เครือข่ายครู เยาวชน และครอบครัว ขอรัฐบาลพิจารณาขึ้นภาษีบุหรี่ ย้ำ! ต้องปรับโครงสร้างภาษี ทำให้ราคาบุหรี่แพงขึ้น หวังช่วยลดอัตราการสูบในเยาวชน
วันที่ 23 กันยายน ภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ ประกอบด้วย เครือข่ายเยาวชน นำโดย สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ศูนย์สร้างสรรค์สื่อเพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัว กลุ่มเด็กเยาวชน UGZ-Ubongenz อุบลราชธานี แกนนำเครือข่ายเยาวชนเจนแซดสตรองไม่สูบ จังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมกับ เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ มูลนิธิเพื่อนหญิง และเครือข่ายครอบครัว เสนอขอให้รัฐบาลพิจารณาขึ้นภาษีบุหรี่ เพื่อช่วยลดอัตราการสูบในกลุ่มเยาวชน และปกป้องสุขภาพของคนไทย
นายพชรพรรษ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังจะพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ ทางสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) และภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ จึงขอสนับสนุนท่านนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรีทุกท่าน ในการขึ้นภาษีบุหรี่ เพื่อทำให้ราคาบุหรี่มีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะขอให้มีการขึ้นราคากลุ่มบุหรี่ที่มีราคาถูก เพื่อป้องกันการเข้าถึงของกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีกำลังซื้อน้อย ซึ่งมีรายงานวิจัยที่ทำการศึกษาในประเทศกลุ่มรายได้น้อยถึงปานกลางจำนวน 17 ประเทศ พบว่า ถ้าหากราคาบุหรี่เพิ่มขึ้น 10% จะช่วยลดอัตราการสูบบุหรี่ในกลุ่มเยาวชนได้ถึง 21% และการขึ้นราคาบุหรี่ยังส่งผลให้เยาวชนตัดสินใจยากขึ้นที่จะเริ่มสูบบุหรี่ และเยาวชนที่อยู่ในระหว่างทดลองสูบ หรือที่เพิ่งเริ่มติดบุหรี่ใหม่ ๆ สามารถที่จะเลิกสูบได้ง่ายขึ้น
นางสุวิมล จันทร์เปรมปรุง ประธานคณะกรรมการเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเยาวชนอายุ 15-19 ปี สูบบุหรี่ถึง 400,000 คน การขึ้นภาษีบุหรี่นอกจากจะทำให้เยาวชนกลุ่มนี้ ลด เลิก สูบบุหรี่แล้ว ยังเป็นมาตรการที่จะช่วยปกป้องเยาวชนกลุ่มอายุนี้อีกกว่า 4 ล้านคน ไม่ให้เข้ามาเริ่มลองสูบบุหรี่ด้วย เพราะกลุ่มอายุนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญที่มักจะเป็นช่วงอายุเริ่มต้นของการสูบบุหรี่ ซึ่งถ้าสามารถป้องกันไม่ให้เยาวชนช่วงอายุนี้สูบบุหรี่ จะลดโอกาสการเป็นนักสูบตลอดชีวิตของเยาวชนได้ โดยจากสถิติพบว่า เด็กไทย 10 คนที่ติดบุหรี่ 7 คน จะเลิกไม่ได้ไปตลอดชีวิต และใน 3 คนที่เลิกสูบได้ โดยเฉลี่ยจะต้องใช้เวลา 20 ปี กว่าที่จะเลิกสูบได้
นางธนวดี ท่าจีน ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า การขึ้นภาษีบุหรี่จะช่วยปกป้องเยาวชนจากการสูบบุหรี่และยังปกป้องเยาวชนจากการเสพติดบุหรี่ โดยลดโอกาสที่เยาวชนจะไปติดสิ่งเสพติดชนิดอื่น ๆ ที่ร้ายแรงกว่า และยังช่วยลดปัญหาการได้รับควันบุหรี่มือสองโดยเฉพาะในครอบครัว ซึ่งจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบการสูบบุหรี่ในบ้านสูงถึงเกือบ 30% ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพของทุกคนในครอบครัว รวมไปถึงค่ารักษาพยาบาลที่ต้องเสียไปอีกด้วย
- 46 views