คณะทำงานวิชาการ ของศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ผศ.ดร.วรรณภา นาราเวช อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากการทบทวนงานวิจัยผลกระทบของนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า พบว่าการได้รับนิโคตินจากบุหรี่รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนมีผลต่อทั้งร่างกาย พัฒนาการด้านสมอง ที่มีผลต่อจิตใจ อารมณ์ และสังคม โดยนิโคตินทำให้เกิดการเสพติดและเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อสมองที่กำลังพัฒนาของเด็ก โดยสารดังกล่าวกระตุ้นสมองให้พร้อมที่จะใช้สิ่งเสพติดอื่นๆ ตามมา นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความผิดปกติของอารมณ์ การควบคุมอารมณ์ทำได้น้อยลง มีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวรุนแรง ขาดสมาธิและสมรรถนะในการเรียนรู้ หากมีการริเริ่มใช้นิโคตินตั้งแต่ในวัยเด็ก การเสพติดจะเกิดได้สูงและเร็วกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับวัยผู้ใหญ่ นอกจากนี้พบว่าระหว่างบุหรี่ไฟฟ้ากับบุหรี่ทั่วไปในปริมาณนิโคตินเท่ากัน ระดับของนิโคตินในกระแสเลือดผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีระดับสูงกว่าผู้ที่สูบบุหรี่ทั่วไป นอกจากนิโคตินแล้วในบุหรี่ไฟฟ้ายังมีสารเคมีอื่นๆ เช่น ไดเอธิลีนไกลคอล, ตะกั่ว, แมงกานีส, สังกะสี, ปรอท, สารหนู, แคดเมี่ยม ในปริมาณที่ส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างต่อเนื่อง เช่น การเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในระบบทางเดินหายใจ ผนังและถุงลมโป่งฟอง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ในปอดเป็นเซลล์มะเร็ง หลอดเลือดตีบ ผนังหลอดเลือดแข็งและเปราะง่าย มีผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น นอกจากนี้ยังไม่พบการศึกษาวิจัยทางคลินิกที่เป็นระบบอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เปรียบเทียบกลุ่มศึกษาและกลุ่มควบคุม เพื่อใช้เป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ยืนยันว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพ ในการใช้เป็นทางเลือกใหม่ของผู้สูบบุหรี่ในการลดอันตรายหรือเลิกสูบบุหรี่ทั่วไป อย่างที่มีการกล่าวอ้างผิดๆ
ผศ.ดร.วรรณภา กล่าวว่า ดังนั้น ครอบครัว ชุมชน สังคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรตระหนักถึงผลกระทบที่สะสมต่อร่างกายนำไปสู่โรคเรื้อรังต่างๆ และที่สำคัญคือผลต่อพัฒนาการสมอง ที่มีผลต่อจิตใจ อารมณ์ และสังคม ในเด็กจากการเสพติดนิโคตินในระยะยาว ทุกภาคส่วนต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนถึงพิษภัยของนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วอย่างจริงจัง กับผู้ที่ลักลอบกระทำผิดกฎหมาย
- 1239 views