กรมสุขภาพจิต เดินหน้าจัดระบบข้อมูลสุขภาพผู้ป่วยรายบุคคล บูรณาการข้อมูลใกล้ที่ไหนรักษาที่นั่น สอดคล้องนโยบายรักษาทุกที่ พร้อมร่วม สปสช. จัดกองทุนยาจิตเวช จัดระบบสต๊อกยา รพ.ชุมชน ช่วยแก้ปัญหาต้นทุน และบริหารจัดการไม่ให้ขาดยา
เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ที่อาคารผู้ป่วยใน โรงพยาบาลศรีธัญญา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมด้วย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต ร่วมในงานแถลงข่าว World Bipolar Day "เปิดใจให้ไบโพลาร์" เพื่อสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วไปในโรคไบโพลาร์
พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า โรคไบโพลาร์เป็นผู้ป่วยกลุ่มจิตเวช อาจจะยังเป็นที่ไม่รู้จักมากนักทำให้มุมมองและทัศนคติไม่ตรงกับตัวโรค โดยผู้ป่วยจะมีภาวะอารมณ์ที่แปรปรวน อารมณ์สองขั้ว บางครั้งออกดูครึกครื้นกว่าปกติ เรียกว่า แมเนีย(Mania Hypomania) สลับกับภาวะอารมณ์ซึมเศร้า(Major Depressed Episode) สลับไปมาซึ่งบางครั้งอาจทำให้คนรอบข้างไม่เข้าใจ ส่งผลต่อทัศนคติว่าผู้ป่วยเป็นคนที่ไม่ดูแลตนเอง ควบคุมตัวเองไม่ได้ จึงเป็นที่มาในกลุ่มจิตแพทย์เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และกำหนดให้วันที่ 30 มีนาคม เป็น "วันไบโพลาร์โลก" เพื่อพูดเรื่องนี้กับสังคม ทำความเข้าใจกับประชาชนทั่วไปให้มากขึ้น โดยตัวเลขตามทางระบาดวิทยา พบผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ประมาณร้อยละ 1.5 ถึง 5 เกิดมาจากสารสื่อประสาทในสมองทำงานผิดปกติ ผู้ที่มีความเครียดสะสมและในบางรายอาจเกิดจากพันธุกรรมได้
พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า สัญญาณของโรคที่สามารถสังเกตได้คือ มีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่นหากผู้ป่วยเป็นคนที่พูดเก่งอยู่แล้ว ทำงานเยอะอยู่แล้ว เมื่อมีอาการแมเนีย ก็จะทำได้ทั้งคืนไม่หลับไม่นอน กระตือรือร้นเกินปกติ ใช้จ่ายมากกว่าปกติ และในบางรายที่มีอารมณ์สองขั้วก็จะมีเปลี่ยนเป็นอีกขั้วหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และในช่วงที่มีอารมณ์ซึมเศร้าก็อาจจะส่งผลต่อการฆ่าตัวตายได้ โดยอาการในแต่ละรอบของโรค อาจจะเป็นอยู่นานถึงสัปดาห์หรือรายเดือนก็ได้ ดังนั้น การรู้เร็วรักษาเร็ว ก่อนที่จะมีภาวะอาการเกิดขึ้นในอีกวงรอบหนึ่งของโรค เพื่อลดโอกาสในการเกิดซ้ำของวงรอบต่อไป ไปจนถึงการรักษาที่ต่อเนื่อง ไม่ขาดยา
พญ.พรรณพิมล กล่าวอีกว่า จากสถานการณ์โควิด19 กระทบต่อผู้ป่วยเช่นกัน เนื่องจากผู้ป่วยจิตเวชเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังทุกชนิด เมื่อมีการระบาดโควิด ทำให้ผู้ป่วยจิตเวชจำนวนหนึ่งขาดโอกาสในการไปสถานพยาบาลมากยิ่งขึ้น ซึ่งหลายประเทศก็พูดเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมฯ ทำระบบข้อมูลสุขภาพผู้ป่วยรายบุคคล เพื่อให้ทุกคนอยู่ในระบบการรักษา ไม่ว่าผู้ป่วยไปยังพื้นที่ใดก็สามารถเข้าถึงการรักษาได้ เนื่องจากผู้ป่วยจิตเวชส่วนหนึ่งไม่สามารถอยู่กับที่ได้ อาจต้องมีการเคลื่อนย้ายตามผู้ดูแล ซึ่งเกิดขึ้นกับคนไข้เราเสมอ จึงต้องมีการทำระบบข้อมูลส่วนบุคคลตรงนี้ เพื่อไปสู่นโยบายการรักษาทุกที่ในส่วนของผู้ป่วยจิตเวช
“นอกจากนี้ กรมฯ จะร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ในการจัดกองทุนยาจิตเวช เพื่อจัดระบบการสต๊อกยา เพราะหากไปอยู่ในพื้นที่ที่มีโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็ก ซึ่งการจะสต๊อกยาไว้ในโรงพยาบาลชุมชนอาจค่อนข้างยาก เพราะมีต้นทุนอยู่ จึงต้องบริหารจัดการตรงนี้ไม่ให้ขาดยา และให้มียาใกล้กับผู้ป่วยมากที่สุด ซึ่งเรื่องนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ” พญ.พรรณพิมล กล่าว
- 45 views