สถานการณ์โควิดติดเชื้อ 142 ราย ติดในประเทศ 125 ราย ป่วยสะสม 12,795 ราย เสียชีวิตสะสม 71 ราย ขณะที่กทม.มีการตรวจเชิงรุกสะสมตั้งแต่กลางเดือนธ.ค.- 20 ม.ค. 64 แล้ว 41,508 ราย เจอติดเชื้อจากการค้นหาเชิงรุก 60 ราย ล่าสุดติดเชื้อ 63 จังหวัด เป็นเชียงราย เพิ่มเข้ามา
เมื่อเวลา 11.30 น.วันที่ 21 ม.ค.2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19(ศบค.) แถลงสถานการณ์รายวันว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 142 ราย ติดเชื้อในประเทศ 125 ราย และติดเชื้อจากต่างประเทศ 17 ราย มีผู้ติดเชื้อสะสม 12,795 ราย เสียชีวิตสะสม 71 ราย เฉพาะระลอกใหม่ ติดเชื้อสะสม 8,558 ราย หายแล้ว 5,902 ราย ยังรักษา 2,645 ราย เสียชีวิตสะสม 11 ราย สถานการณ์ยังวางใจไม่ได้ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่แต่ละวันยังขึ้นๆลงๆ อยู่ในสถานการณ์พยายามควบคุมโรคให้ลดลง
สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศ 142 รายแยกเป็น เจอในผู้ที่เข้าระบบเฝ้าระวังและรักษาในรพ. 88 ราย ในจ.สมุทรสาคร 63 ราย กทม. 14 ราย(ยังไม่รวมดีเจมะตูม) อ่างทอง 4 ราย นนทบุรี 2 ราย เชียงราย ปทุมธานี ระยอง ชลบุรีและจันทบุรี จังหวัดละ 1 ราย และเจอจากค้นหาเชิงรุก 37 ราย ในจ.สมุทรสาคร 29 ราย กทม.2 ราย ปทุมธานี3 รายและจันทบุรี 3 ราย ซึ่งจะเห็นว่าเป็นการเจอในผู้เข้ารักษารพ.มากกว่าการค้นหาเชิงรุก โดยมีการเจอผู้ติดเชื้อแล้วใน 63 จังหวัด เชียงรายเป็นจังหวัดล่าสุด อย่างไรก็ตาม การค้นหาเชิงรุกยังมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อาทิ จ.สมุทรสาคร มีเป้าหมายตรวจเชิงรุกให้ได้วันละ 2,000-3,000 คน โดยอย่างน้อยวันละ 50 คนต่อโรงงาน วันละ 60 โรงงาน ซึ่งโรงงานในจังหวัดมีกว่า 1 หมื่นแห่ง
"พื้นที่สมุทรสาคร พบว่ามีแรงงานจากจังหวัดใกล้เคียงเดินทางเข้ามาทำงานแบบเช้าไปเย็นกลับแล้วทำให้จังหวัดนั้นมีการติดเชื้อ เช่น ราชบุรีมีการติดเชื้อเพราะมีแรงงานทำงานในสมุทรสาครแบบกลับไปกลับมา จึงมีการหารือกันถึงขอบเขตการเดินทางแม้พยายามเต็มที แต่ไม่ได้100% เพราะบางคนมีใบอนุญาตทำงาน เพราะฉะนั้นมขอความร่วมมือผู้ที่มีอาการหรือไม่มีอาการแต่สงสัยว่าอาจจะติดให้รีบเข้ารับการตรวจในสถานพยาบาลใกล้บ้าน จะดีกว่าการห้ามๆต่างๆ"นพ.ทวีศิลป์กล่าว
