเตียงเต็มหมดแล้ว ทำให้ไม่มีเตียงสำหรับนาย A ในโรงพยาบาลนั้น ทางพยาบาลของโรงพยาบาลสามารถโทรเข้าสายด่วนกรมการแพทย์ 1668 ได้ หรือหากสายไม่ว่างเนื่องจากคู่สายเต็ม ก็สามารถโทรมาที่สายด่วน สปสช. 1330 ได้ เพื่อให้ประสานจัดหาเตียงในโรงพยาบาลอื่นๆแก่นาย A ได้เลย และเมื่อ 1330 หาเตียงได้แล้ว ในขั้นตอนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลปลายทาง ก็จะมีรถพยาบาลของ สพฉ. มาช่วยรับส่งให้ โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปด้วยตัวเอง
- 58 views