นักวิชาการ เปิดผลวิจัย ขึ้นภาษีบุหรี่ ทุก 10 บาท พ่วงกฎหมายห้ามสูบ ลดเกิดหัวใจวายเฉียบพลันในคนไทย 5-13% ขณะที่อดีตผอ.ศูนย์วิจัยควบคุมยาสูบ ม.แคลิฟอร์เนีย เผยขึ้นภาษีบุหรี่และห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะเป็นมาตรการที่องค์การอนามัยโลกชูคุ้มค่าและได้ผลดี

ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยงานวิจัยใหม่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ PLOS ONE ซึ่งได้ศึกษาผลจากการขึ้นภาษีบุหรี่ และมาตรการห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะของประเทศไทยต่ออัตราการป่วยด้วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือ acute myocardial infarction ระหว่างปี 2549-2560 พบว่า ทุก ๆ 10 บาทของราคาบุหรี่ที่เพิ่มขึ้นช่วยลดการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันลง 5% ในประชากรไทยที่อายุน้อยกว่า 45 ปี โดยเฉพาะในผู้ชายที่มีอัตราการสูบบุหรี่ที่สูงกว่าผู้หญิง นอกจากนี้ยังพบว่า การประกาศมาตรการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะช่วยลดอัตราการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในประชากรไทยอายุน้อยกว่า 45 ปีได้ 13%

ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช

ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันพบคนไทยเสี่ยงเสียชีวิตจากภาวะหัวใจขาดเลือดอายุน้อยลง ซึ่งสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในคนที่อายุน้อยกว่า 45 ปีส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพโดยเฉพาะการสูบบุหรี่ จากข้อมูลพบว่า 90% ของคนอายุน้อยกว่า 45 ปีที่เป็นโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันมีประวัติการสูบบุหรี่ โดยการสูบบุหรี่จะเพิ่มความเสี่ยงของหลอดเลือดหัวใจเสื่อมสภาพหรือแข็งตัว ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการฉีกขาดหรือปริแตกที่ด้านในของผนังหลอดเลือดส่วนที่เสื่อมสภาพอย่างเฉียบพลัน จนเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในที่สุด ซึ่งจากงานวิจัยพบว่ามาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบของไทยทั้งการขึ้นภาษีและการจำกัดพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ช่วยลดการสูบบุหรี่และความสูญเสียจากโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันอันเป็นผลจากการสูบบุหรี่ ทำให้ประเทศไทยลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเฉพาะผู้ป่วยโรคดังกล่าวไปได้กว่า 1,500 ล้านบาทในระหว่างปี พ.ศ. 2553-2560

ดร. สแตนตัน แกลนซ์ อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยควบคุมยาสูบ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก ผู้วิจัยร่วมในงานวิจัยชิ้นนี้ กล่าวว่า การขึ้นภาษีบุหรี่และการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะเป็นมาตรการที่องค์การอนามัยโลกยกเป็นมาตรการควบคุมยาสูบที่คุ้มค่าและได้ผลดี ซึ่งตนเองได้ศึกษาข้อมูลจากหลายประเทศที่ออกมาตรการดังกล่าวก็พบผลลัพธ์อย่างเดียวกันคือช่วยลดอัตราการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นกระทันหันและเป็นผลโดยตรงจากการสูบบุหรี่ โดยเฉพาะในคนที่อายุน้อย เพราะเป็นกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่อราคาบุหรี่ที่แพงขึ้นมากกว่าเมื่อมีการขึ้นภาษีบุหรี่ และส่วนมาตรการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะนั้นจะลดการเจ็บป่วยของคนที่ได้รับควันบุหรี่มือสองซึ่งมีจำนวนมากกว่าคนที่สูบบุหรี่ โดยส่วนใหญ่ของคนที่ได้รับควันบุหรี่มือสองจะมักเป็นคนอายุน้อยที่รับควันมือสองตั้งแต่วัยเด็ก

ดร. สแตนตัน แกลนซ์

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า มาตรการควบคุมยาสูบต้องใช้เวลานานกว่าที่จะเห็นผล จึงขาดความกระตือรือร้นในการปฏิบัติตามและการบังคับใช้กฎหมาย แต่งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า มาตรการควบคุมยาสูบ เช่น การห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะและการขึ้นภาษีบุหรี่ สามารถส่งผลต่อการลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตในระยะสั้น ๆ กรณีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะที่ส่งผลลดโรคหัวใจวายกระทันหัน เนื่องจากการได้รับควันบุหรี่มือสองแม้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ จะส่งผลทันทีต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยทำให้เกล็ดเลือดเกาะติดกันง่ายขึ้น มีการอักเสบของเซลล์ผนังหลอดเลือด และเลือดไปเลี้ยงหัวใจลดลง ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดหัววายกระทันหันจากหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน งานวิจัยนี้เป็นเครื่องเตือนสติให้ผู้สูบบุหรี่หยุดทำร้ายคนอื่น โดยไม่สูบบุหรี่ในที่ที่กฎหมายห้ามสูบ รวมถึงในบ้าน ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องก็ต้องจริงจังกับการบังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งจะลดจำนวนคนที่จะเสียชีวิตจากหัวใจวายกระทันหันได้เป็นจำนวนมาก

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ

อ้างอิง

Association between tobacco control policies and hospital admissions for acute myocardial infarction in Thailand, 2006-2017: A time series analysis: https://journals.plos.org/plosone/article?id=10.1371/journal.pone.0242570