ข้อมูลสำคัญประการหนึ่งของการดำเนินงานกองทุนให้บริการด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาคือ จำนวนบุคคลที่มีปัญหาสถานะมีแนวโน้มลดจำนวนลง เนื่องจากบางส่วนได้รับการพิสูจน์สถานะเป็นคนไทยและบางส่วนเสียชีวิต ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่จะส่งผลต่อการดำเนินงานกองทุนฯต่อไปในอนาคต
ในฐานะที่ทำงานเกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะ วิวัฒน์ ตามี่ ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาชนกลุ่มน้อยและชาติพันธุ์ ในฐานะกรรมการบริหารกองทุนให้บริการด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะฯ ตั้งคำถามต่อกระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้รับผิดชอบดูแลกองทุนนี้ว่า “อนาคตกองทุนนี้จะเป็นอย่างไร กระทรวงสาธารณสุขเตรียมรองรับปัญหาอย่างไร ในเมื่อคนลดลง เงินก็จะน้อยลงจนไม่พอ แล้วจะบริหารจัดการอย่างไร กองทุนนี้จะอยู่อย่างไร”
วิวัฒน์ขยายความประเด็นที่เขาตั้งคำถามว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ควรต้องปรับปรุง คือข้อจำกัด โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ แต่กองทุนนี้เป็นกองทุนขนาดเล็กและจำนวนคนลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี การคุ้มครองสิทธิจากการได้รับผลกระทบจากการใช้บริการ คงเพิ่มยากเพราะงบประมาณน้อย นอกจากนี้ยังมีปัญหาการเข้าถึงบริการในเชิงคุณภาพ บริการ การสื่อสาร ภาษา ความห่างไกล การย้ายสิทธิ ย้ายหน่วยบริการก็ยาก ฐานข้อมูลอัพเดตล่าช้า การย้ายสิทธิ เพิ่มคน ลดคนลำบากมาก
“ที่สำคัญงบประมาณที่ได้รับก็ไม่ใช่แบบยั่งยืน เพราะเป็นงบประมาณฉุกเฉินสำรองจ่ายของรัฐบาล หากไม่สามารถทำให้เป็นแผนงบประมาณหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุขได้ ขอเป็นปีๆ ไปแบบนี้ก็ไม่ยั่งยืน”
วิวัฒน์เสนอว่า การพัฒนาปรับปรุงการดำเนินงานของกองทุนฯเพื่อก้าวสู่ทศวรรษที่ 2 ควรต้องมีการปรับปรุงในหลายด้าน อาจเริ่มจากการประเมินการดำเนินงานที่ผ่านมาของกองทุนฯ โดยเฉพาะประเด็นการเข้าถึงสิทธิของประชาชนที่ได้รับสิทธิ ในเชิงปริมาณ-คุณภาพ การใช้งบประมาณ การบริหารจัดการงบประมาณ การบริการ การจัดทำระบบฐานข้อมูลให้มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง
“งบประมาณเป็นเรื่องสำคัญซึ่งควรจะเป็นแผนงานประจำของกระทรวงสาธารณสุข ไม่ควรเสนอขออนุมัติจากครม.เป็นคราวๆ ปีๆ ซึ่งจะส่งผลให้กองทุนไม่มีสถานะทางกฎหมาย เป็นกองทุนฉุกเฉิน ดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้”
ลักษณะของการเป็นกองทุนที่ไม่มีสถานะทางกฎหมาย เป็นอุปสรรคสำคัญที่วิวัฒน์มองว่าส่งผลต่อการบริหารจัดการ โดยเฉพาะประธานกองทุนฯ ซึ่งมักจะเป็นรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ปลัดกระทรวงฯมอบหมาย ก็มักจะเปลี่ยนคนอยู่บ่อยๆ ตั้งคนใหม่เข้ามาก็ต้องเริ่มทำความเข้าใจงานกันใหม่ ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการกองทุนฯก็เปลี่ยนบ่อย ทำให้ไม่ต่อเนื่อง บางปีไม่มีการประชุมคณะกรรมการบริหารเลย เนื่องจากประธานไม่เรียกประชุม
“กองทุนไม่มีสถานะทางกฎหมาย เป็นกองทุนฉุกเฉิน การกำหนดระเบียบต่างๆ ก็ขึ้นอยู่กับประธานแต่ละคน บางครั้งประธานให้ความสนใจก็ประชุมทุกๆ 3 เดือน ประธานบางคนเรียกประชุมปีละครั้ง นอกจากนี้ กรรมการกองทุนที่ผ่านมา ผู้แทยสตง. โรงพยาบาลศูนย์ มักไม่ค่อยให้ความสนใจ ควรเพิ่มสัดส่วนของแพทย์ชนบทที่เป็นโรงพยาบาลชายแดนเข้ามา กระทรวงอื่นๆ เช่นกระทรวงศึกษาธิการ สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) สำนักงบประมาณ กรมการปกครอง ก็ส่งตัวแทนที่ไม่ค่อยมีอำนาจตัดสินใจมาเป็นกรรมการ ประชุมหารืออะไรกันก็มักไม่ค่อยจะมีความเห็น ก็ว่ากันไปตามที่กองเศรษฐกิจฯ ซึ่งเป็นฝ่ายเลขาเสนอมา”
วิวัฒน์เห็นว่าหากจะแก้ปัญหาทั้งหมดดังที่กล่าวมาก็ควรให้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) บริหารจัดการเพื่อปรับสิทธิประโยชน์ทั้งสองกองทุนฯให้เท่าเทียมกัน เพราะถ้ารวมเข้ากับสปสช.ได้ก็จะสามารถแก้ปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดได้ เพราะยิ่งนานไปอนาคตกองทุนให้บริการด้านสุขภาพกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะฯจะอยู่ไม่ได้เพราะจำนวนคนจะน้อยลง งบประมาณก็จะลดลงตาม การบริหารจัดการ สิทธประโยชน์ก็จะส่งผลกระทบตามมา ส่งผลต่อคุณภาพการบริการ
ที่สำคัญ วิวัฒน์เสนอว่า ควรมีการตีความมาตรา 5 พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือเพิ่มวรรคท้ายให้รวมถึงกลุ่มผู้มีปัญหาสถานะบุคคล ที่ผ่านมากรรมการกองทุนฯเคยเสนอเกือบทุกปี แต่สปสช.บอกไม่ได้ ยืนยันกฎหมายดูแลแต่บุคคลสัญชาติไทยเท่านั้น ซึ่งยังคงเป็นปัญหาจนถึงขณะนี้ และจะยิ่งมากขึ้นในอนาคต
- 69 views