ข้อจำกัดของกองทุนให้บริการด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ซึ่งยังไม่เท่าเทียมกับกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในหลายประเด็นอาทิ สิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ อุปกรณ์และอวัยวะเทียม คือข้อจำกัดที่หลายฝ่ายเรียกร้องให้มีการปรับปรุง โดยประเด็นหลักคือการบริหารจัดการซึ่งปัจจุบัน กองทุนให้บริการด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะฯ อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) รับผิดชอบดูแล การผนวกรวมให้สปสช.ดูแลทั้งสองกองทุนเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันจึงเป็นข้อเสนอจากหลายฝ่าย
วิวัฒน์ ตามี่ ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาชนกลุ่มน้อยและชาติพันธุ์ ในฐานะกรรมการบริหารกองทุนให้บริการด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะฯ มองว่า สิ่งที่ควรต้องปรับปรุง คือข้อจำกัด โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ กองทุนฯนี้เป็นกองทุนขนาดเล็ก จำนวนคนลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี เพราะได้รับสถานะเป็นคนไทย อนาคตจะจัดการอย่างไร เพราะงบประมาณที่จะได้รับก็จะลดลงตามจำนวนผู้มีปัญหาสถานะที่ลดลง
“สิ่งที่จะทำได้คือให้สปสช.บริการจัดการเพื่อดูแลกองทุนฯ หรือให้กลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มหนึ่งในการดูแลของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ควรให้สปสช.บริหารจัดการเพื่อปรับสิทธิประโยชน์ให้เท่าเทียมกัน เพราะถ้ารวมเข้ากับสปสช.ได้ก็จะสามารถแก้ปัญหาที่ต่างๆ ได้ เพราะคนเหล่านี้คือรอพิสูจน์สัญชาติ 10 ปีที่ผ่านมาก็พิสูจน์ไปแล้วนับแสนคน”
ในมุมมองของผู้ที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะ สุมิตร วอพะพอ องค์การแปลนประเทศไทย เห็นว่า หากให้กองทุนฯอยู่ในความดูแลของสปสช.จะทำให้เกิดการบริหารจัดการที่ดีกว่า รวมทั้งให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม สามารถจัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นในเชิงรุกให้ท้องถิ่นดูแล
เช่นเดียวกับ วิสุทธิ์ เหล็กสมบูรณ์ นักพัฒนาเอกชนในพื้นที่อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอนก็มองว่าขณะนี้ไม่มีทางเลือกอื่นถ้าจะพัฒนาปรับปรุงการบริหารจัดการให้ดีกว่าก็ควรให้สปสช.ดูแล
“กองทุนฯต้องมีการบูรณาการ แล้วสปสช.ก็ดูแลกองทุนสุขภาพตำบลซึ่งมันจะเป็นกองทุนที่เข้าไปหนุนเสริมให้เกิดการเคลื่อนของกองทุนคืนสิทธิได้ นี่เป็นปัญหาของกองทุนด้วยว่าเวลาเรามองกองทุนเรามักจะมองกองทุนแยกๆ เราไม่มองว่ากองทุนหนึ่งจะไปช่วยกองทุนหนึ่งได้ เวลาประชุมก็ประชุมกองทุนเดียว ไม่คิดว่ากองทุนคืนสิทธิสามารถช่วยป่าชุมชน เครือข่ายความมั่นคงอาหารด้วยหรือไม่ เครือข่ายผู้พิการและผู้สูงอายุหรือไม่ ทำให้เป็นบูรณาการอันนี้สำคัญมาก เป็นวิธีคิดเชิงกลยุทธ์ ซึ่งพื้นที่ต้องออกแบบ บางพื้นที่ก็ทำร่วมกันได้ ผมคิดว่าหลายๆโรงพยาบาลทำ เช่นโรงพยาบาลปางมะผ้าก็ทำ เพียงแต่ว่าขาดภาคีหนุนและอื่นๆอีกหลายอย่าง ไปกันตามอัตภาพยังไม่เกิดระบบที่เป็นโมเดล”
ในมุมมองของผู้ปฏิบัติ นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก ก็เห็นด้วยกับแนวทางนี้โดยระบุว่า เมื่อถึงระยะปลายทางก็ต้องให้สปสชงเข้ามาดูแล เพราะกลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะเหล่านี้ต้องเป็นคนสัญชาติไทย เมื่อเป็นคนสัญชาติไทยก็ต้องเป็นสปสช.ที่เข้ามาดูแล ปลายทางต้องเป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว
“ตอนนี้เหมือนมาพักอยู่ที่กระทรวงสาธารณสุขเท่านั้นเอง แต่ระยะยาวต้องไปสปสช.อยู่แล้ว เพราะคนเหล่านี้อีกหน่อยก็ต้องพัฒนาเรื่องสถานะสิทธิของเขาเมื่อเขาได้สัญชาติไทยก็ต้องปรับไปเป็น สปสช.โดยอัตโนมัติอยู่แล้วนั่นเป็นเรื่องระยะยาว เป็นเรื่องดีอยู่แล้วครับแต่ว่ามันต้องค่อยๆไปเท่านั้นเองอีกหลายปี”
ขณะที่ นพ.ชัยเนตร เขื่อนเพชร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงรายกลับมองว่า ยังไม่รู้ว่าหากให้กองทุนให้บริการด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะฯไปอยู่กับสปสช. จะไปอยู่ในรูปแบบไหน และสปสช.จะรับไหวหรือไม่
"ผมคิดว่า สปสช. ยังแบกเหมือนแบกภาระ ซึ่งเป็นก้อนมวลมหาศาล ถ้าแบกก็ไม่รู้ว่า สปสช. จะไหวไหม แต่ถ้าทำได้ก็ถือว่าเป็นการปฎิรูประบบอีกอย่างหนึ่งเลย”
นี่คือเสียงสะท้อนจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องการให้กองทุนให้บริการด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ สามารถพัฒนาการให้สิทธิเพื่อรองรับกลถุ่มคนเหล่านี้ให้ได้รับการดูแลด้านสาธารณสุขอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกับคนไทยทั่วไป
- 16 views