สธ.ร่วมภาคีเครือข่ายรณรงค์ปีใหม่ปลอดโรคปลอดภัย ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ พร้อมเพิ่มค่าตอบแทนบุคลากรอยู่เวร ขณะที่เครื่องเป่าแอลกอฮอล์ต้องไม่เสี่ยงโควิด มอบพื้นที่ตั้งศูนย์เฝ้าระวังฯ ขณะที่สสส. ย้ำ “ดื่มไม่ขับ” ลดอุบัติเหตุ-ลดเสี่ยงโควิด-19
เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าว คาถาปีใหม่ ปลอดโรคปลอดภัย “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” ว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 ที่ใกล้มาถึงนี้ ยังอยู่ในภาวะของการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยประชาชนที่จะเดินทางกลับบ้านหรือเดินทางท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย ได้อยู่กับครอบครัวอย่างอบอุ่นและมีความสุข โดยเฉพาะเรื่องอุบัติเหตุจะพบมากขึ้นจากช่วงปกติ ข้อมูลช่วงเทศกาลปีใหม่ย้อนหลัง 5 ปี พบผู้เสียชีวิต 2,526 คน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการดื่มแล้วขับ ซึ่งข้อมูลปี 2562-2563 กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการตรวจแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุ พบว่า ผู้ขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกฎหมายกำหนด คือ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ถึง 54.66% ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์สูงถึง 39.53%
“ปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายรณรงค์ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” ให้ประชาชนร่วมรับผิดชอบ ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ อย่างเด็ดขาด เพื่อความปลอดภัยของตนเองและเพื่อนร่วมทาง และยังร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ตรวจแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุทุกราย ห้ามการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี กรณีตรวจพบจะให้มีการสืบกลับไปยังร้านค้าที่ฝ่าฝืน และจะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ เตรียมแนวทางให้ อสม.คัดกรองสังเกตอาการคนเมาที่ด่านชุมชนและคัดกรองป้องกันโรคโควิด 19 ด้วย เพื่อช่วยสกัดกั้นคนเมาไม่ให้ออกไปสู่ท้องถนน สำหรับความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้ให้โรงพยาบาลทุกแห่งเตรียมความพร้อม ศูนย์รับแจ้งเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉิน 1669 ทั่วประเทศ ชุดปฏิบัติการทั่วประเทศ ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ เอกชน และโรงพยาบาลต่างๆ พร้อมให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง” นายสาธิต กล่าว
ด้าน นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (Emergency Operation Center : EOC) ที่ส่วนกลางและระดับจังหวัด เป็นศูนย์ประสานและสนับสนุนการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ได้เตรียมชุดปฏิบัติการฉุกเฉินทุกระดับแล้ว 8,255 หน่วย รถปฏิบัติการฉุกเฉิน 20,338 คัน และผู้ปฏิบัติการฉุกเฉินรวม 164,795 คน เพิ่มบุคลากรมากขึ้นจากเดิม 120-130 เปอร์เซ็นต์ เตรียมพร้อมห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู และระบบส่งต่อ จัดหน่วยกู้ชีพระดับพื้นฐาน และหน่วยปฏิบัติการระดับสูง ประจำบนเส้นทางถนนสายหลักที่มีจุดตรวจ/จุดบริการอยู่ห่างกันมาก กรณีบาดเจ็บ/เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถรับบริการที่โรงพยาบาลใกล้ที่สุด โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมงแรก ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) ซึ่งบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขได้อุทิศตน ทุ่มเท เสียสละ และเต็มใจทำงานโดยไม่มีวันหยุด จึงขอให้ประชาชนช่วยกันลดอุบัติเหตุ ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ ทั้งนี้ ในช่วง 7 วันเทศกาลปีใหม่ปีที่ผ่านมา มีผู้บาดเจ็บเข้าโรงพยาบาล 29,545 ราย เฉลี่ยวันละ 4,220 ราย สูงกว่าช่วงปกติ
“สำหรับบุคลากรสาธารณสุขที่มาช่วยสแตนบายทำงานในช่วงปีใหม่นี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีนโยบายเพิ่มค่าตอบแทนเท่าหนึ่งไปยังพื้นที่ทุกแห่ง โดยขอฝากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในแต่ละจังหวัดดำเนินการตามนโยบายนี้ด้วย รวมไปถึงหากต้องตรวจวัดแอลกอฮอล์ด้วยเลือด ก็ให้ดำเนินการ หรือการต้องใช้เครื่องตรวจแอลกอฮอล์ก็ต้องมีความชำนาญ โดยการเป่าแอลกอฮอล์ต้องไม่แถมโควิด ขณะที่พวกตีกันในโรงพยาบาลขอย้ำว่า ติดคุกทุกราย ต้องดำเนินการเอาผิดอย่างเด็ดขาด” นพ.ยงยศ กล่าว
นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ
ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. และภาคีเครือข่าย ทำงานเชิงรุกและรณรงค์ต่อเนื่องทั้งปี การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดเชื้อต่างๆ รวมทั้งโควิด-19 เพราะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคติดเชื้อในปอดถึง 2.9 เท่า หากมีคนดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับรถออกสู่ถนน ยิ่งเป็นอันตรายต่อผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆ ในช่วงเทศกาล สสส. จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายวางมาตรการเข้มข้นยิ่งขึ้นเพื่อลดความสูญเสียทั้งจาก “ดื่มแล้วขับ” และ “ขับรถเร็ว” ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุทางถนนที่สอดคล้องกับสถิติผู้เสียชีวิตในช่วง 7 วันอันตรายปีใหม่ 2563 ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุขับรถเร็ว ร้อยละ 42.8 และดื่มแล้วขับ ร้อยละ 23.8 และยังพบว่าในจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนนี้ ร้อยละ 34 มาจากงานเลี้ยงสังสรรค์
“โดยปีนี้ สสส. มุ่งสื่อสารภายใต้แคมเปญ ‘ลดเร็ว ลดเสี่ยง’ ย้ำถึงการขับรถที่ความเร็ว 80 กม./ชม. เท่ากับการตกตึก 8 ชั้น โดยเฉพาะผู้ใช้รถจักรยานยนต์หากใช้ความเร็วที่สูงขึ้น มีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง ร้อยละ 42 และถ้าสูงกว่า 100 กม./ชม. โอกาสเสียชีวิต ร้อยละ 80 พร้อมกันนี้ยังรณรงค์ ‘กลับบ้านปลอดภัย’ ผลิตสปอตเรื่อง “กล้อง CCTV” มุ่งกระตุ้นเตือนให้ผู้ขับขี่ตระหนักว่า ทุกคนสามารถลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุได้ เพียงปฏิบัติตามกฎจราจร...ลดเร็ว ลดเสี่ยง...ดื่มไม่ขับ โดยมียอดผู้รับชมในสื่อออนไลน์ของ สสส. แล้วกว่า 6.8 ล้านครั้ง” ผู้จัดการ สสส.กล่าว
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์
- 50 views