ส่วนกทม.มีการตรวจเชิงรุกสะสมตั้งแต่กลางเดือนธ.ค.-20ม.ค.2564 แล้ว 41,508 ราย เจอติดเชื้อจากการค้นหาเชิงรุก 60 ราย ซึ่งการค้นหาเชิงรุกอาจมีการกำหนดจุดได้ลำบาก เพราะการติดเชื้อกลุ่มก้อนมีลักษณะที่คละมากทั้งเชื่อมโยงสมุทรสาคร บ่อนการพนัน สถานบันเทิง ในครอบครัว และวินจักรยานยนต์รับจ้าง ดังนั้น ต้องมาเข้มที่มาตรการสุขลักษณะนิสับส่วนตัว ในการเข้มมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคล ทั้งการใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่าง และใข้แอปไทยชนะ หมอชนะ
"แนวโน้มสถานการณ์ยังทรงๆจะวางใจไม่ได้ แต่มีเวลาถึง 31 ม.ค.นี้ ที่จะดำเนินการตามมาตรการต่างๆอย่างเข้มข้น จึงต้องขอความร่วมมือของประชาชน ตอนนี้ครบรอบการแพร่เชื้อของคนติดรุ่นแรกแล้ว แต่ยังมีการแพร่ต่อในรุ่นต่อๆมา ต้องช่วยกันให้ติดน้อยที่สุด แต่คงไม่ได้ถึง 0 ราย แต่ให้อยู่ในจำนวนที่จะเพียงพอยอมรับได้ เหมือนกับวัณโรคที่ตอนนี้ในไทยก็ยังมีอยู่และยังกลัวและมีการเฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่ได้ระบาดยังคุมกันอยู่ เมื่อเจอผู้ติดเชื้อก็เข้ารับการรักษา และหากสถานการณ์ถึงสิ้นเดือนนี้เป็นอย่างไร ชุดข้อมูลต่าง จะนำมาสู่การออกแบบพื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุมและพื้นที่เสี่ยง ซึ่งศบค.จะมีการประชุมก่อนที่จะถึงสิ้นเดือนนี้ โดยสธ.และศบค.ชุดเล็กจะพิจารณาก่อนนำเสนอว่าจะผ่อนหรือเข้มขึ้น ขอให้ทุกคนทุกฝ่ายร่วมมือกันเข้มตอนนี้จะได้สบายเดือนหน้า"นพ.ทวีศิลป์กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกด้วยว่า มีการถามถึงความรุนแรงของระลอกใหม่กับระลอกแรก หากเปรียบเทียบจากการรายงานเสียชีวิต พบว่า ระลอกใหม่ความแรงน้อยกว่าระลอกแรก โดยระลอกแรกมีผู้ติดเชื้อ 4,237 ราย เสียชีวิต 60 ราย อัตราป่วยตาย 1.42 % ขณะที่ระลอกใหม่ติดเชื้อสะสมถึงวันที่ 20 มกราคม 2564 จำนวน 8,416 ราย เสียชีวิต 11 ราย อัตราป่วยตาย 0.13 % ส่วนผู้เสียชีวิตมีประวัติโรคประจำตัว ทั้งสองระลอกไม่แตกต่างกันมากนัก คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคปอด มะเร็งปอดและไตวาย
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกด้วยว่า มีการหารือเกี่ยวกับคนไทยที่จะเดินทางกลับจากประเทศมาเลเซียหลังมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละหลายพันคนและประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและปิดการเดินทางในหลายรัฐ แต่ให้แรงงานต่างด้าวยังอยู่ในประเทศไดเ รวมถึงคนไทยด้วย เพราะฉะนั้น แนวโน้มทุกคนจะยังอยู่ในที่ตั้ง เพราะมีการห้ามเดินทางข้ามรัฐด้วย คนไทยจึงไม่น่าจะแห่กลับประเทศจนมีภาพของการรอข้ามแดนที่ด่านจำนวนมากเหมือนการระบาดระลอกแรก แต่กระทรวงการต่างประเทศมีการสื่อสารและติดตามคนไทยตลอดเวลาและรายงานอย่างต่อเนื่อง
- 5 views