เปิดตัวเลขฉีดวัคซีนโควิด19 ตั้งแต่ 28ก.พ.- 4 มี. ค. รวม 17,697 ราย พบผู้มีอาการไม่พึงประสงค์ 270 ราย ส่วนใหญ่ปวดบวมที่ฉีด คลื่นไส้ เวียนศีรษะ มีรุนแรง 2 รายแต่ล่าสุดสรุปไม่ใช่อาการข้างเคียงรุนแรง แต่เป็นอาการที่สามารถเกิดได้
เมื่อวันที่ 5 มี.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของซิโนแวค ว่า จากการดำเนินการฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.- 4 มี. ค. รวม 17,697 ราย พบผู้มีอาการไม่พึงประสงค์ 270 ราย คิดเป็น 1.5% แบ่งเป็นการปวด บวม ที่ฉีด 24 % คลื่นไส้ 15% เวียนศีรษะ 13% ปวดกล้ามเนื้อ 8 % ส่วนที่มีอาการอาจจะรุนแรงพบ 2 ราย รายแรกเป็นแพทย์ที่รพ.สมุทรสาคร ซึ่งตอนหลังผู้เชี่ยวชาญพิจารณาแล้วสรุปว่าไม่ใช่อาการข้างเคียงรุนแรง แต่เป็นอาการที่สามารถเกิดได้ ส่วนอาการท้องเสียน่าจะเกิดจากอาหารเป็นพิษ อย่างไรก็ตาม รอผลแลปมายืนยันอีกครั้ง และไม่ห้ามฉีดวัคซีนเข็ม 2 ส่วนประวัติการแพ้ยาเพนนิซิลียนั้นก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับวัคซีน และไม่เป็นข้อห้ามไม่ให้คนที่แพ้ยาเพนนิซิลีนในการรับวัคซีนป้องกันโควิดแต่อย่างใด
รายที่ 2 ซึ่งเป็นรายล่าสุดนั้น เบื้องต้นพบว่าเป็นพยาบาลที่รพ.ราชบุรี อายุ 39 ปี ไม่มีประวัติแพ้อาหาร หรือแพ้ยาอะไรมาก่อน แต่หลังรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 และในช่วงที่เฝ้าสังเกตอาการก็พบว่า หน้ามืด คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอกนิดหน่อย ผื่นขึ้นบริเวณใบหน้านิดหน่อย ปวดท้องบ้าง ความดันลดลงเล็กน้อย แพทย์ให้ยาแก้แพ้ และอะดรีนาลีนก็ทำให้อาการดีขึ้น ทันที และกลับมาทำงานต่อ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้มีการเก็บตัวอย่างซีรัมไปตรวจหาระดับเอนไซน์บางตัวว่าอาการที่พบในช่วง 30 นาที แรกหลังรับวัคซีนนั้นเป็นปฏิกิริยาที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนหรือไม่ ซึ่งจากนี้จะนำรายละเอียดเข้าคณะกรรมการติดตามผลกระทบหลังได้รับวัคซีนเพื่อพิจารณาโดยละเอียดอีกครั้ง
สำหรับอาการข้างเคียงต่างๆ ซึ่งเป็นอาการเล็กน้อยที่พบ นั้นส่วนใหญ่พบได้ 1 ใน 3 ของคนรับวัคซีน ซึ่งสามารถพบอาการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ แต่มีการวิเคราะห์ว่าเมื่อมีอาการใดๆ ในเข็มแรกไปแล้ว เมื่อรับวัคซีนเข็มที่ 2 อาจจะไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย ทั้งนี้ จากรายงานของไทยที่พบ 1.5% นั้นยังอยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดหมาย ซึ่งก็ต้องมีการพิจารณาหลายอย่างประกอบกัน เพราะบางครั้งอาการเวียนหัว หน้ามืด ใจสั่น อาจจะเกิดจากความกลัวเข็ม กลัววัคซีน การพักผ่อนน้อย การป่วยอย่างอื่น เป็นต้น เพราะฉะนั้นการเตรียมตัวก่อนรับวัคซีนก็เป็นเรื่องสำคัญ ต้องมีการแจ้งประวัติการใช้ยา การแพ้อาหาร แพ้ยาต่างๆ ให้แพทย์ทราบ ก่อนรับวัคซีนควรพักผ่อนให้เพียงพอ ถ้ามีไข้ ไม่สบายควรเลื่อนนัดฉีด อย่ารับประทานยาลดไข้หรือยาแก้ปวดเพราะยาอาจไปกดภาวะการอักเสบทำให้การตอบสนองของวัคซีนลดลง เมื่อกลับบ้านแล้ว อาจพบว่ามีผลข้างเคียงเกิดขึ้น เช่น มีผื่น ปวด บวม บริเวณที่ฉีด หรือมีไข้ต่ำๆ ซึ่งหลังจากได้รับวัคซีนครึ่งชม. ถึง 2 ชม. อาการจะค่อยๆ ลดลง แต่ถ้าไข้สูงมาก รีบกลับมาพบแพทย์ หรือโทรแจ้ง 1669 ทั้งนี้หลังฉีดแล้วควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3 วัน เพราะหากมีอาการอะไรจะได้ทราบว่าเป็นผลมาจากวัคซีนหรือไม่
“ที่เรากังวลเกี่ยวกับการรับวัคซีน และจับตาอยู่คืออาการข้างเคียงรุนแรง เช่น ชัก กล้ามเนื้ออ่อนแรงปากเบี้ยว กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อไขสันหลังอักเสบ ซึ่งมีรายงานในต่างประเทศ แต่พบได้น้อย 1 ในล้านคน ประเทศไทยก็ไม่ประมาท มีการตั้งระบบเฝ้าระวังในรพ.ใหญ่ 15 แห่ง ในหลายจังหวัด โดยเฉพาะกทม. เพื่อรับให้คำปรึกษา และการส่งต่อ ซึ่งมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทคอยดูแลด้วย” นพ.จักรรัฐ กล่าว
- 33 views