กระทรวงสาธารณสุข จัดงานกิจกรรมรณรงค์เด็กไทยสายตาดีในโอกาสของขวัญวันเด็กแห่งชาติ ปี 2564 “สุขภาพดีวิถีใหม่ เด็กไทยสายตาดี” รับมอบแว่นตา 10,000 อัน จากภาคีเครือข่าย พร้อมส่งต่อเด็กไทยที่มีปัญหาสายตา ให้มองเห็นชัดขึ้น 12 จังหวัดนำร่อง
วันที่ 14 ม.ค. 2564 นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีเปิดงานกิจกรรมรณรงค์เด็กไทยสายตาดีในโอกาสของขวัญวันเด็กแห่งชาติปี 2564 “สุขภาพดีวิถีใหม่ เด็กไทยสายตาดี” ณ บริเวณโถงชั้นล่าง อาคาร 3 ชั้น 1 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า เด็กอนุบาลเด็กประถมเป็นช่วงวัยสำคัญต่อพัฒนาการทางสายตา การตรวจคัดกรองสายตา (Vision Screening) เป็นการค้นหาภาวะผิดปกติทางสายตาและการมองเห็นของเด็กทุกคนช่วงอายุ 5-6 ปี กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ดำเนินโครงการเด็กไทยสายตาดี โดยตรวจคัดกรองสายตานักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศ หากตรวจพบสายตาผิดปกติ ส่งต่อรับการตรวจวินิจฉัยโดยจักษุแพทย์หรือทีมจักษุ พร้อมมอบแว่นสายตาอันแรกแก่เด็กที่มีสายตาผิดปกติ ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัย ได้ดำเนินงานโครงการเด็กไทยสายตาดี ด้วยการคัดกรองภาวะสายตาในเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ตั้งแต่ปี 2559-2563 ซึ่งในปี 2563 มีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ได้รับคัดกรองสายตาเพียง 43,336 คน พบนักเรียนที่มีสายตาผิดปกติ 2,827 คน และได้รับแว่นสายตาเพียง 135 คน
“สำหรับในปี 2564 นี้ กระทรวงสาธารณสุขมุ่งขับเคลื่อนการพัฒนาสุขภาพนักเรียนแบบบูรณาการตามแนว วิถีชีวิตใหม่ (New Normal) ในโครงการเด็กไทยสายตาดี โดยรับการสนับสนุนแว่นสายตาเด็กจากห้างแว่นท็อปเจริญ จำนวน 10,000 อัน ด้วยการประสานความร่วมมือจากราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย และมอบหมายให้โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) ทำหน้าที่ตรวจสอบยืนยันความถูกต้องในการสั่งตัดแว่นสายตาในฐานะเป็น Training Center การฝึกอบรมการคัดกรองภาวะสายตาผิดปกติและการวัดแว่นสายตาในเด็ก ควบคู่กับการดำเนินการคัดกรองสายตาและมอบแว่นสายตาให้กับนักเรียนในจังหวัดเป้าหมายนำร่องเขตสุขภาพละ 1 จังหวัด จำนวน 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร สระบุรี นครปฐม ระยอง ร้อยเอ็ด อุดรธานี บุรีรัมย์ อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา รวมถึงดำเนินการคัดกรองสายตานักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทุกคนในโรงเรียน ทุกสังกัดในงานอนามัยโรงเรียน ซึ่งได้ดำเนินการในทุกจังหวัด” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ดวงตาเป็นอวัยวะสำคัญที่ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ตั้งแต่แรกเกิด เนื่องจากเด็กเล็กจะมีพัฒนาการด้านสายตาก่อนพัฒนาการด้านอื่น ๆ เด็กจะต้องจ้องมองได้เมื่ออายุไม่เกิน 2 เดือน โดยจะมองหน้ามารดาขณะให้นมและมองตามหน้าแม่ที่ขยับไปมาได้เมื่ออายุ 2-6 เดือน จากนั้น เมื่ออายุมากกว่า 6 เดือน จะมองตามสิ่งของใหญ่ ๆ ที่ไม่มีเสียง ร่วมกับมีพัฒนาการทางร่างกายด้านอื่น ๆ แต่หากพ่อแม่ ผู้ปกครอง เห็นความผิดปกติต้องรีบพาไปพบจักษุแพทย์ทันทีเพื่อลดความเสี่ยงสายตาผิดปกติเมื่อเติบโตขึ้น โดยให้สังเกตดังนี้ 1) ช่วงแรกเกิด–6 เดือน หากมีอาการตาดำสั่นไม่นิ่ง ไม่จ้อง หรือมองตามเห็นสีขาวขุ่นในตาดำ 2) ช่วงอายุ 1–3 ปี ลูกมีตาดำเขเข้าในหัวตาเป็นบางครั้ง โดยเฉพาะเวลาดูอะไรใกล้ ๆ อาจมีอาการเอียงหน้าหรือเอียงคอมอง ซึ่งอาจเกิดจากปัญหากล้ามเนื้อตา หากปล่อยไว้นานเกินไปอาจมีปัญหาเรื่องการมองเห็นคือ มีสายตามัวหรือภาวะตาขี้เกียจ และ 3) ช่วงอายุ 3-5 ปี ลูกมักดูหนังสือหรือดูโทรทัศน์ ในระยะใกล้ และมีอาการปวดศีรษะในตอนเย็นหรือหลังเลิกเรียน มองกระดานไม่ชัด อาจเกิดจากปัญหาสายตาผิดปกติ หรือมีตาดำเขเข้าหรือเขออกเป็นครั้งคราวเวลาเด็กเผลอตัว เวลาดูทีวี ที่อาจเกิดจากปัญหากล้ามเนื้อตา
“ทั้งนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องหมั่นสังเกตอาการผิดปกติเพิ่มเติม อาทิ ความสมดุลของรูปหน้าด้านซ้ายด้านขวาแตกต่างกันหรือไม่ ตาดำสองข้างมีรูปตาข้างใดโตกว่าหรือเล็กกว่ากัน เมื่อลืมตาเต็มที่หนังตาเปิดกว้างเท่ากันหรือไม่ บางคนหนังตาตกข้างเดียว ทำให้มีอุปสรรคต่อการมองเห็นมีสีขาวขุ่นอยู่ตรงกลางโดยไม่ทราบสาเหตุน้ำตาไหลเอ่อตา อยู่เสมอ ขยี้ตาอยู่บ่อย ๆ ตาขาวไม่ขาวมีสีแดงเรื่อ ๆ เวลามองแสงจ้าจะหรี่ตาข้างใดข้างหนึ่งเป็นประจำ หรือเงยหน้าดู จึงจะเห็นชัดมีพัฒนาการทางร่างกายช้าไม่สัมพันธ์กับการมองเห็น เช่น เด็กอายุ 3-4 เดือน ควรจะมองหน้าและประสานสายตากับแม่ได้ สามารถแสดงกิริยายิ้ม โต้ตอบเมื่อมีอารมณ์พอใจ หากพบความผิดปกติเหล่านี้ต้องรีบพาไปพบจักษุแพทย์ทันทีเพื่อรักษาต่อไป” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
- 113 views