การสามารถช่วยให้บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิร่วม 800,000 คน สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขได้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ทิศทางต่อของกองทุนให้บริการด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ อาจต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ
วิสุทธิ์ เหล็กสมบูรณ์ นักพัฒนาเอกชน ซึ่งทำงานขับเคลื่อนด้านสิทธิให้กลุ่มคนชาติพันธ์ในพื้นที่ อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน มองว่าตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กองทุนฯ สร้างประโยชน์ให้กับโรงพยาบาลในทางตรงทั้งด้านหลักประกันสุขภาพที่พัฒนามาเรื่อยๆ ทำให้โรงพยาบาลมีข้อมูลของกลุ่มคนไร้สัญชาติที่มาลงทะเบียน กลายมาเป็นความมั่นใจในการบริการเนื่องจากมีกองทุนรองรับ
“ทิศทางข้างหน้าผมมองว่า กองทุนมียังคงมีลักษณะวนอยู่กับชุดเดิมๆ ประเด็นมันไม่ปัง มันไม่เหมือนประเด็นการเมือง ถ้าเป็นเรื่องคนจน เรื่องสวัสดิการมันก็เร็ว พอเป็นเรื่องของคนที่ไม่มีฐานพลังอะไรมากมายประเด็นไม่น่าดึงดูดสำหรับกระทรวง คนที่ทำงานก็ค่อนข้างอยู่ในวงชุดเดิม คนที่จะรู้เรื่องนี้ได้ต้องโฟกัสจะให้คนที่เข้าๆ ออกๆ ผ่านแล้วเลยไปไม่ได้เพราะว่าเนื่องจากเป็นประชากรกลุ่มพิเศษ กลุ่มเฉพาะ ที่คุณจะต้องมีทักษะมีความชำนาญการพอสมควรถึงจะลงมาเล่นในวงนี้ได้ ไม่ใช่จู่ๆเอาใครมาทำ อย่างที่ 2 คือประเด็นมันไม่น่าสนใจ ไม่เป็น priority หลักๆ ของกระทรวง เรื่องนี้เลยถูกทิ้งไว้ท้ายๆ”
วิสุทธิ์กำลังมองไปที่ประเด็นสำคัญ นั่นคือบุคลากรที่เกี่ยวข้อง โดยมองว่าบุคลากรในพื้นที่ดูแลคนไร้สัญชาติเมื่อเป็นระบบราชการมาทำงานได้ไม่นานก็ย้าย ซึ่งปัญหานี้ทำให้ผู้ที่อยู่หน้างานมีความล้าในการทำงาน
“ผู้อำนวยการโรงพยาบาลในอำเภออาจถูกย้ายไปอยู่จังหวัดอื่นหรือย้ายไปส่วนกลาง คนที่มาทำใหม่ก็มึนเหมือนกันนะ กลายเป็นว่าฝ่ายนโยบายเคลื่อน แต่คนที่อยู่หน้างานจะเจอปัญหา พอมีการโยกย้ายแล้วก็ขาดความต่อเนื่อง ศูนย์ประสานงานหลักด้านการสุขภาพประชาชนก็เจอสถานะคล้ายๆ กัน ในขณะที่คนเป็นหัวเรือใหญ่ในหน่วยราชการย้ายกันค่อนข้างบ่อย พื้นที่ที่ใช้กองทุนคืนสิทธิส่วนใหญ่เป็นพื้นที่กันดาร ซึ่งพื้นที่ชายแดนจะมีอัตราการโยกย้ายสูง”
การเปลี่ยนแปลงบุคลากรที่รับผิดชอบไม่ใช่เฉพาะแพทย์เท่านั้น แต่ยังหมายถึงเจ้าหน้าที่สาธารณสุข นักวิชาการ ซึ่งเมื่อเริ่มทำจนมีความเข้าใจและชำนาญงาน ก็อาจต้องโยกย้าย ทำให้การดูแลกลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะเหล่านี้ที่จะมารับบริการด้านสาธารณสุขไม่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
