สปสช. ชวน อปท. ดูแล “เด็กสายตาผิดปกติ” จัดทำโครงการ กปท. พาเด็กตรวจคัดกรองสายตา พบจักษุแพทย์ วัดค่าสายตา ตัดแว่นตาและตรวจติดตาม ภายใต้สิทธิประโยชน์กองทุนบัตรทอง กลไกสำคัญร่วมขับเคลื่อนเพื่อพัฒนาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตเด็กไทย

นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ตามที่ สปสช.ได้จัดสิทธิประโยชน์บริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ ภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งในการดูแลเพื่อให้เด็กๆ กลุ่มเป้าหมายที่กระจายอยู่ทั่วประเทศประมาณ 7 แสนคน เข้าถึงบริการได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่เป็นกลไกสำคัญในพื้นที่ ในการร่วมนำพาเด็กนักเรียนที่ผ่านการคัดกรองสายตาจากคุณครูในโรงเรียนและสงสัยว่าจะมีสายตาผิดปกติ เข้ารับบริการตรวจคัดกรองที่หน่วยบริการ ทั้งที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หน่วยบริการปฐมภูมิ หรือโรงพยาบาลอำเภอ รวมทั้งการส่งต่อพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยยืนยัน วัดค่าสายตาและตัดแว่นตา ตลอดจนการตรวจติดตามหลังได้รับแว่นตา

 ทั้งนี้ ในส่วนค่าใช้จ่ายการเดินทางเพื่อพาเด็กๆ เข้ารับบริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกตินั้น อปท.ยังสามารถดำเนินการภายใต้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.) ได้ โดยจัดทำเป็นโครงการสุขภาพเพื่อสนับสนุนให้เด็กๆ เข้าถึงบริการแว่นตาเพื่อแก้ปัญหาภาวะสายตาผิดปกติได้ อาจเป็นการดำเนินการโครงการผ่านทางโรงเรียน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) รพ.สต. และหน่วยบริการในพื้นที่ได้ ที่ผ่านมามี อปท. หลายแห่งที่เห็นความสำคัญและได้เริ่มดำเนินการแล้ว     
 
 อย่างไรก็ตามนอกจากนี้ อปท.ยังสามารถสนับสนุนโดยใช้งบประมาณ อปท. เอง ซึ่งสามารถดำเนินการที่ครอบคลุมตั้งแต่ค่าการตรวจคัดกรองและค่าใช้จ่ายเดินทางเพื่อพาไปพบจักษุแพทย์ ยกเว้นค่าแว่นตาที่ให้หน่วยบริการเบิกจาก สปสช. ได้ และการจัดทำโครงการเชิงรุกเบ็ดเสร็จ ตั้งแต่การคัดกรองและจัดหาจักษุแพทย์ เข้าไปดำเนินการเชิงรุกในพื้นที่ พร้อมจัดหาแว่นตาจากร้านแว่นตาให้กับเด็กที่มีปัญหาสายตา

 นพ.อภิชาติ กล่าวต่อว่า สปสช.ให้สิทธิประโยชน์นี้กับเด็กไทยทุกคนที่มีภาวะสายตาผิดปกติโดยไม่จำกัดจำนวน เน้นการคัดกรองกลุ่มนักเรียนชั้น ป.1 ทุกคน ส่วนเด็กอนุบาล 1-3 และนักเรียนชั้น ป.2 - 6 หากครูสงสัยว่าเด็กมีปัญหาสายตาก็ให้รับการคัดกรองสายตาและรับบริการแว่นตาได้เช่นกัน แต่ทั้งนี้เด็กๆ จะเข้าถึงบริการตรวจสายตา ได้รับการดูแลจากจักษุแพทย์ และได้รับแว่นตาหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของ อปท. เป็นสำคัญด้วย ซึ่งมั่นใจว่า อปท. ทุกแห่งต่างมีนโยบายที่ให้ความสำคัญต่อการดูแลพัฒนาการและเพิ่มคุณภาพชีวิตของลูกหลานในพื้นที่แน่นอน

 “สายตาที่ผิดปกติจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาการของเด็กอย่างมาก โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในวัยเรียนจะเป็นอุปสรรคต่อการเรียนอย่างยิ่ง ส่งผลกระทบต่ออนาคตของเด็กๆ ได้ จำเป็นต้องได้รับการตรวจคัดกรองสายตาและได้รับแว่นตาเพื่อให้สามารถมองเห็นเช่นเดียวกับเด็กทั่วไป ซึ่ง สปสช.จัดเตรียมสิทธิประโยขน์นี้ไว้แล้ว แต่การขับเคลื่อนให้เกิดผลสำเร็จได้นั้น อปท. เป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญ เพื่อทำให้เด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติได้รับแว่นตา” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว