สปสช. ประชุม สปสช. 13 เขต ชี้แจงแนวทางขับเคลื่อน “สิทธิประโยชน์บริการการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ” ทั่วประเทศ ประสานหน่วยงานพื้นที่ ทั้งภาคการศึกษา ภาคประชาชน และท้องถิ่น เร่งคัดกรองค้นหาเด็กสายตามผิดปกติ รับบริการตรวจสายตาและรับแว่นตา ช่วยการมองเห็นเป็นปกติ ดูแลเด็กไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อพัฒนการในอนาคต

นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สปสช. ได้จัดการประชุมหารือแนวทางการขับเคลื่อนการบริหารจัดการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ ปีงบประมาณ 2565 ผ่านระบบ Zoom Meeting โดยมีผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน สปสช.เขตในงานที่เกี่ยวข้องกับการบริการแว่นตาเด็กกว่า 100 คนเข้าร่วมประชุม อาทิ งานส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค งานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติระดับท้องถิ่น (กองทุนตำบล) งานส่งเสริมการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม และประชาชน

นพ.จักรกริช กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้เพื่อชี้แจงผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน สปสช.เขต ในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับการบริการแว่นตาเด็ก ทำความเข้าใจกระบวนการดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็กไทยอายุ 3-13 ปี เน้นคัดกรองเด็กนักเรียนชั้น ป.1 ทุกคน และเด็กอนุบาล 1-นักเรียนชั้น ป.6 ที่คุณครูสงสัยว่าเด็กมีปัญหาสายตาผิดปกติ และนำเข้าสู่การตรวจยืนยันและได้รับแว่นตา โดยในสถานการณ์โควิด-19 ที่เด็กบางส่วนเรียนผ่านระบบออนไลน์ที่บ้าน ผู้ปกครองที่สงสัยว่าเด็กมีสายตาผิดปกติก็สามารถนำเด็กเข้ารับบริการตรวจสายตากับจักษุแพทย์ที่โรงพยาบาลได้เช่นกัน   
 
ทั้งนี้ การดำเนินงาน สปสช.ทั้ง 13 เขตจะมีหน้าที่ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อชี้แจงรายละเอียดในสิทธิประโยชน์ฯ และการเบิกจ่าย ทั้งในส่วนแผนพัฒนาระบบบริการ (service plan) ระดับเขต สาขาตา คณะกรรมการกำหนดแนวทางการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของหน่วยบริการสังกัด สป.สธ. ระดับเขต (5X5) หน่วยบริการในพื้นที่

เพื่อให้มีการจัดบริการคัดกรองและการแก้ไขปัญหาเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติในแต่ละจังหวัด อำเภอ ตำบล พร้อมประสานเขตพื้นที่การศึกษา ศึกษาธิการจังหวัด ร่วมสนับสนุนให้โรงเรียนในทุกสังกัด ดำเนินการตรวจคัดกรองภาวะสายตาผิดปกติในเด็กนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 1 หรือเด็กชั้นเรียนอื่นที่อาจมีภาวะสายตาผิดปกติ

การประสานและชี้แจง อปท. เพื่อร่วมสนับสนุนการส่งต่อเด็กนักเรียนที่มีภาวะสายตาผิดปกติเพื่อเดินทางไปรับการตรวจยืนยัน รับแว่นตา และตรวจติดตาม ตลอดจนประสานทำความเข้าใจกับเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อคัดกรองสายตาเด็กที่อยู่ภายใต้การดำเนินงานขององค์กรและเครือข่ายขององค์กรภาคประชาชน ให้เข้าถึงบริการ

นพ.จักรกริช กล่าวว่า การจัดบริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกตินี้ยังได้เปิดการทำงานของ สปสช.ร่วมกับหลายภาคส่วน ทั้งภาคการศึกษาและเครือข่ายต่างๆ โดยเฉพาะความร่วมมือกับ “กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)” ที่จะมีการลงนามความร่วมมือร่วมกันเพื่อช่วยเหลือเด็กที่ด้อยโอกาสและเชื่อมต่อไปยังผู้ปกครองให้เข้าถึงสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพิ่มขึ้น เช่น การติดตามเด็กด้อยโอกาสที่มีปัญหาสายตาที่อาจเชื่อมต่อถึงผู้สูงอายุที่บ้านที่มีปัญหาสุขภาพ และยังไม่ได้รับการดูแลภายใต้กองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (Long Term Care : LTC) เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นต้นแบบของรูปแบบการดำเนินการไปยังสิทธิประโยชน์บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคอื่นๆ ได้

“การขับเคลื่อนสิทธิประโยชน์แว่นตาสำหรับเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ ต้องเกิดจากความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ เพราะหากคุณครูไม่ร่วมดำเนินการ เด็กก็จะไม่ได้รับการคัดกรอง สายตาที่ไม่ปกติของเด็กก็จะไม่ได้รับการแก้ไข โรงพยาบาลที่มีจักษุแพทย์หากไม่ร่วมจัดหาร้านแว่นเพื่อส่งค่าสายตา ก็จะไม่สามารถประกอบแว่นตาให้เด็กได้ ซึ่งโรงพยาบาลจะเบิกจ่ายค่าแว่นตาผ่านระบบ e-claim ขณะที่ภาคประชาสังคมจะเป็นส่วนที่ช่วยค้นหาเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติที่อยู่ในเครือข่ายเข้ารับบริการ ทั้งหมดนี้จะเป็นปัจจัยทำให้การจัดบริการของ สปสช. เป็นไปตามเป้าหมายได้” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso