ผลสำรวจพบคนไทยเป็นโรคติดการพนันเพิ่มขึ้น ใช้สารเสพติดมากขึ้น
ผลการสำรวจระบาดวิทยาสุขภาพจิตของคนไทยระดับชาติ ปี พ.ศ. 2566 โรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้น น่าห่วง! โรคแพนิค สูงขึ้นจากร้อยละ 0.2 พ.ศ.2556 เป็นร้อยละ 0.7 โรคติดการพนันเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2566 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จัดการประชุมวิชาการสุขภาพจิตนานาชาติครั้งที่ 22 ประจำปี 2566 ณ โรงแรมปรินซ์ พาเลซ กรุงเทพมหานคร สำหรับการประชุมในหัวข้อ ความรุนแรงในคนไทย : การสำรวจระบาดวิทยาสุขภาพจิตของคนไทยระดับชาติ ปี พ.ศ. 2566 ดร.นพ.นพพร ตันติรังสี ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นภาคใต้ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการสำรวจ เพื่อศึกษาความชุกและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับโรคจิตเวชและปัญหาสุขภาพจิตของคนไทย โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่มกราคม-มีนาคม 2566 ซึ่งระยะเวลา 3 เดือนก็เพียงพอ เพราะบริบทสังคมไทยเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั้งหมด 6 ภาค สุ่มพื้นที่ในแต่ละจังหวัด จำนวน 4,161 คน เพศชายร้อยละ 34.4 เพศหญิงร้อยละ 65.6 โดยเปรียบเทียบ พ.ศ.2566 กับ พ.ศ.2556 พบความเปลี่ยนแปลง ดังนี้
- โรคซึมเศร้า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เกิดขึ้นร้อยละ 0.8 สูงกว่าเดิมที่ ร้อยละ 0.6
- โรคแพนิค ที่มีผลจากระบบประสาทอัตโนมัติ โดยมีอาการตื่นตระหนกไม่กล้าออกจากบ้าน ตัวเลขน้อยลงกว่าเดิม 1 เท่า แต่โรคแพนิคที่กล้าเข้าสังคม ตัวเลขเพิ่มขึ้นจากเดิมเป็นร้อยละ 0.7 จากเดิมที่ ร้อยละ 0.2
- โรคทางอารมณ์ทั้งหมดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นร้อยละ 0.8 จากเดิมร้อยละ 0.7
ส่วนโรคที่เกี่ยวข้องกับการดื่มเหล้าลดลง แต่พบการใช้สารเสพติดเพิ่มมากขึ้น เช่น ก่อความรุนแรงจากการใช้ยาเสพติด เพิ่มขึ้นจากเดิมร้อยละ 0.3 เป็นร้อยละ 0.8 และโรคติดการพนันเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จากเดิมร้อยละ 0.3 เป็นร้อยละ 0.6 สันนิษฐานว่า เกิดจากการพนันออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น ส่วนความพยายามในการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.08 เป็นร้อยละ 0.1 อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่นำเสนอจะเป็นไปตามข้อมูลที่เก็บได้ ยังไม่ได้ทำการแปลงข้อมูลโดยใช้วิธีการถ่วงน้ำหนักเพื่อประมาณการจำนวนประชากรของโรคจิตเวชและปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งจะนำส่งสำนักงานสถิติแห่งชาติต่อไป
ด้าน ดร.นพ.อธิบ ตันอารีย์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลศรีธัญญา กล่าวว่า ผลสำรวจในเชิงระบาดวิทยา ยังพบว่า การประสบเหตุการณ์ความรุนแรงระหว่างบุคคลและบาดแผลทางจิตใจ อาจก่อให้เกิดโรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (Post-Traumatic Stress Disorder: PTSD) กรมสุขภาพจิต จึงมีแนวทางในการดูแลผู้ป่วยตั้งแต่เมื่อมีการประสบเหตุ พัฒนาโปรแกรมคัดกรองว่า มีอาการตื่นตระหนกมากน้อยแค่ไหน พร้อมกับสำรวจความต้องการพื้นฐานเบื้องต้น และประเมินซ้ำ 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน เป็นการติดตามอาการ ทั้งนี้ โรค PTSD สามารถพบได้ในทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะผู้ที่เผชิญกับความรุนแรงโดยตรง ทั้งความรุนแรงภายในครอบครัว การทารุณกรรมตั้งแต่เด็ก และการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ส่วนวัยผู้ใหญ่มักจะพบปัญหาการถูกคู่สมรสทำร้ายนำไปสู่การหย่าร้าง พบมากที่สุดในผู้หญิงวัยทำงาน ซึ่งสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นของผู้ป่วยได้ ในช่วงต้นที่ประสบเหตุจะพบอาการตื่นตระหนกหรือด้านชาในความรู้สึก หลังจากเหตุการณ์นั้นผ่านไป 1-3 เดือน ก็จะเกิดอาการ เช่น
- หลีกเลี่ยงไม่พูดถึงหรือไม่ไปในสถานที่เกิดเหตุ
- คิดถึงเหตุการณ์ซ้ำ ๆ หรือฝันบ่อย ๆ
- ตื่นตระหนกตกใจ ระแวดระวังมากกว่าปกติ หรือรู้สึกไม่ปลอดภัยกับคนทั่วไปที่เข้ามาหา
- อาการเหล่านี้จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน และเกิดมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป
ขณะที่ นางวรวรรณ จุฑา นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญ สำนักวิชาการสุขภาพจิต กล่าวถึงความผิดปกติการควบคุมตัวเองในคนไทยว่า ลักษณะสำคัญของความผิดปกติการควบคุมตัวเอง คือ ไม่สามารถยับยั้ง หรือควบคุมความอยากในการกระทำใด ๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบตามมาต่อตนเองและผู้อื่น จัดอยู่ในกลุ่มโรคจิตเวชและความผิดปกติทางพฤติกรรมที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา ประกอบด้วย
- ความผิดปกติการระเบิดอารมณ์เป็นครั้งคราว
- โรคชอบขโมยหรือหยิบฉวย
- โรคชอบจุดไฟเผา
- โรคติดการพนัน
- โรคชอบถอนผม
- ความผิดปกติหมกมุ่นพฤติกรรมทางเพศ
- เสพติการซื้อของ
- โรคกินไม่หยุด
- โรคแกะผิวหนัง
- กัดเล็บ
"จากการสำรวจพบว่า โรคติดการพนัน ในคนไทยเพิ่มสูงขึ้น เมื่อเทียบกับ พ.ศ. 2556 คนเล่นการพนันสูงขึ้นเกือบเท่าตัว และพบโรคร่วมจิตเวชที่เพิ่มสูงขึ้น คือ เรื่องเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย ทั้งการคิด วางแผน และพยายามทำ ส่วนโรคอื่น ๆ ที่พบ เช่น โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า และโรคไบโพลาร์" นางวรวรรณ กล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
กรมสุขภาพจิต ชี้คนไทยเครียดเพิ่มขึ้นเท่าตัว ช่วงรอผลเลือกตั้งทางการ แนะวิธีสื่อสารด้วยความเข้าใจ
สายด่วนสุขภาพจิต 1323 พัฒนาระบบจองคิวรับคำปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 1549 views