สังคมโลกนับตั้งแต่อดีตมีมุมมองเกี่ยวกับการทำแท้งที่เกี่ยวพันกับความเชื่อและศาสนาเป็นอย่างมาก สำหรับศาสนาคริสต์ โดยเฉพาะนิกายโรมันคาธอลิคและกรีกออโธดอกซ์ ต่อต้านการทำแท้งในทุกกรณี ในขณะที่นิกายโปรเตสแตนต์มักมีแนวทางที่ผ่อนคลายมากกว่า สำหรับศาสนาอิสลามมีแนวทางที่ใกล้เคียงกัน คือ อนุญาตให้ทำแท้งได้ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพจริงๆ เท่านั้น ส่วนศาสนาพุทธและฮินดูพบว่าไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนในคำสอน และเมื่อสำรวจมุมมองด้านกฎหมายและนโยบายเรื่องการทำแท้งในแต่ละประเทศก็มีแนวทางที่ต่างกันออกไป
จากแผนภาพแสดงนโยบายด้านการทำแท้งของประเทศต่างๆ ในโลก จะเห็นว่า
- สีน้ำเงินเข้มหมายถึงมารดามีสิทธิที่จะทำแท้งได้ภายในอายุครรภ์ที่กำหนด
- สีชมพู ซึ่งพบมากในกลุ่มประเทศมุสลิมและแอฟริกา หมายถึงการทำแท้งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย โดยมีข้อยกเว้นเรื่องสุขภาพ
- กรณีของประเทศไทยอยู่ในกลุ่มสีส้ม คือผิดกฎหมายแต่มีข้อยกเว้นเรื่องสุขภาพและการตั้งครรภ์ที่เกิดจากการถูกข่มขืน
- สีดำคือกฎหมายทำแท้งแตกต่างกันไปตามรัฐ
ประเด็นที่น่าสนใจคือ นโยบายด้านการทำแท้งของภาครัฐมีผลอย่างมากต่ออัตราการทำแท้งของประชากรในประเทศ ตัวอย่างเช่น ประเทศโปแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมีอิทธิพลสูง ด้วยเหตุนี้กฎหมายจึงไม่อนุญาตให้มีการทำแท้ง เว้นแต่ในกรณีที่เป็นอันตรายต่อมารดา การตั้งครรภ์ที่เกิดจากการถูกข่มขืน และเสี่ยงต่อการไม่สมประกอบของทารก แพทย์ที่ทำแท้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ในขณะที่สตรีที่เข้ารับการทำแท้งไม่มีโทษ ไม่น่าแปลกใจเลยว่าอัตราการทำแท้งเถื่อนในโปแลนด์จึงมีสูง ยกตัวอย่างในปี 2003 (พ.ศ.2546) การทำแท้งโดยชอบด้วยกฎหมายมีเพียง 170 ราย ในขณะที่การทำแท้งเถื่อนมีสูงถึง 120,000 ราย
ในขณะที่บางประเทศที่มีนโยบายเปิดกว้างด้านการทำแท้ง เช่น ฮอลแลนด์ กลับมีอัตราการทำแท้งต่ำที่สุดในโลกเพียง 6.5 ต่อจำนวนสตรี 1,000 คน ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลฮอลแลนด์มุ่งให้การศึกษาเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัว และการคุมกำเนิดเป็นสำคัญ
เมื่อกลับมาพิจารณานโยบายด้านการทำแท้งในประเทศไทย ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายที่ระบุเรื่องการทำแท้งคือ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 ซึ่งระบุว่าการทำแท้งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ยกเว้นเป็นการท้องที่มีผลมาจากการถูกข่มขืน หรือการท้องนั้นเป็นอันตรายต่อชีวิตของผู้หญิงที่ท้องเอง เงื่อนไขนี้ทำให้ผู้หญิงที่ท้องจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ท้องเพราะมีเพศสัมพันธ์แต่ไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรได้ ไม่สามารถทำแท้งได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย อันเป็นสาเหตุให้ผู้หญิงเหล่านี้หันไปพึ่งพาคลินิคทำแท้งเถื่อน
