เครือข่ายคัดค้านการทำแท้งเสรี ยื่นหนังสือที่รัฐสภา ชี้แจงผลกระทบจากกฎหมายการทำแท้งใหม่และแนวทางแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์
เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา เครือข่ายคัดค้านการทำแท้งเสรี โดยนพ.ภีศเดช สัมมานันท์ เครือข่ายคัดค้านการทำแท้งเสรี พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศ เข้ายื่นหนังสือต่อสส.มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ และคณะ ที่ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารรัฐสภา กรณีทบทวนกฎหมายทำแท้ง
โดยใจความสำคัญ ระบุว่า พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 พ.ศ. 2564 อนุญาตให้หญิงมีครรภ์สามารถทำแท้งได้ โดยไม่ต้องมีข้อบ่งชี้ใด ๆ ได้แก่ ปัญหาสุขภาพของมารดาและทารก หรือ การตั้งครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดทางอาญา จนอายุครรภ์ถึง 20 สัปดาห์ จะมีผลกระทบดังนี้
1.หญิงทำแท้งตนเองเป็นอันตราย
มาตรา 301 ให้หญิงทำแท้งเองได้ แต่การทำแท้งก่อนอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ โดยการใช้ยาแม้ทำโดยแพทย์ในสถานพยาบาลที่ทันสมัย ก็ยังเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ถึงร้อยละ 3-14 เช่น คำนวนอายุครรภ์คลาดเคลื่อน ท้องนอกมดลูก ซีด แท้งไม่ครบ รกค้าง ติดเชื้อ เสียชีวิต หากมารดาทำแท้งตนเอง ยิ่งมีโอกาสเกิดอันตรายมากและรุนแรงขึ้น
2.ซ้ำเติมทุกข์ยากของหญิงนั้น
มาตรา 301 ให้หญิงทำแท้งได้โดยไม่ต้องมีหลักเกณฑ์หรือวิธีการใด ๆ หากการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ไม่ได้รับการดูแลแบบองค์รวม ไม่ถามเหตุผล ปัญหา ไม่ช่วยเหลือ ไม่เสนอทางเลือก จะไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาให้หญิงนั้นได้เลย การทำแท้งนอกจากอาจเกิดอันตรายทางกาย มีความทุกข์ความรู้สึกผิดทางใจ ยังเสียเงินเสียทอง ยุติทำแท้งแล้วยังอาจกลับมาอยู่ในสภาวะปัญหาเดิม ๆ ตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์หรือทำแท้งซ้ำอีก
3.ละเมิดสิทธิเสรีภาพความเชื่อของบุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์หลายท่านมีความเชื่อทางศาสนาและถูกสอนมาให้รักษาชีวิตไม่ทำลายชีวิต ไม่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำแท้งที่ไม่มีเหตุผลที่จำเป็นเพียงพอ หลายคนไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้องแม้แต่การส่งต่อไปให้แพทย์ท่านอื่น และยังมีปัญหาด้านกฎหมาย เช่น ถ้าแพทย์ไม่ยินยอมทำแท้งจะถูกมารดาของทารกฟ้องร้องหรือไม่ ถ้าแพทย์ทำแท้งแต่บิดาของทารกในครรภ์หรือบิดามารดาของหญิงมีครรภ์ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะไม่ยินยอมจะฟ้องแพทย์ได้หรือไม่
4.บิดาถูกละเลยจากสิทธิและความรับผิดชอบต่อมารดาที่ตั้งครรภ์ บิดาถูกละเลยต่อการใช้สิทธิในการตัดสินใจและการร่วมรับผิดชอบในการทำแท้ง ทั้ง ๆ ที่เป็นบุพการีของทารกในครรภ์
5.ละเมิดสิทธิในการมีชีวิตอยู่ของเด็กในครรภ์
