กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ส่งพนักงานเจ้าหน้าที่ลงตรวจโรงพยาบาลเอกชน หลังถูกร้องเรียกมีการประเมินค่าใช้จ่ายและเรียกเก็บค่ารักษาจากผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตจนเป็นเหตุให้เกิดการรักษาล่าช้าจนผู้ป่วยเสียชีวิต ย้ำสถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
เมื่อวันที่ 2 มี.ค. ที่อาคารกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดี สบส.นำทีมพนักงานเจ้าหน้าที่ รับเรื่องร้องเรียนจากนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ซึ่งระบุว่าโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ในเขตจตุจักร มีการประเมินค่าใช้จ่ายและเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากพริตตี้สาวซึ่งเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ทำให้เกิดการรักษาล่าช้าและอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต เมื่อช่วงเช้าวันที่ 23 กุมภาพันธุ์ ที่ผ่านมานั้น
นพ.ธเรศ ให้สัมภาษณ์ภายหลังรับเรื่องร้องเรียนว่า ขณะนี้ สบส.ได้สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย และกองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วนโดยจะมุ่งตรวจสอบในประเด็นสำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ใน 2 ประเด็น คือ 1. การให้บริการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวในการดูแลเยียวยาผู้ป่วยฉุกเฉินว่าเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ซึ่งจะมีการตรวจสอบจากเวชระเบียน/เอกสารทางการแพทย์ของโรงพยาบาล และ 2. แนวทางการประเมินเกณฑ์ผู้ป่วยว่าเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤติของโรงพยาบาล เป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ และจะมีการเรียกตัวผู้เกี่ยวข้องทั้งทางฝั่งโรงพยาบาลเอกชน และญาติผู้เสียชีวิตมาให้ถ้อยคำกับคณะอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียน ซึ่งประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากแพทยสภา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ฯลฯ พิจารณาเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการภายใน 7 วันทำการ
นพ.ธเรศ กล่าวว่า นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients ; UCEP) เป็นนโยบายของภาครัฐที่มีคุณประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมาก ในการสร้างความความครอบคลุม ลดความเหลื่อมล้ำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลอย่างปลอดภัยโดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษา 72 ชั่วโมงแรก ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 – มกราคม 2564 สปสช.มีการพิจารณาเบิกจ่ายเงินชดเชย UCEP ไปแล้วกว่า 85,000 ครั้ง รวมเป็นเงินกว่า 4,900 ล้านบาท จึงขอกำชับให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งปฏิบัติตามนโยบาย UCEP และกฎหมายสถานพยาบาลอย่างเคร่งครัด โดยยึดชีวิตผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก หากประชาชนพบสถานพยาบาลแห่งใดไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกำหนด ก็สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรม สบส. 1426
ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า สำหรับสถานพยาบาลเอกชนที่ปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) หรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วยหรือญาติเป็นเหตุให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยล่าช้าไม่เป็นไปตามมาตรฐานการรักษาที่เหมาะสม จะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 36 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ เพื่อความชัดเจนในการประเมินเกณฑ์ผู้ป่วยว่าเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) หรือไม่ ขอให้สถานพยาบาลใช้ระบบบันทึกและประเมินผู้ป่วย (UCEP) ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และหากพบปัญหาในการวินิจฉัยคัดแยกผู้ป่วยให้ปรึกษาขอคำวินิจฉัยจากศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของ สพฉ. ผ่านสายด่วน 02 872 1669 โดยให้ยึดคำวินิจฉัยของศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเป็นที่สุด
- 34 views