สธ.จ่อปรับระบบรายงานผู้ป่วยโควิด เฉพาะมีอาการเข้าโรงพยาบาล พร้อมปรับการตรวจ ATK เน้นคนมีอาการ เว้นบางกรณี เริ่ม 1 มิ.ย.65 ขณะเดียวกันสัปดาห์นี้พร้อมพิจารณาเตือนภัยโควิดเป็นระดับ 2
เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2565 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด 19 ว่า สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทย วันนี้รายงานป่วยปอดอักเสบ 882 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 425 ราย และผู้เสียชีวิต 26 ราย ถือว่าลดลงต่อเนื่อง แต่ค่อนข้างช้าลง โดยผู้เสียชีวิตยังเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 โดยเฉพาะอายุ 70 ปีขึ้นไป ครึ่งหนึ่งไม่ได้ฉีดวัคซีน จึงรณรงค์กลุ่มเสี่ยงเสียชีวิตสูงให้ฉีดวัคซีนเข็มปกติและเข็มกระตุ้นเพื่อลดผู้เสียชีวิต ส่วนผู้ติดเชื้อยืนยันวันนี้รายงาน 3,854 ราย แต่ละวันอยู่ที่ประมาณ 4 พันราย ถือว่าแนวโน้มลดลงแต่ค่อนข้างช้า กำลังรักษา 4.4 หมื่นราย โดยผู้ที่ลงทะเบียนรักษากับ 1330 สปสช. ทั้งเข้าระบบ Home Isolation และผู้ป่วยนอก OPSI สัปดาห์นี้ประมาณ 248,000 ราย ใกล้เคียงกับสัปดาห์ก่อน คือ 252,000 ราย
"ขณะนี้ยังคงสถานะการเตือนภัยโควิดระดับ 3 โดยเน้นกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ไม่เข้าสถานที่เสี่ยง เช่น ผับบาร์ คาราโอเกะ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 และผู้ที่รับวัคซีนไม่ครบ 3 เข็ม อย่างไรก็ตาม สัปดาห์นี้จะพิจารณาการปรับระดับเตือนภัยโควิดเป็นระดับ 2 ส่วนจะมีจังหวัดไหนต้องรอติดตามการพิจารณาอีกครั้ง และขอความร่วมมือช่วยกันป้องกันไม่ให้ระบาดเป็นวงกว้างกลับมาใหม่ โดยยังสวมหน้ากาก และเว้นห่างเช่นเดิม" นพ.จักรรัฐกล่าว
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิต ดีกว่าเส้นคาดการณ์ และอยู่ในช่วงขาลงทั้งประเทศ แม้ช่วงนี้มีการเปิดภาคเรียน แต่ก็พบการระบาดในบางจังหวัดในบางโรงเรียนจำนวนไม่มากนัก โดยลักษณะการติดเชื้อเป็นการติดเชื้อในครอบครัว เพื่อน หรือเป็นกลุ่มก้อนบ้างในบางโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนประจำ โดยวัยเรียนต้องฉีดวัคซีนเพื่อไม่ให้ป่วยหนัก หากติดเชื้อมีอาการให้แยกออกไปรักษา แต่ไม่ต้องปิดโรงเรียน โดยเน้นแยกระยะห่างมากขึ้น
"ภาพรวมประเทศไทยตอนนี้สถานการณ์ลดลงคล้ายหลายประเทศในเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งหลายประเทศปรับระบบรายงาน เนื่องจากการติดเชื้อลดลง เข้าสู่การผ่อนคลายมาตรการต่างๆ โดยเน้นติดตามผู้ป่วยที่มีอาการหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจเป็นหลัก ดังนั้น ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ ประเทศไทยจะมีการปรับระบบรายงานให้เข้ากับสถานการณ์ที่จะผ่อนคลายมากขึ้น ที่จะมีการเปิดผับบาร์ใน 31 จังหวัด หรือผ่อนคลายเรื่องอื่นๆ เพื่อจะได้วิเคราะห์ข้อมูลได้ชัดเจนมากขึ้น โดยปรับจากการรายงานผู้ติดเชื้อเป็นผู้ป่วย โดยจะรายงานจำนวนผู้ป่วยรายวันแบบเฉลี่ย 7 วัน เน้นผู้ป่วยที่มีอาการเข้ารับการรักษาใน รพ. ผู้ป่วยอาการหนัก ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตยังรายงานทุกวันต่อเนื่อง " นพ.จักรรัฐกล่าวและว่า สำหรับอัตราครองเตียงระดับ 2 และ 3 ลดลงต่อเนื่อง วันนี้อยู่ที่ 12.8% ถือว่าลดลงค่อนข้างมาก ยังมีเตียงว่างเพียงพอ ถ้ามีการระบาดของโควิดและป่วยหนักมากขึ้นก็รองรับได้
นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า แม้เราจะปรับมาติดตามผู้ป่วยหนักหรือมีอาการเป็นหลัก เพื่อให้สอดคล้องกับการผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น แต่ย้ำว่ายังต้องเข้มมาตรการป้องกันส่วนบุคคล (Universal Prevention) โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ดูแลทั้ง 2 กลุ่มนี้ รวมถึงสถานที่เสี่ยง อย่างผับบาร์ คาราโอเกะ พนักงานจะต้องตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายโรค ส่วนในประชาชนทั่วไปเน้นการตรวจเฉพาะกลุ่มที่อาการป่วยเท่านั้น ดังนั้น ต่อไปบรรดาบริษัทสถานประกอบการ จึงไม่ต้องตรวจประจำสัปดาห์แล้ว เน้นเมื่อมีอาการป่วย เช่น ไข้ ไอ น้ำมูกไหล เจ็บคอ หอบเหนื่อย เป็นต้น จะได้นำเข้าระบบดูแลรักษาต่อไป รวมถึงยังต้องเจ้มมาตรการฉีดวัคซีน (Universal Vaccination) โดยเฉพาะผู้สูงวัยกลุ่มเสี่ยงสูง หากติดเชื้ออาจอาการหนักได้ ต้องรับเข็มกระตุ้น ส่วนผู้ที่ไม่เคยฉีดเลย พิจารณามาฉีดสักเข็มเพื่อป้องกันให้ได้ก่อน และรับเข็มสองตามมา
"ถ้าผ่อนคลายมาตรการมากขึ้นอาจพบการระบาด การติดเชื้อเป็นวงกว้างได้อีกพอสมควร ดังนั้น กลุ่มเสี่ยง 608 ต้องเน้นฉีดวัคซีนทุกเข็มอย่างต่อเนื่อง ส่วน ศบค.ออกข้อกำหนดให้เปิดผับบาร์ถึงเที่ยงคืน เริ่มวันที่ 1 มิ.ย.นี้ พนักงานต้องฉีดกระตุ้น ทำตามมาตรการ COVID Free Setting พนักงานตรวจ ATK ประจำสัปดาห์ จัดสิ่งแวดล้อมเพื่อลดความเสี่ยง การระบายอากาศ เมื่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม.อนุญาต คนไปใช้บริการต้องมีภูมิให้พอ เมื่อติดเชื้อจะได้ไม่มีอาการป่วยหนัก โดยให้ฉีดเข็มกระตุ้นด้วย" นพ.จักรรัฐกล่าว
เมื่อถามถึงกรณีการไม่ต้องตรวจ ATK ทุกสัปดาห์ นพ.จักรรัฐกล่าวว่า สถานการณ์เข้าสู่การผ่อนคลายมากขึ้น จึงเน้นผู้ป่วยเป็นหลัก โดยตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. จะรายงานจากฐานผู้ป่วย ไม่ใช่ฐานติดเชื้อ เพื่อเข้าสู่ระบบเฝ้าระวังในโรคที่ความรุนแรงลดลงแล้ว ซึ่งเดิมเป็นโรคติดต่ออันตราย เราต้องตรวจสอบว่าใครติดเชื้อบ้าง ตอนนี้ติดเชื้อได้ เพราะฉีดวัคซีแล้ว เราก็จะดูผู้ป่วยเท่านั้น ดังนั้น การใช้ ATK ในกลุ่มเสี่ยงต่ำ เช่น วัยทำงาน ความจำเป็นในการตรวจก็ลดลง ยกเว้นกลุ่มเสี่ยง 608 กลุ่มที่อาจแพร่ระบาดวงกว้างได้ง่าย ต้องตรวจประจำ โดยการตรวจ atk จะเหลือประมาณ 3 ข้อ คือ 1.ตรวจเมื่อมีอาการว่าใช่หรือไม่ 2.ตรวจสำหรับคนดูแลใกล้ชิดคนเสี่ยงสูง คือ ผู้ดูแลผู้สูงอายุและเด็กเล็กที่ไม่ได้ฉีดวีคซีนอาจติดเชื้อเสียชีวิตได้ และ 3.สถานที่และกิจกรรมที่อาจมีการรวมตัวกัน บุคคลสำคัญ
ถามต่อว่าผู้ป่วยเจอแจกจบจะไม่อยู่ในรายงานใช่หรือไม่ นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ผู้ป่วยเข้าระบเจอแจกจบ OPSI จะอยู่ในการลงทะเบียนเข้ารับการรักษาผ่าน สปสช. ทั้งนี้ การตรวจด้วย RT-PCR หรือ ATK ก็เท่ากันแล้ว เพราะไม่ได้รายงานจากฐานการติดเชื้อ แต่จะปรับเป็นรายงานผู้ป่วยที่มีอาการและเข้ารับการรักษาใน รพ. เพราะเราผ่อนคลายประเทศและมาตรการ แต่ช่วงปรับระบบ 1-2 สัปดาห์แรกอาจจะติดขัดบ้างบางที่ ส่วนถ้ามีอาการนอนที่บ้านแล้วไม่ลงทะเบียนก็จะไม่รู้ แต่ถ้าลงทะเบียนจะเข้าสุ่ระบบของ สปสช.เป็นอีกตัวเลข
ถามถึงการพิจารณาลดเตือนภัยโควิดเป็นระดับ 2 จะทำทั้งประเทศหรือบางจังหวัด นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ขอปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารก่อน ว่าจะปรับจังหวัดไหนหรือทั้งประเทศ ตอนนี้อยู่ระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูล ถามต่อว่าจะพิจารณาเรื่องปรับคำแนะนำการสวมหน้ากากหรือไม่ นพ.จักรรัฐกล่าวว่า ต้องพิจารณาแต่ต้องมีเกณฑ์กำหนด อาจไม่เกี่ยวข้องกับการลดระดับเตือนภัย เพราะหน้ากากเป็นมาตรการส่วนบุคคล ซึ่งต้องใช้ต่อเพราะลดโรคอื่นได้ด้วย
*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org
- 2266 views