เครือข่ายคัดค้านการทำแท้งเสรี เตรียมยื่นหนังสือถึงรัฐสภา 17 มี.ค. ขอทบทวนการออกกฎหมายทำแท้ง หวั่นอันตรายเปิดหญิงทำแท้งได้เองเสี่ยงอันตรายถึงตาย ละเมิดสิทธิทารก
เมื่อวันที่ 16 มี.ค. นพ.ภีศเดช สัมมานันท์ ประธานเครือข่ายคัดค้านการทำแท้งเสรี กล่าวถึงกรณีการแก้ไขกฎหมายให้หญิงทำแท้งเสรี ว่า กฎหมายเดิมผู้หญิงจะสามารถทำแท้งได้จะต้องมีข้อบ่งชี้ เช่น การตั้งครรภ์นี้มีผลต่อสุขภาพของมารดา หรือ การตั้งครรภ์เกิดจากความผิดทางอาญา เช่น การข่มขืน หรือการตั้งครรภ์ในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นต้น แต่กฎหมายใหม่ คือ การแก้ไข พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 มาตรา 305 (4) หญิงสามารถทำแท้งได้โดยไม่ต้องมีข้อบ่งชี้ใดๆ เพียงผู้หญิงยืนยันที่จะทำแท้ง ซึ่งสามารถทำได้จนถึงอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ นอกจากนี้ ยังมีมาตรา 305 (5) อนุญาตให้หญิงทำแท้งได้ถ้ามีการยืนยัน ถึงแม้ว่าจะต้องผ่านขั้นตอนของแพทยสภา หรือกระบวนการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ก็ตาม หากยืนยันก็สามารถทำได้ง่ายๆ
“เหมือนกับว่าถึงแม้จะผ่านกระบวนการต่างๆ มาแล้วก็ตามถ้าหญิงยืนยันก็ทำได้เท่ากับว่าไม่จำเป็นต้องมีข้อบ่งชี้ใดๆ อยู่ดี ทั้งมาตรา 301 มาตรา 305 (4) มาตรา 305 (5) เท่ากับว่าหญิงทำแท้งเสรีได้จนถึงอายุครรภ์ 20 สัปดาห์ ซึ่งเป็นที่น่ากังวล อย่างมาตรา 301 ให้หญิงทำแท้งได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องทำโดยแพทย์ มีปัญหาเรื่องความปลอดภัย เพราะขนาดทำโดยแพทย์และทำในสถานพยาบาลยังมีโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนได้ บางรายถึงขั้นเสียชีวิต นอกจากนี้ การที่หญิงไม่ผ่านกระบวนการให้ความช่วยเหลือนั้นอาจจะทำให้ผู้หญิงเหล่านี้กลับไปอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมๆ อาจจะมีปัญหาท้อง และทำแท้งเป็นวังวนเดิมๆ” ประธานเครือข่ายคัดค้านการทำแท้งเสรี กล่าว
นพ.ภีศเดช กล่าวต่อว่า ดังนั้นเรื่องนี้ทางเครือข่ายฯ ซึ่งมีทั้งแพทย์ และประชาชน จะเดินหน้าคัดค้านการทำแท้งเสรี 2 ประเด็นใหญ่ๆ คือ 1.การให้ความรู้กับผู้เกี่ยวข้องและสังคม ว่ากระบวนการทางสังคมคือจะให้ข้อเท็จจริงว่า ทารกในครรภ์ตั้งแต่กำเนิด ไม่ใช่เป็นแค่อวัยวะส่วนหนึ่งของบรรดาเท่านั้นไม่ใช่ส่วนหนึ่งของมดลูก แต่คืออีกหนึ่งชีวิตที่แยกจากมารดา และแยกจากมดลูกของมารดาเพราะฉะนั้นทารกก็ถือเป็นมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งตามหลักการทางการแพทย์ตั้งแต่ที่มีการปฏิสนธิก็มีการแบ่งตัวของโครโมโซมตัวอ่อนที่ต่างจากของมารดาก็เป็นข้อพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่าเขาไม่ใช่อวัยวะหนึ่งของมารดา และปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์สามารถตรวจพบการเต้นของหัวใจได้ตั้งแต่ทารกได้ 5 สัปดาห์ 2.การผลักดันให้มีการทบทวนการออกกฎหมายดังกล่าว โดยในวันที่ 17 มี.ค.นี้ทางเครือข่ายฯ จะเดินทางไปยื่นหนังสือที่รัฐสภา
“ความเป็นมนุษย์ เริ่มตั้งแต่มีการปฏิสนธิ และทางสิทธิมนุษยชนจะให้ความคุ้มครองเด็กตั้งแต่ก่อนคลอด และหลังคลอด ดังนั้นเมื่อนิยามของสิ่งมีชีวิตเริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิ เพราะฉะนั้นโดยหลักสิทธิมนุษยชนของเด็กก็ต้องได้รับการคุ้มครองตั้งแต่เริ่มมีการปฏิสนธิแล้ว อวัยวะต่างๆ ก็พัฒนาอย่างรวดเร็ว หัวใจสามารถตรวจพบการเต้นได้ตั้งแต่ 5 สัปดาห์”นพ.ภีศเดช กล่าว และว่า เนื่องจากว่ากฎหมายนี้ออกมาอย่างรวดเร็ว เราไม่ทันตั้งตัว ไม่มีใครได้รับทราบกระบวนการในการแก้ไข พวกเรามีทั้งหมอ และประชาชนเลยมีการรวมตัวของเครือข่ายฯ ขึ้นมา ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมาย ไม่ทราบว่าจะออกมาแบบนี้ เราต้องพยายามชี้แจง ทำความเข้าใจกับสังคม ว่าชีวิตของทารกในครรภ์เป็นอย่างไร การกระทำแบบนี้เป็นการละเมิดสิทธิการมีชีวิตอยู่ของทารกในครรภ์
- 309 views