ความเชื่อทางศาสนา หลักสิทธิมนุษยชนสากล และหลักฐานทางการแพทย์ ชี้ให้เห็นว่าทารกในครรภ์มีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ตั้งแต่ปฏิสนธิ ไม่ใช่เพียงอวัยวะหรือส่วนเกินของมารดา ทารกถูกละเมิดสิทธิในการมีชีวิต ทั้ง ๆ ที่ทารกที่สมบูรณ์ในครรภ์ของมารดาที่แข็งแรง ที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์กับของบิดามารดาที่มีวุฒิภาวะและไม่ถูกบังคับขืนใจ ไม่มีข้อบ่งชี้ใด ๆ ว่าทารกนั้นเกิดมาแล้วจะต้องมีชีวิตที่ทุกข์ทรมานหรือสร้างปัญหาให้กับมารดาและสังคม แต่กลับมีโอกาสมีชีวิตที่มีความสุขและมีโอกาสสร้างคุณูปการอย่างยิ่งให้กับมารดาและสังคมเหมือนกับเด็กทั่วไป
6.เป็นการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานทางศีลธรรม และความเชื่อทางศาสนา ของชาวไทยอย่างใหญ่หลวง สังคมไทยให้ความสำคัญกับความเมตตาปรานี เอื้ออาทร ช่วยเหลือชีวิตไม่สนับสนุนการทำลายชีวิต จะเปลี่ยนแปลงไป ญาติพี่น้องโดยเฉพาะบิดามารดาของหญิงตั้งครรภ์ซึ่งเป็นผู้ที่อุปการะเลี้ยงดู ใกล้ชิดและรักหญิงนั้นมากที่สุด กลับไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ คนในสังคมต้องการเห็นความเท่าเทียม ไม่แบ่งชั้นวรรณะ อายุ สภาพทางกายและจิต สมองหรือสติปัญญา กลับต้องเห็นการทำลายชีวิตมนุษย์โดยไม่มีข้อบ่งชี้เพียงพอใด ๆ อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเป็นปกติ
7.ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ทำแท้ง เนื่องจากในกฎหมายไม่ได้ห้ามการทำแท้งคนต่างชาติ หลายชาติมีวัฒนธรรมในการเลือกเพศของบุตรต้องการทำแท้งหากบุตรไม่ใช่เพศที่ต้องการจนต้องห้ามตรวจเพศของทารก จะเข้ามาทำแท้งในประเทศไทยเนื่องจากกฎหมายอนุญาตให้ตรวจเพศบุตรและทำแท้งได้ ปัจจุบันตรวจเพศบุตรได้ก่อน 12 สัปดาห์ ทั้งค่าใช้จ่ายยังต่ำ ประเทศไทยต้องเสื่อมเสียจากการได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางการแพทย์ทำแท้ง ดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วจากเรื่องอุ้มบุญที่อาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย
โดยมีข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการท้องก่อนวัยอันควรและการทำแท้ง
1. มีการสอนเพศศึกษา การคุมกำเนิด เผยแพร่ปัญหาของการมีเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร
2. การทำแท้งควรทำโดยแพทย์ ในสถานบริการที่มีความพร้อม มีข้อบ่งชี้เพียงพอ ทุกการทำแท้งต้องผ่านการให้คำปรึกษา ทางเลือกการช่วยเหลือ หากเปลี่ยนใจไม่ทำแท้งต้องมีหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือจนกว่าจะดูแลตนเองและลูกได้ หากทำแท้งหลังทำก็ต้องมีหน่วยงานให้ความช่วยเหลือ
3. ตั้งหน่วยงานยุติการตั้งครรภ์ในสถานพยาบาลของรัฐ สามารถใช้สิทธิการรักษาเพื่อลดการทำแท้งเถื่อน ไม่บังคับบุคลากรทางการแพทย์ผู้ไม่สมัครใจ
4. รัฐต้องให้ความสำคัญกับเด็ก ร่วมรับผิดชอบจากแรกปฏิสนธิถึงการคลอด การเลี้ยงดูจนเป็นผู้ใหญ่ สนับสนุนสถาบันครอบครัว ศาสนา หน่วยงานรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นที่พึ่งพิงได้โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจสังคม เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่มารดาแต่เพียงผู้เดียว
5. หากหญิงผิดกฎหมายทำแท้ง ฝ่ายชายผู้เป็นพ่อที่สนับสนุนหรือเพิกเฉยต้องร่วมรับผิด
6. บังคับใช้พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นให้เกิดประสิทธิผล อย่างแท้จริง
- 3175 views