ที่ปรึกษารมช.สธ. ห่วงสถานการณ์การเมืองเมียนมา หากคุกรุ่นอย่างเร็ว 1 สัปดาห์มีผู้อพยพลี้ภัยเข้าไทย เร่งประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องรับมือป้องกันปัญหาหากมีผู้ติดเชื้อก่อโรคโควิด หวั่นระบาดในประเทศ
นายธนิตพล ไชยนันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข( ที่ปรึกษา รมช.สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ในอำเภอแม่สอด จ.ตาก ว่า สถานการณ์แม่สอดนั้น ขณะนี้ไม่มีความกังวลมาก เนื่องจากทางกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รวมทั้งศบค. มีการดำเนินการต่างๆ ทั้งตรวจคัดกรองเชิงรุก การลงพื้นที่ไปตลอดเวลา มีการเตรียมพร้อมอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ เพียงแต่สิ่งที่ประชาชนกังวลคือ ยังมีผู้ติดเชื้ออยู่เรื่อยๆ แต่ข้อเท็จจริงแล้ว ผู้ติดเชื้อดังกล่าวอยู่ในมือแพทย์แล้ว และมีการขยายผลในการติดตามผู้สัมผัสต่างๆ จะเห็นได้ว่าตัวเลขผู้ป่วยพื้นที่แม่สอดมีเรื่อยๆ แต่ประชาชนสามารถใช้ชีวิตอย่างปลอดภัยได้ แต่สิ่งสำคัญที่ทางกระทรวงสาธารณสุข เตรียมพร้อมคือ กรณีข้อกังวลสถานการณ์ในเมียนมา ซึ่งต้องมีการเตรียมพร้อมเพราะเข้าใจว่า จะมีการอพยพในเรื่องของปัญหาการเมืองเข้ามายังไทย ซึ่งคนของเมียนมาที่เป็นผู้ลี้ภัยก็อาจต้องเข้ามาอยู่ในชายแดนไทย
นายธนิตพล กล่าวว่า ในเรื่องการจัดการก็จะมี 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ฝ่ายความมั่นคงจะมีการดำเนินการอย่างไรให้การอพยพเหล่านี้จะไม่กระทบต่อการเมืองทั้ง 2 ประเทศ และ ส่วนที่ 2 เรื่องการสาธารณสุข เพราะการอพยพเข้ามา ผู้อพยพอาจติดโควิด และอาจทำให้เราคุมโรคนี้ได้ยาก ซึ่งล่าสุดได้มีการสั่งการเรื่องนี้ให้ทางสสจ. เตรียมความพร้อมรองรับผู้อพยพ หากมีการอพยพขึ้นมา ซึ่งจากมาตรการที่ทำอยู่ปกติก็เชื่อว่าจะควบคุมโรคโควิดได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ต้องยืนยันว่า เรื่องนี้กระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถดำเนินการได้ฝ่ายเดียว ต้องอาศัยหลายหน่วยงานในการบูรณาการร่วมกัน เช่น ปภ. ต้องช่วยในเรื่องการเตรียมพื้นที่รองรับหากมีการอพยพเกิดขึ้น และต้องไปชี้แจงประชาชนให้ทราบให้เข้าใจเรื่องนี้
รวมทั้งในเรื่องความมั่นคงก็ต้องมีมาตรการในการเข้ามาประเทศไทยว่า เราจะทำอย่างไร เพราะถ้ารอให้เข้ามาประเทศไทยแล้ว และอาศัยศูนย์อพยพ หรือรอให้ UNSCR หรือองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาจัดการนั้น ตนเป็นห่วงว่า จะเป็นการสร้างปัญหาภายในศูนย์อพยพ ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ย่อมเป็นความยากของคนไทย เนื่องจากเราเจอ 2 สถานการณ์ด้วยกัน ทั้งเรื่องโควิด และเรื่องความมั่นคง ซึ่งทั้ง 2 สถานการณ์ผู้บริหารสถานการณ์ไม่ใช่คนคนเดียวกัน
“ผมคิดว่า ถ้าเราเตรียมความพร้อมไว้ในส่วนที่เรารับผิดชอบก็จะช่วยได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันศูนย์อพยพไม่มีคนเข้าออกมานานแล้ว เพราะเป็นศูนย์อพยพเก่า แต่ก็ต้องยอมรับว่า คงหนีไม่พ้นหากมีกลุ่มอพยพเข้ามา ซึ่งเราก็มีมาตรการการล็อกดาวน์ มีการคลอรันทีน แต่ปัญหาคือ ผมกังวลในเรื่องการอพยพทางการเมือง จึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อมทั้งหมดเพื่อรองรับเรื่องนี้ โดยล่าสุดได้แจ้งไปยัง สสจ. ประสานผู้ว่าราชการจังหวัด ในการดำเนินการสั่งปภ.ดำเนินการเรื่องนี้อีกที แต่ก็เข้าใจว่า เรื่องนี้ค่อนข้างยาก เพราะการหาพื้นที่รับผู้อพยพก็ยากแล้ว และผู้อพยพมีความเสี่ยงโควิดก็ยากไปอีก แต่ก็ต้องร่วมกันทำ” นายธนิตพล กล่าว
เมื่อถามว่าข้อกังวลการอพยพเข้ามายังไทย คาดว่าจะเร็วสุดเมื่อไหร่ นายธนิตพล ตนคิดว่าอย่างเร็วที่สุดน่าจะ 1-2สัปดาห์ เพราะสถานการณ์การเมืองบ้านเขาค่อนข้างรุนแรงในระดับหนึ่ง ส่วนช้าที่สุดประเมินไว้เฝ้าระวังสัก 1 เดือน
- 74 views