กรมสุขภาพจิตย้ำผู้ป่วยทางจิต มีสิทธิ์ได้รับการคุ้มครอง เผยไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์สองขั้ว สามารถรักษาหายได้ สำคัญที่ต้องกินยาให้ต่อเนื่อง
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคไบโพลาร์ หรือโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคอารมณ์ผิดปกติที่พบได้บ่อยในทั่วโลก ประมาณ 1-2% พบได้ในผู้หญิงและผู้ชายในอัตราที่เท่ากัน อายุเฉลี่ยที่เริ่มพบ คือ 20-30 ปี อีกทั้งพบว่า 1 ใน 5 ของผู้ป่วยฆ่าตัวตายสำเร็จ อย่างไรก็ตาม สามารถรักษาให้หายและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ซึ่งต้องได้รับกำลังใจและความเข้าใจจากคนรอบข้าง รวมทั้งได้รับการรักษาที่ต่อเนื่อง หากไม่ได้รับการรักษาหรือติดตามดูแลอย่างเหมาะสม สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ 80-90% การรักษาด้วยการรับประทานยาอย่างต่อเนื่องจึงสำคัญที่สุด สามารถขอรับบริการปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง
ปัจจุบันประเทศไทยมี พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ที่บัญญัติขึ้นเพื่อให้การคุ้มครองสังคมจากอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นจากผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตและมีภาวะอันตราย ในขณะเดียวกันก็คุ้มครองผู้ป่วยจิตเวช ให้ได้รับการบำบัดรักษาได้อย่างทั่วถึงและมีมาตรฐาน ตลอดจน คุ้มครองสิทธิในการเปิดเผยข้อมูลของผู้ป่วย รวมไปถึงการโฆษณาหรือการเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศใดๆ ที่น่าจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ป่วย ซึ่งการฝ่าฝืน จะมีบทลงโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ
หากพบเห็นผู้ที่มีอาการทางจิตที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสาธารณะ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ./1669) เพื่อขอความช่วยเหลือในการนำส่งโรงพยาบาลได้ทันที โดยไม่ต้องกลัวความผิดจากญาติของผู้นั้นจะมาฟ้องร้อง อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิตและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยไบโพลาร์จะมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดในลักษณะที่แตกต่างกันคนละขั้ว โดยมีความผิดปกติในระยะพลุ่งพล่านฟุ้งเฟ้อหรือมาเนีย (Mania) สลับกับระยะซึมเศร้า (Depression) โดยใน ระยะพลุ่งพล่านฟุ้งเฟ้อ อารมณ์จะเปลี่ยนแปลงง่าย มีความมั่นใจในตัวเองมาก ขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่หลับไม่นอน ไม่คิดถึงกฎเกณฑ์ของสังคม หากถูกห้ามปรามหรือขัดขวางในสิ่งที่ต้องการ จะหงุดหงิดฉุนเฉียว ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจพบมีอาการหลงผิดแบบมีความสามารถพิเศษเหนือคนอื่นจนถึงมีภาวะหวาดระแวงได้ ส่วนในระยะซึมเศร้า จะรู้สึกหดหู่ เบื่อหน่าย จิตใจไม่สดชื่น อารมณ์อ่อนไหวง่าย ร้องไห้ง่าย ไม่อยากพบใครหรือไม่อยากทำอะไร เบื่ออาหาร น้ำหนักลด นั่งเฉยๆ นานเป็นชั่วโมง ใจลอย หลงๆ ลืมๆ ไม่มั่นใจ ตัดสินใจไม่ได้ คิดว่าตนเองเป็นภาระและหากมีอาการหนักจะถึงขั้นฆ่าตัวตาย
โรคนี้มีสาเหตุและปัจจัยที่เกี่ยวข้องกันหลายประการ สาเหตุที่สำคัญ ได้แก่ ปัจจัยทางชีวภาพ คือ ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง นอกจากนี้ อาจมีปัจจัยเสริม เช่น ประสบวิกฤตการณ์หรือมีเหตุการณ์พลิกผันของชีวิต หรือมีปัจจัยกระตุ้นอื่นๆ ได้แก่ การอดนอน การใช้สารเสพติด หรือยากระตุ้น การรักษาด้วยการรับประทานยาอย่างต่อเนื่องจึงสำคัญที่สุด หากมีผลข้างเคียงจากยา ควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรหยุดยาเอง ในส่วนของญาติและคนใกล้ชิดควรร่วมเรียนรู้ เข้าอกเข้าใจ และให้กำลังใจแก่ผู้ป่วย ช่วยดูแลให้ผู้ป่วยกินยา ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ สังเกตอารมณ์และพฤติกรรมของผู้ป่วย รีบพาไปพบแพทย์ก่อนจะมีอาการมาก
สำหรับวิธีป้องกัน คือ ควรปรับวงจรการกินการนอนให้ปกติและสม่ำเสมอ ดูแลสุขภาพ เช่น ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมคลายเครียด ไม่ใช้สารเสพติด เช่น สุรา ยากระตุ้น ตลอดจนหมั่นสังเกตอารมณ์และพฤติกรรมของตนเอง เรียนรู้อาการเริ่มแรก และรีบพบแพทย์ก่อนจะมีอาการมาก รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
- 1619 views