ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อธิบดีกรมควบคุมโรคเผยการติดเชื้อโควิดระยะนี้ มีความสัมพันธ์กับทั่วโลก เพราะทั่วโลกมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ปัจจัยหนึ่งคือ เชื้อมีการกลายพันธุ์ทำให้แพร่กระจายง่ายและเร็วขึ้น แต่ทางกลับกัน ความรุนแรงของเชื้อลดน้อยลง

เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2564 นพ.โอภาส การ์ยกวิงพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การติดเชื้อโควิด-19 ในระยะนี้มีความสัมพันธ์กับทั่วโลก เพราะทั่วโลกมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น ปัจจัยหนึ่งคือ เชื้อมีการกลายพันธุ์ทำให้แพร่กระจายง่ายและเร็วขึ้น แต่ทางกลับกัน ความรุนแรงของเชื้อลดน้อยลง แม้มีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้น เพราะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก แต่หากคิดสัดส่วนถือว่าความรุนแรงน้อยลง

“ ประเทศไทยก็เช่นกันพบหลายเหตุการณ์ ไม่ว่าจะเป็นตลาดกลางกุ้ง สมุทรสาคร บ่อนพนัน รวมถึงคนไปสถานบันเทิงที่อยู่ในพื้นที่แออัด ซึ่งระยะ 1 -2 เดือนนี้ก็อาจพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นได้ แต่หากเราร่วมแรงร่วมใจกันของพี่น้องประชาชนจะชะลอและลดการติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว ประกอบกับขณะนี้ทางท่านนายกรัฐมนตรี และท่านรองนายกฯ รัฐมนตรีว่าการ สธ.มีนโยบายให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งดำเนินการหาวัคซีน ที่ลงนามในสัญญาไปแล้ว และอื่นๆเพิ่มเติมมาฉีดให้พี่น้องประชาชน” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สำหรับกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ อันดับแรกต้องเฝ้าระวังใน รพ. เฝ้าระวังผู้ป่วยโรคปอดบวม ปอดอักเสบ ผู้ป่วยทางเดินหายใจ เพื่อตรวจจับสัญญาณให้เร็วที่สุด อันดับที่ 2 คือเฝ้าระวังในชุมชน แต่ละจังหวัดมีกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบางไม่เหมือนกัน อย่างแรงงานต่างด้าว เช่น ระนอง มีการสุ่มตรวจ 600 กว่าราย ไม่พบการติดเชื้อในแรงงานต่างด้าว เช่นเดียวกับสงขลา เป็นต้น