“องคาพยพไม่ได้มีหมอคนเดียว สมมติเจ้าหน้าที่ย้ายทุกๆปี หมอก็ถูกตัดกำลังไปเยอะ เพราะฉะนั้นการเคลื่อนงานในพื้นที่ชายขอบหมอก็กระอักอยู่พอสมควร พอสอนน้องๆ มาได้ รู้เรื่องหลักประกัน หลักสิทธิ น้องก็ไปอีกแล้ว หมอก็จะหัวโตอยู่คนเดียว กลายเป็นนำเดี่ยว ซึ่งไปยาก หลายๆ ประเด็นอัดลงไปที่พื้นที่ อาจมีคนตอบคำถามได้ไม่กี่คน ผมรู้สึกว่ามีลักษณะของการไม่ต่อเนื่องในพื้นที่ชายขอบตรงนี้”
แม้ว่ากองทุนฯ จะมีการให้ความสำคัญกับภาคีหุ้นส่วนศูนย์ประกันหลักสุขภาพเพื่อประชาชนแต่ก็ไม่มีการปฏิบัติกันอย่างจริงจัง
“อันนี้ก็เหมือนกัน ดูลอยๆ มากเลย มันไม่ได้รับการดูแลจริงๆ เหมือนเอามาแปะๆ ตัวงานมันไม่ชัดแล้วการหนุนลงมาอื่นๆ มันก็ดูเหมือนจับๆ ปล่อยๆ สปสช.ก็อาจมาช่วยดูบ้าง มันเหมือนยืนด้วยตัวเองไม่ได้ มันต้องเกาะเกี่ยวกับกลไกที่เป็นราชการอยู่ซึ่งมันแข็งตัว ทำให้ศูนย์ประกันหลักสุขภาพเพื่อประชาชนที่ดูแลผู้มีปัญหาสถานะบุคคลและกองทุนแบบนี้ มันถูกผูกติดไว้กับระบบรัฐมากเกินไป”
วิสุทธิ์มองว่าสิ่งสำคัญ การดำเนินงานกองทุนฯไม่มีปัญหาเพราะเชื่อว่าส่วนกลางคิดนโยบายได้ดี แต่ชี้ขาดกันตรงหน้างาน หากไม่มีแม่ทัพหรือขาดกำลังเสริมก็ไปยาก
ความท้าทายอีกประการหนึ่ง วิสุทธิ์มองว่ากระบวนทัศน์ในการทำงานเป็นเรื่องสำคัญ การทำงานเพียงต้องการให้กองทุนบรรลุวัตถุประสงค์ หรือต้องการให้คุณภาพชีวิตโดยรวมดีขึ้น เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพิจารณา
“กระบวนทัศน์กองทุนทั้งหลายทั้งปวงเวลาจำแนกคน เวลาเรารู้จักเขา เราจะรู้จักเขาเป็นตัวเลข หัว 0 หัว 5 หัว 6 เวลาเขามีปัญหาเราจัดเขาไปในช่องยาต่างๆ เหมือนช่องจัดอะไหล่ เขาอาจจะได้รับสิทธิจริงแต่ก็เสียสิทธิบางอย่าง ตรงนี้สำคัญมาก เราแค่ต้องการให้กองทุนบรรลุหรือต้องการให้คุณภาพชีวิตโดยรวมของเขาทั้งหมดดีขึ้นต้องมองแบบนี้ ถ้ามองกองทุนแบบแยกๆ แล้วก็จัดช่องยา ไม่รู้เลยว่ามีไลฟ์สไตล์อย่างไร เขาชาติพันธ์อะไร เขาเพศอะไร เขาอาจจะเพศทางเลือกก็ได้ เขามีฐานะอย่างไร อาชีพอะไร มีการศึกษาไหม เวลาเราวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายเราด้อยมาก เราขาดการเรียนรู้เรื่องกลุ่มเป้าหมาย”
วิสุทธิ์เห็นว่าการมองแค่เป้าหมายของงาน เป้าหมายของกองทุนโดยไม่มองไปที่การช่วยเหลือคน การปฏิบัติที่ผ่านมาจึงมักเน้นแค่ความชำนาญหน้างาน ถ้าคนมาใหม่ก็มาทำ ยังไม่มีความชำนาญก็อาจจัดคนเข้าช่อง ตามเลขเหมือนม้าแข่ง โดยไม่เข้าใจความหลากหลายของผู้มีปัญหาทางสถานะบุคคล การทำเรื่องสุขภาพของคน ต้องสนใจมิติอื่นๆ ประกอบด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังมีการให้ความสำคัญน้อยเกินไป
- 18 views