ในอดีตมีความพยายามจะแก้กฎหมายอาญาเรื่องความผิดฐานทำให้แท้งลูก ตามมาตรา 301-305 อยู่หลายครั้ง การเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการปรับแก้กฎหมายทำแท้งเริ่มมีมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2517-2521 แต่จริงจังและเป็นรูปธรรมชัดเจน เมื่อปี พ.ศ.2522 เป็นต้นมา ช่วงเวลาที่ไปได้ไกลที่สุดคือ ระหว่างการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529) ซึ่งระบุว่าจะต้องแก้มาตรา 305 โดยเพิ่มข้อยกเว้นให้ทำแท้งได้ถูกกฎหมายอีก 2 ประการ คือ เมื่อผู้หญิงที่ตั้งท้องมีปัญหาด้านสุขภาพกายหรือจิต และเมื่อการตั้งครรภ์เกิดจากการคุมกำเนิดล้มเหลวจากการปฏิบัติของแพทย์ แต่เมื่อกฎหมายผ่านสภาผู้แทนราษฎรไปแล้วในปี พ.ศ.2524 เกิดขบวนการที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขกฎหมายนี้ โดยมีผู้นำขบวนการคือ พลตรีจำลอง ศรีเมือง (ยศในขณะนั้นคือพันเอก) ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์และเป็นวุฒิสมาชิกด้วย ทำให้ความพยายามแก้ไขกฎหมายมาตรา 305 ในครั้งนั้นล้มไป จากนั้นก็มีความพยายามแก้กฎหมายอีกหลายครั้ง แม้แต่ช่วงสถานการณ์โรคเอดส์ระบาดอย่างรุนแรง ในช่วงปี พ.ศ.2530-2531 ความพยายามในการแก้กฎหมายของแพทยสภาก็ต้องพับเก็บไปเช่นกัน หลังจากนั้นองค์กรเอกชน นักวิชาการ และนักกฎหมายก็ออกมาเคลื่อนไหวเป็นระยะๆ โดยการเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งในช่วงปี พ.ศ.2544 แต่ยังอยู่ในระดับการพูดคุยและนำเสนอแนวคิดต่อสาธารณะมากกว่าจะพัฒนาเป็นร่างกฎหมายได้จริง
ย้อนกลับไปมองประวัติศาสตร์ของสังคมไทย กล่าวได้ว่า การทำแท้งของผู้หญิงไทยแต่โบราณเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับรัฐ ในขณะที่การทำแท้งกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายเมื่อมีการปรับปรุงกฎหมายไทยให้เป็นไปตามเงื่อนไขทางการเมืองในยุคจักรวรรดินิยม มีการประกาศยกเลิกกฎหมายลักษณะผัวเมีย และบังคับใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ซึ่งรับเอาแนวคิดมาจากกฎหมายเยอรมัน ในกฎหมายดังกล่าว มีบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดฐานทำให้แท้งลูกในมาตรา 260-264 ห้ามการรีดลูกนับแต่เด็กเริ่มปฏิสนธิจนถึงก่อนคลอด โดยไม่มีบทยกเว้นโทษในทุกกรณี กระทั่งการประกาศใช้ประมวลกฎหมายอาญาในเดือนมกราคมปี พ.ศ.2500 ได้มีการปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดฐานทำให้แท้งลูก และบรรจุไว้ในมาตรา 301-305 ซึ่งบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญานี้ ได้ยกเว้นความผิดของการทำแท้งไว้สองกรณี คือ เมื่อมีความจำเป็นเนื่องจากสุขภาพของหญิง และเมื่อครรภ์นั้นเกิดจากการถูกข่มขืน กฎหมายนี้บังคับใช้มาจนปัจจุบัน โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ
ในงานวิจัยของกฤตยา อาชวนิจกุล จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ระบุว่าเมื่อการทำแท้งเป็นเรื่องผิดกฎหมายในประเทศไทย ทำให้ผู้หญิงไทยที่ท้องโดยไม่พร้อม ต้องหันไปพึ่ง “วิธีอื่น” ในการทำแท้ง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อสุขภาพของมารดา และกฤตยายังเห็นอีกว่าความหมายของคำว่า “ทำแท้งเสรี” นั้นแท้จริงแล้วหมายถึงการตัดสินใจอย่าง “เสรี” ของมารดาภายใต้ข้อจำกัดที่กำหนดไว้ในกฎหมายหลายข้อหรือหลายขั้นตอน ที่สำคัญ คือ ใครบ้างที่มีคุณสมบัติสามารถเป็นผู้ให้บริการได้ ระยะเวลาของการตั้งครรภ์ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ต้องพิจารณาว่าทำแท้งได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นการทำแท้งเสรีจึงไม่มีในโลกนี้ !
เก็บความและภาพจาก
บทความเรื่อง กฎหมายการทำแท้งกับมุมมองของสังคมไทย 22/11/2010 แหล่งที่มา : http://www.siamintelligence.com/thailand-abortion-law/
บทความเรื่อง สังคมเปลี่ยน: กฎหมายทำแท้งควรเปลี่ยนหรือไม่? แหล่งที่มา : http://www.sarakadee.com/feature/2001/11/vote.shtml
- 1984 views