โฆษก กทม.ตั้งโต๊ะแถลงยืนยันแจ้งไทม์ไลน์ผู้ป่วยเคส 647 และ 658 ระบุว่า ปกปิดข้อมูล ยึดตามใบสอบสวนโรคของทางรพ.ที่เรียกว่าใบโนเวล ส่วนผู้ป่วยให้ข้อมูลภายหลังกำลังสอบสวนโรคเพิ่มว่า จริงหรือไม่ หากไม่จริงและพบว่ามีการปกปิดข้อมูลจริงก็ต้องดำเนินคดี
จากกรณีกรุงเทพมหานคร มีการเปิดเผยไทม์ไลน์ของผู้ติดโควิด-19 ที่เชื่อมโยงกับกรณีดีเจมะตูม ว่า มีการปกปิดข้อมูล กระทั่งมีการแก้ไข้ใหม่ โดยแจ้งว่ามีการสอบถามเพิ่มเติม ขณะที่ผู้ติดเชื้อยืนยันว่าให้ข้อมูลแล้วนั้น โดยเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมีการปกปิดข้อมูลต้องมีการดำเนินการตามกฎหมายหรือไม่นั้น
ความคืบหน้าเวลา 11.00 น. วันที่ 28 ม.ค. 2564 ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษก กทม.แถลงกรณีไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อโควิด19 ผ่านทางเพจ “กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ “ ว่า การออกไทม์ไลน์ก็จะมีการสอบถาม โดยเมื่อผู้ป่วยไปโรงพยาบาล ก็จะมีบุคลากรทางการแพทย์ซักประวัติว่า ไปทีไหนอย่างไร ซึ่งจะมีใบรายงานที่เรียกว่า ใบโนเวล และส่งให้ทางกรมควบคุมโรค และกทม. จากนั้นก็จะตรวจสอบข้อมูล ซึ่งถ้าเขาให้ข้อมูลเราก็จะได้รับ แต่ถ้าเขาไม่ให้เราก็เขียนตามนั้น อย่างไรก็ตาม โดยจะมีคณะกรรมการคอยตรวจสอบว่า ข้อมูลไหนที่เปิดเผยได้ หรือไม่ได้ อันนั้นไม่ได้เพราะจะผิดกฎหมาย เนื่องจากอาจทำให้เชื่อมโยงรู้ว่าเขาเป็นใครอย่างไร หากเจ้าตัวไม่อยากให้เปิดเผยตัวตน
(ข่าวเกี่ยวข้อง :จ่อโดน! กลุ่มดีเจมะตูมติดโควิด จัดปาร์ตี้คนมากให้ข้อมูลสับสน ทำระบาดพุ่ง! เจออีกกลุ่มไอคอนสยามเสี่ยงสูง 200 ราย)
โฆษก กทม. กล่าวว่า หลังจากเมื่อวานที่ปล่อยข้อมูลไปก็มีหลายรายที่ให้ข้อมูลจนครบ ในส่วนที่ว่าผู้ป่วยให้ข้อมูลกับทางบุคลากร ที่เขาบอกให้บางคนไปแล้วนั้น เราไม่ทราบว่าคนที่เขาให้คือใคร แต่เรายึดใบที่เขาให้กับทางบุคลากรทางการแพทย์ ที่เรียกว่าใบโนเวล (Novelcorona) ซึ่งเป็นแบบสอบสวนผู้ป่วยโรคโควิด19 เพราะจะสืบค้นข้อมูลได้ โดยเคส 647 และ 658 นั้น อย่างผู้ติดเชื้อรายที่ 647 ที่ผู้ป่วยมาให้ข้อมูลเพิ่มว่า อยู่กับบ้านนั้น จะต้องมีการสอบสวนเพิ่มหาข้อมูลข้อเท็จจริงด้วย อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่าผู้ป่วยที่ให้ข้อมูลนั้น เราใช้ข้อมูลเพื่อควบคุมโรค ไม่ได้ต้องการประจานแต่อย่างใด
“กรณีการเอาผิดทางกฎหมายนั้น ก็ต้องดูกระบวนการสอบสวนโรค ซึ่งกระบวนการสอบสวนโรคต้องทำหลายครั้ง หากพบว่ามีการปกปิดข้อมูลจริงก็ต้องดำเนินการ แต่ประเด็นคือ มี 2 รายที่กำลังพิจารณาว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ ซึ่งก็ต้องสอบสวนก่อนว่าจริงหรือไม่จริง ส่วนผู้ติดเชื้อ 658 ที่ระบุว่าวันที่ 9 ม.ค.เป็นโรงแรมบันยันทรี ซึ่งใบโนเวลยืนยันว่าไปจริง แต่เขามาให้ข้อมูลว่าไม่ได้ไป ดังนั้น เราต้องมาสอบสวนโรคว่า ตกลงเป็นอย่างไร ตรงนี้ยังเป็น 2 เคสที่มีปัญหาอยู่ ตรงนี้เรามีข้อมูลเป็นเอกสาร ผู้ป่วยมาขอดูได้” ร.ต.อ.พงศกร กล่าว
ร.ต.อ.พงศกร กล่าวอีกว่า กรณีที่ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและรมว.สธ.ที่ระบุการดำเนินการในส่วนของการจัดปาร์ตี้ หรือการเปิดปิดร้านว่าผิดกฎหมายหรือไม่นั้น ตรงนี้ทางกทม. กำลังพิจารณาว่า การจัดปารตี้รวมกลุ่มเกิดกี่คน และร้านหรือสถานประกอบการเปิดปิดตามกฎหมายกำหนดหรือไม่ เพราะกทม.มีอำนาจในการแจ้งความได้ ซึ่งก็ต้องพิจารณาก่อน
เมื่อถามว่าสรุปแล้วผู้ป่วยที่ระบุว่าให้ข้อมูลเจ้าหน้าที่เป็นใครกันแน่ ร.ต.อ.พงศกร กล่าวว่า ในส่วนกทม. ชัดเจนเรามีการสอบสวนแบ่งเป็นเคสๆ คนที่จะสอบสวนโรคในส่วนกทม. ที่ไม่รวมแพทย์ในรพ.นั้น เรามีสำนักอนามัยดำเนินการ และคนสอบสวนเป็นคนเดียว ไม่เปลี่ยนคนโทร แต่ในส่วนอื่นๆ เราไม่ทราบว่า เขาให้ข้อมูลเจ้าหน้าที่คนอื่น คือ ใคร เราไม่ทราบ
(ข่าวเกี่ยวข้อง : “อนุทิน” ลั่นเป็นคนมอบ คร. ทำหนังสือถึง กทม. พิจารณากรณีไทม์ไลน์โควิด หากละเมิด กม. ต้องเอาผิด! )
ติดตามเพิ่มผ่านเฟซบุ๊ก แถลงกรณีไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อโควิด19 ผ่านทางเพจ “กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ “
- 636 views