สถานการณ์โควิด-19 ติดเชื้อรายใหม่ 59 ราย ติดในประเทศ 51 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นหญิง 48 ปี อาชีพขับรถรับส่งแรงงานเมียนมา อ.แม่สอด จ.ตาก ล่าสุดติดเชื้อ 62 จังหวัด

เมื่อวันที่ 20 ม.ค. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โรคโควิด 19 ประจำวัน ว่า สถานการณ์โควิด 19 ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 96 ล้านกว่าราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1.4 หมื่นราย ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 59 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 51 ราย (มาจากระบบเฝ้าระวัง 28 ราย และคัดกรองเชิงรุกในชุมชน 23 ราย) และมาจากต่างประเทศ 8 ราย รักษาหายเพิ่ม 265 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย จำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 12,653 ราย หากนับเฉพาะระลอกใหม่ป่วยสะสม 8,416 ราย หายป่วย 5,681 ราย ยังรักษาอยู่ 2,724 ราย ใช้เครื่องช่วยหายใจ 10 ราย เสียชีวิตสะสม 11 ราย

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ผู้เสียชีวิตเป็นหญิงอายุ 48 ปี อาชีพขับรถรับส่งแรงงานเมียนมาที่ด่านสะพาน 2 อ.แม่สอด จ.ตาก เริ่มมีอาการครั้งแรกวันที่ 16-17 ธ.ค. เข้ารับการตรวจวันที่ 21 ธ.ค. จากนั้นไปตรวจ รพ.แม่สอด วันที่ 22 ธ.ค. วินิจฉัยคออักเสบวันที่ 24-25 ธ.ค. ต่อมาอาการไม่ดีขึ้น เข้ารับการรักษาต่อเนื่อง รับการยืนยันผลดควิดเป็นบวกวันที่ 27 ธ.ค. จะเห็นว่าผู้ป่วยเข้ารับการตรวจและรักษาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว บุคลากรทางการแพทย์พยายามช่วยให้ปลอดภัย แต่อาการแย่ลง ไม่ตอบสนองการรักษาและเสียชีวิตวันที่ 18 ม.ค. เวลา 22.13 น.

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่แบ่งเป็น 1. การติดเชื้อในประเทศ สัมผัสสถานที่เสี่ยง อาชีพเสี่ยง ผู้ป่วยรายก่อนหน้า 28 ราย ได้แก่ กทม. 10 ราย สมุทรสาคร 7 ราย สมุทรปราการ และระยอง จังหวัดละ 3 ราย ราชบุรี นครพนม พระนครศรีอยุธยา ตาก และปทุมธานี จังหวัดละ 1 ราย 2.การค้นหาเชิงรุก 23 ราย ได้แก่ สมุทรสาคร 20 ราย และ กทม. 3 ราย และ 3.เดินทางมาจากต่างประเทศ 8 ราย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 2 ราย ไอร์แลนด์ ปากีสถาน มาเลเซีย ญี่ปุ่น อินเดีย และเยอรมนี ประเทศละ 1 ราย

จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อรวมเป็น 62 ราย โดยนครพนมเป็นจังหวัดใหม่ เป็นผู้ติดเชื้อไม่มีอาการ ติดจาก กทม.และเดินทางไปเยี่ยมญาติ ส่วนแนวโน้มการติดเชื้อของแต่ละจังหวัดพบว่า จากเดิมที่พบผู้ติดเชื้อในสัปดาห์ที่ 2 ของปี 64 พบการติดเชื้อใน 30 จังหวัด แต่สัปดาห์นี้ลดลงเหลือ 18 จังหวัด ส่วนจังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อมาในช่วง 7 วันเพิ่มเป็น 37 จังหวัด โดยวันนี้เป็นวันที่ 3 ของสัปดาห์ที่ 3 จากตัวเลข 973 กว่าราย อาจรู้สึกว่าสูง แต่ทิศทางกราฟยังคงปักลงเป็นที่น่าพอใจ

ภาพจากศูนย์ข้อมูลCOVID-19

"กทม.มีการติดเชื้อไปในวงที่ 2 และ 3 เนื่องจากคนที่มีความเสี่ยงไม่ได้กักตัว และยังเดินทางไปหลายพื้นที่ ทำให้เราเจอคลัสเตอร์ใหม่ๆ จึงขอความร่วมมือติดตามข้อมูลและความเสี่ยง ยิ่งถ้ามีแอปพลิเคชันหมอชนะจะได้รับการแจ้งเตือนทันทีว่ามีโอกาสสัมผัสผู้ติดเชื้อ หรือติดตามว่าไปในพื้นที่เสี่ยงที่มีผู้ติดเชื้อมีที่ไหนบ้างในจังหวัดของท่าน สิ่งสำคัญคือเมื่อรับรายงานพบว่าเป็นผู้เสี่ยงสัมผัสผู้ติดเชื้อ หรือไปพื้นที่เสี่ยงสูง ต้องรีบไปรายงาน รพ.ใกล้บ้าน" พญ.อภิสมัยกล่าว

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า จ.สมุทรสาครยังต้องเฝ้าระวังเชิงรุกอย่างเข้มข้น ทั้งโรงงาน สถานประกอบการ ซึ่งมีเป็นหมื่นแห่ง ชุมชน ตลาด ร้านอาหาร ร้านตัดผม สถานนวดแผนไทย โดยขอความร่วมมือจากโรงงาน ซึ่งเราไม่ได้ไปจับผิด แต่ไปดูแลเพื่อให้โรงงานปลอดภัย ผู้ยังไม่ติดเชื้อมาทำงานก็จะมั่นใจว่าปลอดภัย และตัวเลขจากค้นหาเชิงรุกช่วยให้ภาครัฐนำตัวเลขไปเตรียมการให้พร้อม ทั้งนี้ ภาพรวมสถานการณ์อยู่ในระดับคงตัว ทำให้ลงมาเป็น 0 ยังทำไม่ได้ แต่อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ หลายกิจการเกิดความท้อแท้ สู้มาปีหนึ่งแล้วทำไมยังไม่ผ่านไป แต่ที่ทำดีอยู่แล้วในการป้องกันตนเองขอให้ทำอย่างเข้มงวด ไม่ว่าจะออกไปที่ไหน ป้องกันตนเองสม่ำเสมอ ส่วนมาตรการองค์กร ขอความร่วมมือกิจการ เน้นย้ำให้ความร่วมมือดูแลตัวเอง เวลามาทำงานสัมผัสใกล้ชิด ขอความร่วมมืออย่ารับประทานอาหารร่วมกัน เลี่ยงการชุมนุมมากๆ จะเกิดไม่ได้ถ้าแต่ละองค์กรไม่ปฏิบัติ

"คนที่อยากให้กำลังใจคือบุคลากรด้านสาธารณสุข กลุ่มหนึ่งทำงานใน รพ. ยังต้องผลัดเปลี่ยนเวรหนักหน่วง ผู้ป่วยรายใหม่ตลอดเวลา ส่วนอีกส่วนหนึ่งแบ่งทีมลงไปค้นหาเชิงรุก เรารายงานมากในสมทุรสาคร แต่ละจังหวัดก้มีความพยายามค้นหาเชิงรุก กลุ่มคนเหล่านี้เหน็ดเหนื่อย และเป้นผู้ประสบภัยเหมือนพวกเรา ยังต้องทำงานหนักด้วย ดูแลตัวเองด้วย ไม่มีเวลาดูแลครอบครัว ขอให้กำลังใจบุคลากรสาธารณสุข และขอกำลังใจไปยังประชาชที่ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่" พญ.อภิสมัยกล่าว